Category Archives: science

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอย่าง, เข้าใจการทำงานของภาพยนตร์บนกระดาษ

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Liking bias, Endowment effect, และ Coincidence ครับ

Liking bias คือเรามักจะตัดสินใจตามคนที่เราชอบ เช่นถ้าเราชอบเซลส์แมนมาขายของเราก็จะซื้อของจากเขาง่ายขึ้น หรือในทางกลับกันถ้าเราไม่ชอบใครเราก็มักคิดว่าข้อเสนอต่างๆของเขาไม่น่าสนใจ เราควรระวังเวลาตัดสินข้อมูลต่างๆว่าจริงไม่จริง มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ ควรทำหรือไม่ควรทำ โดยอย่ามองว่าใครเป็นคนเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้เราครับ หรือถ้าเราจะไปโน้มน้าวให้ใครทำอะไรเราควรทำตัวให้เป็นที่รักที่ชอบครับ

Endowment effect คือเรามักจะยึดติดหรือให้ราคาของที่เราเป็นเจ้าของมากกว่าความเป็นจริง เราควรระวังว่าเรามีความยึดติดอย่างนี้และพยายามตัดสินใจให้มีเหตุผลเมื่อต้องซื้อขายแลกเปลี่ยน

Coincidence คือเรามักจะไม่เข้าใจความน่าจะเป็นที่เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้น ทำให้เราคิดว่าบางเหตุการณ์มีความศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นปาฏิหารย์ ยกตัวอย่างเช่นเราอาจพบคนถูกเลขท้ายสองตัวถึง 5 ครั้งในปีเดียว เราก็อาจคิดว่าคนนั้นเขามีวิธีเลือกเลขท้ายสองตัวให้มีโอกาสถูกมากกว่าชาวบ้านทั่วไปมาก (เช่นทำนายฝัน ดูทะเบียนรถคนดัง วันเดือนปีเกิดคนดัง ฯลฯ) แต่ถ้ามีคนหนึ่งล้านคนซื้อฉลากกินแบ่งหนึ่งใบทุกงวดเป็นเวลาหนึ่งปี เราสามารถคาดหมายได้ว่าจะมีคนประมาณ 5 คนที่ถูกเลขท้ายสองตัวถึง 5 ครั้งในปีนั้น (คำนวณด้วย Poisson probability distribution) ถ้าเด็กๆมีโอกาสควรอ่านหนังสือ The Improbability Principle: Why Coincidences, Miracles, and Rare Events Happen Every Day โดย David J. Hand ดูนะครับ

จากนั้นเด็กๆก็เล่นภาพเคลื่อนไหวบนกระดาษโดยเอาแผ่นใสพลาสติกที่มีลายดำพาดเหมือนทางม้าลายลากไปบนแผ่นกระดาษที่พิมพ์ลวดลายไว้ ทำให้ดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวครับ:

ผมให้เด็กๆเล่น สังเกต และทดลองเพื่อให้อธิบายว่ามันทำงานอย่างไร เด็กๆก็อธิบายได้ครับ หลักการก็คือใช้แถบดำบนแผ่นใสบังภาพที่เราไม่ต้องการเห็น ให้เห็นเฉพาะภาพที่มองผ่านแถบใสบนแผ่นใสได้ ถ้าเอาภาพหลายๆอันมาแล้วซอยเป็นคอลัมน์เล็กๆแล้วเลือกคอลัมน์ที่เหมาะสมจากภาพแต่ละอันมาเรียงกันเวลาเอาแผ่นดำทาบลงไปเราก็จะเห็นทีละภาพเท่านั้น เมื่อเลื่อนแผ่นใสเราก็จะเห็นทีละภาพติดต่อกันด้วยความเร็ว แล้วสมองเราก็จะเชื่อมโยงภาพทั้งหมดให้เป็นการเคลื่อนไหว

ผมเอาแบบสำหรับพิมพ์บนกระดาษและบนแผ่นใสมาจากวิดีโอนี้ครับ โดยคุณ brusspup:

