Category Archives: ภาษาไทย

วิทย์ประถม: เป่าลมให้ได้ลมเยอะ, ความเร็วลม vs. ความดันอากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลลูกบอลลอย เด็กๆได้เปรียบเทียบการเป่าลมเข้าถุงแบบติดกับปากถุงและการเป่าลมห่างจากปากถุง ได้สังเกตว่าสายลมเร็วๆจะพาให้ลมรอบๆไหลตามไปด้วย ได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์จากหลักการนี้

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเสกลูกบอลให้ลอยไปลอยมาครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมแจกถุงพลาสติกให้เด็กๆคนละถุง และให้เด็กๆเป่าลมใส่ถุง โดยให้ปากติดกับถุง ให้นับว่าต้องหายใจเข้าแล้วเป่ากี่ครั้งถุงจึงจะโป่งเต็มที่

จากนั้นผมถามเด็กๆว่าเราสามารถเป่าครั้งเดียวให้เต็มถุงเลยได้ไหม เด็กๆพยายามแต่ปอดของพวกเขาเล็กเกินไป ต้องเป่าหลายครั้ง

ผมเฉลยวิธีโดยการเป่าห่างจากปากถุงประมาณ 10-30 เซ็นติเมตร จะพบว่าเต็มถุงโดยเป่าครั้งเดียวดังในคลิปข้างล่าง เด็กๆก็ทดลองทำกันก็ได้ผล:

การทดลองของเราอาศัยหลักการของเบอร์นูลลีกันครับ หลักการคือที่ใดที่อากาศไหลเร็ว ความดันอากาศแถวนั้นจะน้อย ดังนั้นถ้าบริเวณอื่นที่อยู่รอบๆมีความดันอากาศมากกว่า ก็จะมีลมวิ่งจากที่ความดันมากเข้าหาที่ความดันน้อยกว่า หลักการนี้ใช้ได้กับของที่ไหลได้และมีความหนืดน้อยๆเช่นอากาศและน้ำ

เมื่อเราเป่าลมห่างจากปากถุง ลมจากปากเราจะวิ่งเข้าปากถุง สายลมนี้วิ่งเร็วกว่าอากาศรอบๆสายลม ความดันมันจึงต่ำกว่า อากาศรอบๆที่มีความดันสูงกว่าจึงวิ่งเข้าหาความดันต่ำแล้วผสมโรงวิ่งเข้าไปในถุงด้วย ถุงจึงโป่งเร็วกว่าการที่เราเอาปากไปเป่าเข้าถุงตรงๆ

หลักการนี้ใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์ที่เราต้องการเป่าลมเข้าไปในห้องเยอะๆ (เช่นเวลาไล่ควัน หรือกลิ่นเหม็นๆ) แทนที่เราจะเอาพัดลมไปจ่อติดกับประตูหรือหน้าต่างเลย เราควรเว้นระยะสักหน่อย (เช่นสักหนึ่งฟุตถึงไม่กี่เมตร) เพื่อให้กระแสลมจากพัดลมดึงเอาอากาศรอบๆให้วิ่งเข้ามาร่วมวงด้วย

มีนักประดิษฐ์ที่ชื่อ Sir James Dyson (ผู้คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นแบบลมหมุนโดยไม่ต้องใช้ถุงเก็บฝุ่นและผู้ผลิดเครื่องเป่ามือให้แห้งอย่างรวดเร็วด้วยกระแสลม) ได้ประดิษฐ์พัดลมที่ใช้หลักการนี้ คือให้ลมความเร็วสูง(ซึ่งมีความดันต่ำ)มาชักชวนให้อากาศรอบๆที่ความดันสูงกว่าวิ่งเข้ามาร่วมวง ทำให้มีกระแสลมปริมาณเยอะขึ้น:

เราใช้หลักการเดียวกันนี้พ่นละอองน้ำได้ เพราะเมื่อเราเป่าลมจากหลอดออกมาเป็นสายลมเร็วๆ ความดันอากาศแถวนั้นก็จะลดลง สามารถดึงน้ำจากด้านล่างขึ้นมาได้:

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ เราสามารถเล่นให้ตื่นเต้นมากขึ้นอีก สามารถใช้เครื่องเป่าใบไม้ที่พ่นลมได้เร็วและแรง มาเป่าเหนือท่อพลาสติกใส ความเร็วของลมจากเครื่องเป่าใบไม้ทำให้ความดันอากาศด้านบนของท่อพลาสติกต่ำกว่าอากาศด้านล่างของท่อ อากาศจึงไหลจากที่ความดันสูงไปความดันต่ำ ถ้ามีอะไรเบาๆเช่นลูกบอลไหมพรม มันก็จะลอยตามลมไปด้วย:

วิทย์ประถม: ของเล่นกระดาษเดินได้ (แรงเสียดทาน+เสียสมดุลย์)

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลตัดเชือกไม่ขาด แล้วเราเล่นของเล่นที่อาศัยแรงโน้มถ่วง แรงเสียดทาน และการเสียการทรงตัวทำให้ของเล่นเดินไปตามพื้นเอียง เด็กๆเรียกว่าหมาด๊อกแด๊ก

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลตัดเชือกไม่ขาดครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

จากนั้นผมก็สอนเด็กๆทำของเล่นเดินได้จากกระดาษแข็ง เริ่มโดยใช้กระดาษแข็งสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 4.5 เซ็นติเมตร x 15 เซ็นติเมตร โดยตัดลบเหลี่ยมมุมทั้งสี่แบบนี้:

ขนาดกระดาษไม่จำเป็นต้องเท่ากับขนาดนี้เป๊ะๆ สามารถเปลี่ยนแปลงขนาดได้ ขนาดที่เปลี่ยนไปจะทำให้เดินช้าเดินเร็วต่างกัน หรือล้มง่ายล้มยากกว่ากันได้ อยากให้เด็กๆทดลองทำแล้วเปรียบเทียบดูได้

วิธีทำเป็นดังในคลิปนี้ครับ:

หลังจากทำเสร็จเราก็หาพื้นเอียงให้มันเดิน พื้นควรจะมีความฝืดบ้าง ถ้าผิวลื่นเกินไปมันจะไม่เดินแต่จะลื่นลงมาตรงๆ

ของเล่นนี้ดูเหมือนเดินได้เพราะแรงโน้มถ่วงดึงมันลงสู่ที่ต่ำ แรงเสียดทานทำให้ขามันติดกับพื้น การเสียสมดุลย์ทำให้มันเอียงตัวไปมา ทำให้ขาหลุดจากพื้นแล้วขยับไปตำแหน่งใหม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ซ้ำๆกันจึงทำให้ดูเหมือนว่ามันเดินได้ครับ

บรรยากาศกิจกรรมเป็นประมาณนี้ครับ ดูอัลบั้มเต็มได้ที่นี่ 

วิทย์ประถม: ขาโต๊ะต้องมีกี่อัน ขาโต๊ะจากกระดาษ A4

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลเสกกระป๋องบุบให้พอง แล้วเราคุยกันว่าทำไมโต๊ะที่มีสามขาจึงล้มยากกว่าหนึ่งและสองขามาก ทดลองกันว่ากระดาษ A4 ที่ม้วนเป็นทรงกระบอกสามารถรับน้ำหนักได้มากมหาศาลเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวมัน แล้วใช้ม้วนกระดาษรับน้ำหนักโต๊ะจริงๆกันหลายตัว

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเสกกระป๋องบุบให้พองครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมเริ่มโดยถามเด็กๆว่าโต๊ะและเก้าอี้ในห้องเรียนแต่ละตัวมีกี่ขา พบว่ามีสี่ขา แล้วถามต่อว่าจำนวนขาจะน้อยกว่านี้ได้ไหม

มีข้อเสนอว่าสองขาก็น่าจะได้ เด็กๆจึงทดลองกันโดยใช้โต๊ะที่พับขาได้ เลือกใช้สองขา:

โต๊ะสองขา
วางของบนโต๊ะสองขา

เด็กๆพบว่าสองขาก็วางของได้ แต่ต้องระวังไม่ให้เอียง เพราะถ้าเริ่มเอียงนิดเดียว โต๊ะก็จะล้ม

ผมถามว่าใช้ขาเดียวได้ไหม เด็กๆให้ทดลองทำดู ผมทำโดยเอาท่อกระดาษแข็ง (ท่อเก็บลูกแบดมินตัน) มาเป็นขาโต๊ะแล้วให้เด็กๆเอาของวางข้างบน:

โต๊ะหนึ่งขา
วางของบนโต๊ะหนึ่งขา
วางของบนโต๊ะหนึ่งขา

เด็กๆพบว่าขาเดียวล้มง่ายกว่าสองขาอีก ของที่วางต้องให้ทิ้งน้ำหนักไปบนขาอันเดียวนั้น ไม่อย่างนั้นก็จะล้มทันที

สำหรับเด็กที่โตหน่อยจะจำได้ว่าเราเคยคุยกันเรื่องจุดศูนย์ถ่วงไปแล้วในอดีต (https://witpoko.com/?p=8897, https://witpoko.com/?p=8908, https://witpoko.com/?p=8923) คือสิ่งต่างๆจะทรงตัวอยู่ได้เมื่อจุดศูนย์ถ่วงของมันไม่อยู่นอกฐานที่รับน้ำหนัก โต๊ะที่มีหนึ่งหรือสองขาจะมีบริเวณฐานรับน้ำหนักแคบๆ จึงล้มง่ายๆ

แต่เมื่อโต๊ะมีขาสามขาขึ้นไป บริเวณฐานรับนำ้หนักสามารถที่จะกว้างขึ้นกว่าแบบหนึ่งหรือสองขามาก ทำให้โต๊ะทรงตัวอยู่ได้ดี

เมื่อเอาท่อกระดาษแข็งสามท่อมาทำเป็นขาโต๊ะ เด็กๆสามารถวางของบนโต๊ะได้ง่ายๆ โต๊ะไม่ล้ม:

วางของบนโต๊ะสามขา
วางของบนโต๊ะสามขา

ผมให้เด็กๆสังเกตว่าท่อกระดาษแข็งมีความแข็งแรงมาก รับน้ำหนักได้เยอะ แต่สิ่งที่เด็กๆอาจจะไม่รู้ก็คือกระดาษ A4 บางๆเมื่อมาม้วนเป็นทรงกระบอก ก็สามารถรับน้ำหนักกดทับได้มากอย่างน่าตกใจ

กระดาษ A4 ทั้งหลายทำโดยเอาต้นไม้ไปย่อยเป็นชิ้นเล็กๆผสมน้ำและสารเคมีกัดสีให้ขาว แล้วเอาลูกกลิ้งมารีดเอาน้ำออก แล้วเราก็ได้กระดาษแผ่นบางๆขาวๆ ผมบอกว่าดังนั้นจริงๆแล้วแผ่นกระดาษก็เหมือนไม้ที่บางมากๆ ถ้าเราเอามาม้วนแน่นๆ มันก็จะแข็งและรับน้ำหนักได้มากครับ

แล้วเราก็ทดลองใช้ท่อกระดาษสามท่อที่ทำจากกระดาษ A4 มารับน้ำหนักกัน วิธีทำดังในคลิปครับ:

วางของหนักๆบนท่อกระดาษ A4 สามท่อ

คราวนี้เราพบว่ากระดาษ A4 สามแผ่นนำ้หนักรวม 15 กรัม รับน้ำหนักได้ถึง 22.25 กิโลกรัม คิดเป็นกว่า 1,400 เท่าของน้ำหนักตัวมัน

สำหรับประถมปลาย เด็กๆได้ทำท่อกระดาษ รับน้ำหนักสิ่งหนักต่างๆรวมถึงโต๊ะกันครับ:

บรรยากาศกิจกรรมครับ: