Category Archives: science

An Interesting Page About Fibonacci Numbers And Nature

Fibonacci numbers are 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55, … where the next number is the sum of the previous two numbers (2 = 1+1, 3= 2+1, 5 = 2+3, etc.)

We found Fibonacci numbers in many things in nature (due to growth and efficient packing of parts.) This is a page that lists many interesting things about the numbers and activities that adults and kids can do for fun.

แผนที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

วันนี้ผมเห็นแผนที่อันนี้ครับ จุดสีดำๆคือศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีข้อมูลของแผ่นดินไหวกว่า 350,000 อัน (ดูรูปใหญ่ที่ลิงค์นี้ครับ):

เราอยู่บนเปลือกแผ่นหินที่ลอยอยู่บนชั้นหินเหลวในโลก เวลาเปลือกแต่ละชิ้นชนกันก็จะเกิดภูเขา หรือหุบเหวใต้ทะเล เปลือกโลกเคลื่อนที่ช้ามาก (เร็วประมาณความเร็วเล็บยาว ถึงผมยาว) ดังนั้นการชนกันจะใช้เวลานานมากๆเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตคน เวลาเปลือกชนกันแล้วมีการขยับก็จะเกิดแผ่นดินไหว
ดูญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อิินโดสิครับ โดนทั้งประเทศ ประเทศไทยหลบไปได้หวุดหวิด แนวภูเขาสูงๆเช่นหิมาลัยก็อยู่ในแนวที่เปลือกโลกชนกันครับ

หนังสือแนะนำสองเล่มครับ

ปลายเดือนจะมีงานหนังสือลดราคาอีกแล้ว ผมเลยขอโอกาสแนะนำหนังสือน่าอ่านสองเล่มนะครับ

เล่มแรกคือ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” โดยคุณ วินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือที่ทุกคนควรได้อ่านก่อนต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ต่างๆในโรงเรียน เพราะหนังสือจะเป็นไกด์ว่านักวิทยาศาสตร์สนใจธรรมชาติไปทำบ้าอะไร (คนทั่วไปมักเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์คือคนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับสูตรต่างๆ และศึกษาเรื่องลึกซึ้งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือไม่ก็สร้างของมาขายเพื่อหาเงิน แต่จริงๆแล้วนักวิทยาศาสตร์มักจะเป็นพวกนักชอบสำรวจและผจญภัยต่างหาก เพียงแต่เป็นการสำรวจและผจญภัยในเรื่อง ideas คือการสำรวจและผจญภัยจะเกิดในสมอง ด้วยการสังเกตและเดาว่าธรรมชาติทำงานอย่างไร และหาทางตรวจสอบด้วยการทดลองและการสังเกต ว่าเดาถูกหรือเปล่า เวลาเจออะไรแปลกๆแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ทำงานอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จะมีความสุขมาก)
จากคำแนะนำที่เว็บของหนังสือครับ:
เดาไม่ออกใช่ไหมว่านี่เป็นหนังสืออะไร เรื่องนี้มีองค์ประกอบของคน ปลา ลิง มนุษย์ต่างดาว มนุษย์ล่องหน ไอน์สไตน์ พีระมิด หมอดู ฮวงจุ้ย นอสตราดามุส แอตแลนติส สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ผี บุพเพสันนิวาส หลุมดำ การเดินทางไปดาวดวงอื่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนสนามฟุตบอล

ยิ่งงงกว่าเดิม? เฉลย! หนังสือเล่มนี้เป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญา อภิปรัชญา ศาสนา จักรวาลวิทยา ฯลฯ โดยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และหลัก กาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้นานมาแล้ว



คนเราเกิดมาทำไม? มนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิดจริงไหม? พรหมลิขิตกำหนดชีวิตเราจริงหรือ? ไสยศาสตร์ ฮวงจุ้ย หมอดู ฯลฯ เชื่อถือได้แค่ไหน? ผีมีจริงไหม? สวรรค์นรกอยู่ที่ใด? คนเราไม่มีศาสนาได้หรือเปล่า? บุพเพสันนิวาสมีจริงหรือ? คำตอบอยู่ในสนามฟุตบอลแห่งนี้ …

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ไม่ต่ำกว่า 20 เล่มแจกคนรอบข้างในหลายปีที่ผ่านมา จนผมจำไม่ได้ว่าให้ใครไปบ้าง เอาเป็นว่าถ้าผมยังไม่เคยให้ท่าน ท่านไปหาซื้ออ่านดูเองนะครับ 😀
อีกเล่มคือ “ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง” ที่แปลมาจาก “A Short History of Nearly Everything” โดย Bill Bryson เป็นหนังสือที่เล่าว่าเรารู้อะไรบ้าง รู้ได้อย่างไร แต่ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์สนุกๆของการค้นพบต่างๆ อ่านแล้วจะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มีเรื่องเกี่ยวกับความโชคดี ความโชคร้าย นิสัยดี นิสัยเสียของเหล่านักวิทยาศาสตร์หลายๆคน ผมซื้อฉบับภาษาอังกฤษแจกไป 3 เล่ม และฟัง Audio Book จบไปสองรอบแล้ว ยังสนุกเหมือนเดิม ผมไม่เคยอ่านเล่มภาษาไทยจนจบ แต่เท่าที่ลองอ่านบางส่วนดู คิดว่าน่าจะแปลใช้ได้ครับ ที่สำคัญเป็นหนังสือที่คนเขียนมีอารมณ์ขัน และผมมักจะหัวเราะทุกๆหน้าสองหน้า เป็นยาคลายเครียดอันวิเศษครับ
ผมแนะนำหนังสือสองเล่มนี้ เพราะผมเป็นห่วงว่าเด็กไทยเรียนหนังสือไปแล้วดูเหมือนจะเสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะไปเข้าใจว่าคณิต/ฟิสิกส์/เคมี/ชีวะคือสูตรและข้อมูลท่องจำต่างๆที่ต้องเรียนเพื่อสอบ และเมื่อสอบเสร็จก็จำไม่ได้เลยว่าได้ศึกษาอะไรไป แทนที่จะได้เรียนรู้ธรรมชาติแบบสุนทรีย์ และคิดทำอะไรต่อยอดขึ้นไปอีก ถ้ามีคนอ่านหนังสือสองเล่มนี้อย่างกว้างขวางอาจจะเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเรียนรู้ หรือชะตากรรมของเด็กๆในอนาคตได้บ้าง
เวลาผมสอนอะไรเกี่ยวกับวิทย์และคณิตผมจะพยายามแทรกเรื่องประวัติศาสตร์ของเรื่องที่เรียนเข้าไปด้วย จะได้มีบริบทว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจอย่างไร ถึงมีคนมาค้นคว้าจนเป็นเรื่องราวให้เราได้เรียนกัน รางวัลสูงสุดของผมคือเมื่อเด็กอนุบาลสามบอกผมว่า “พ่อโก้ครับ สุดยอดเลยครับ!” เมื่อผมเอาแม่เหล็กไปทำการทดลองต่างๆกับเด็กๆ และเด็กป.1 ถามผมว่า “พ่อกาลิเลโอ ชื่ออะไรคะ” เมื่อเราทำการทดลองเรื่องลูกตุ้มนาฬิกา และเมื่อผมตอบว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันแต่เราน่าจะหาได้ ผู้ถาม (เด็กป. 1!!!) ก็ไปค้นหาแล้วมาบอกผมสัปดาห์ต่อไป (ชื่อ Vincenzo ครับ)
ปล. ผมชอบวิทยาศาสตร์เพราะผมเป็นคนชอบเรื่องเล่าต่างๆ (นิทาน นิยาย ข่าวซุบซิบ) และเรื่องการทำงานของธรรมชาติเป็นเรื่องราวที่วิเศษมาก มีความจริงที่ตรวจสอบได้ มีความสวยงาม ผูกกันเป็นเรื่องราวอย่างแยบยล มีหักมุมและ punch line เจ๋งๆเสมอๆ