มีวิธีทำด้วยโปรแกรมวาดภาพแบบนี้ครับ:

https://www.youtube.com/watch?v=uuLSaUMdKr0

วิทย์ม.ต้น: สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แกล้งขโมย, Cognitive Biases สามอย่าง, เล่น StrandBeest, ม้วนกระดาษ A4 รับน้ำหนัก 50 กิโลกรัม

วันนี้เด็กๆประถมต้นได้ดูคลิปสิ่งประดิษฐ์สุดยอดไว้แกล้งขโมยครับ ในอเมริกาเวลามีพัสดุมาส่งที่บ้าน ถ้าไม่มีคนอยู่บ้าน พัสดุมักจะถูกวางไว้หน้าบ้าน ทำให้หายบ่อยๆ คุณ Mark Rober เลยประดิษฐ์กล่องวัสดุปลอมๆที่ข้างในติดกล้องไว้ถ่ายวิดีโอขโมย มี GPS รู้ว่าอยู่ที่ไหน มีจานหมุนปล่อยผง glitter (กากเพชร) ให้เลอะเทอะ และปล่อยกลิ่นตดทุก 30 วินาทีให้ขโมยเอากล่องไปทิ้งก่อนแกะดูครับ:

จากนั้นเราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Chauffeur Knowledge, Illusion of Control, และ Incentive Super-Response Tendency ครับ

Chauffeur knowledge คือระวังความรู้แบบจำๆมาแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่ได้มีความเข้าใจลึกซื้งจริงจังถึงเหตุผลต่างๆ ระวัง “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่พูดคล่องแคล่วแต่ไม่เชี่ยวชาญจริงๆ  ระวังคนที่เรียกตัวเองว่า “ด็อกเตอร์”, “อาจารย์”, “ซินแส”, “โค้ช” ฯลฯ ครับเพราะมักจะมีพวกที่มีความรู้แบบ chauffeur knowledge เยอะ ระวังตัวเราเองว่าเรารู้เรื่องอะไรดีแค่ไหน เรื่องไหนเราไม่รู้

Illusion of control คือการที่เราคิดว่าเราสามารถบังคับเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวได้มากกว่าที่เราทำได้จริงๆ ดังเช่นนิทานที่ไก่เข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ขึ้นเพราะมันขันครับ เราควรจะรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้แล้วโฟกัสความสามารถของเราทำสิ่งเหล่านั้นให้ชีวิตดีขี้น ไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ครับ สำหรับเด็กๆก็ควรฝึกวิชา ฝึกคิด ฝึกทำเยอะๆให้ตัวเองมีฝีมือครับ

Incentive super-response tendency คือต้องระวังการตั้งแรงจูงใจให้ดี คนมักจะทำเพื่อแรงจูงใจหรือมาตรวัดต่างๆแล้วบางทีลืมถึงเหตุผลที่มีระบบสร้างแรงจูงใจหรือมาตรวัดแบบนั้นๆตั้งแต่ต้น เช่นระบบการศึกษาไทยอยากให้มีคุณภาพเลยสร้างวิธีวัดวิธีสอบต่างๆจนนักเรียนไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรที่สำคัญครับ หรือการจ้างงานเป็นชั่วโมงทำให้งานยืดเยื้อไม่ยอมเสร็จ

จากนั้นเด็กๆก็ได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์/งานศิลปะโดยคุณ Theo Jansen ที่เรียกว่า Strandbeest  (เป็นภาษา Dutch แปลว่า Beach Animal ในภาษาอังกฤษ )

มีของเล่นเป็นชุด kit ที่เราเอามาต่อเล่นเองได้ดังในคลิปนี้ครับ:

วันนี้เด็กๆเลยสังเกตการทำงานและเล่นของเล่น Strandbeest ครับ:

จากนั้นเด็กๆลองทดลองม้วนกระดาษ A4 ให้เป็นทรงกระบอกแล้วรับน้ำหนักกันครับ วิธีทำเป็นประมาณนี้:

เด็กๆผลัดกันเอาหนังสือมาวางทับท่อกระดาษ ดูว่ารับน้ำหนักได้แค่ไหนครับ อันแรกใช้ท่อกระดาษ 4 อัน รับน้ำหนักได้ประมาณ 11 กิโลกรัมก่อนที่จะล้ม:

เด็กๆช่วยกันทำท่อ 21 อัน แล้วลองรับน้ำหนักดูครับ:

Cognitive Biases สามอย่าง, ต่อแม่แรงด้วยหลอดฉีดยา

วันนี้เด็กๆมัธยมต้นพวกคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Story Bias, Hindsight Bias, และ Overconfidence Effect ครับ

Story bias หรือ narrative bias คือการที่คนเราชอบทำความเข้าใจสิ่งต่างๆโดยการผูกให้เป็นเรื่องราว เราพยายามหาความหมายและเหตุผลในส่ิงต่างๆที่เกิดขึ้นแม้ว่าในบางครั้งสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่มีความสัมพันธ์อย่างที่เราคิด  ข้อเสียที่เกิดชึ้นได้ก็คือเราคิดว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆเพราะเรื่องที่เราแต่งเพื่ออธิบายฟังดูดีสำหรับเราแม้ว่าความเข้าใจของเราจะห่างกับความเป็นจริงก็ตาม

Hindsight bias คือการที่เราสามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วอย่างมั่นใจ สามารถเห็นสาเหตุและผลลัพธ์ต่างๆได้ ตัวอย่างก็เช่นนักวิเคราะห์หุ้นบอกว่าหุ้นตัวนี้ขึ้นเพราะสาเหตุนี้ หุ้นตัวนี้ตกเพราะสาเหตุนี้หลังจากหุ้นขึ้นหรือตกไปแล้ว หรือหมอดู หรือนักประวัติศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ หรือใครก็ตามสามารถอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านไปแล้วได้เป็นฉากๆอย่างมั่นใจ แต่จะไม่สามารถทำนายอนาคตอะไรได้ถูกต้องนักครับ

คลิปนี้เป็นตัวอย่าง  story bias และ hindsight bias ที่เข้าใจง่ายครับ:

Overconfidence bias คือการที่เราคิดว่าเราเก่งกว่าความสามารถจริงๆของเรา คือตอนเรารู้เรื่องอะไรบางอย่างนิดหน่อยเราจะรู้สึกว่าเราเข้าใจมันแล้ว และจะมั่นใจในตัวเองเกินเหตุ ดังนั้นเวลาเราเห็นใครมั่นใจมากๆในเรื่องอะไรเราควรตรวจสอบเขาสักหน่อยว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องนั้นจริงๆหรือเปล่า

ภาพจาก http://agilecoffee.com/toolkit/dunning-kruger/
Bertrand Russell เป็นนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วครับ ภาพเอามาจาก http://i.imgur.com/kWKBQxV.jpg

แนะนำให้ลองอ่านสองโพสท์นี้ครับ: The Science of “โง่เเต่อวดฉลาด”: The Dunning-Kruger Effect และ คุณสมบัติของคนโง่ที่อวดฉลาด: The Dunning-Kruger effect revisited

หลังจากนั้นเด็กๆหัดทำแม่แรงไฮดรอลิกด้วยเข็มฉีดยาและใช้มันขยับโต๊ะกันครับ:

แรงที่หลอดจะแปรผันตรงกับพื้นที่หน้าตัดของหลอด ทำให้เรากดหลอดเล็กด้วยแรงน้อยๆแล้วหลอดใหญ่จะยกของหนักได้ครับ ความสัมพันธ์เป็นแบบนี้:

เวลาเหลือเราเลยเอากระสุนโฟมของปืน Nerf มายิงจากหลอดฉีดยาใหญ่ๆ (50 cc) เล่นกันครับ: