Category Archives: ภาษาไทย

วิทย์ประถมต้น: แรงลอยตัว = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เราได้คุยกันเรื่องแรงลอยตัวกันต่อโดยชั่งน้ำหนักของที่จุ่มในน้ำ เด็กๆพยายามดูว่าน้ำหนักมากแค่ไหนจะกดเรืออลูมิเนียมให้จมน้ำได้

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลกระป๋องลอยครับ:

และให้เด็กๆดูภาพนี้ให้อธิบายว่าเป็นภาพลวงตาอย่างไร:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมชั่งน้ำหนักน้ำให้เด็กๆดู ให้เห็นว่าน้ำ 1 มิลลิลิตร (1 ซีซี) หนัก 1 กรัม

ให้เห็นว่าน้ำหนึ่งแก้วมีปริมาตรประมาณ 200-400 มิลลิลิตร

ให้เห็นขวด 1 ลิตร ใส่น้ำได้ 1,000 มิลลิลิตร และหนัก 1,000 กรัม (หรือ 1 กิโลกรัม)

ชั่งน้ำหนักน้ำที่ปริมาณต่างๆ

จากนั้นเอาถ้วยพลาสติกใส่น้ำเข้าไป 400 มิลลิลิตร คิดเป็นน้ำหนักน้ำ 400 กรัม แล้วเขียนระดับน้ำที่ถ้วยไว้

ใส่น้ำเข้าไป 400 กรัม ขีดเส้นระดับน้ำข้างถ้วยไว้

ถ้าเราเอาถ้วยที่ใส่น้ำไปลอยในอ่าง เราจะสังเกตว่าถ้วยจมไปถึงเส้นที่เราขีดระดับน้ำ และถ้าเทน้ำออกจากถ้วยแล้วใส่ลูกแก้วลงไปแทน ต้องใส่ลูกแก้วลงไปเท่ากับน้ำหนักน้ำตอนต้น (400 กรัม) ให้ถ้วยจมไปถึงระดับเส้นที่ขีดไว้

ต้องใส่ลูกแก้วไป 400 กรัมให้ถ้วยจมไปเท่ากับตอนใส่น้ำ 400 กรัม

การทดลองนี้แสดงว่าลูกแก้ว 400 กรัม หรือน้ำ 400 กรัม ใส่เข้าไปในถ้วย จะทำให้ถ้วยจมลงไปลึกเท่าๆกัน ที่ลอยอยู่ได้ก็เพราะถ้วยลงไปแทนที่น้ำ น้ำที่ถูกแทนที่ก็ผลักดันรวมเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง

จากนั้นผมก็เอาก้อนดินน้ำมันผูกเชือกแล้วชั่งโดยห้อยกับตาชั่ง โดยตอนแรกให้ลอยอยู่ในอากาศ แล้วก็เอาไปจุ่มบางส่วนในน้ำ แล้วก็เอาไปจุ่มในน้ำทั้งหมด ให้เด็กๆดูน้ำหนักที่ตาชั่ง

เมื่อจุ่มก้อนดินน้ำมันลงไปในน้ำ นำ้หนักของมันที่ตาชั่งก็จะลดลง น้ำหนักที่ลดไปนี้ก็เพราะว่าเมื่อของจุ่มลงไปในน้ำ มันต้องดันน้ำให้ย้ายไปที่อื่น น้ำก็ดันสู้ เกิดเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง ขนาดของแรงลอยตัวถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชื่ออาคิมีดีสค้นพบว่าเมื่อจุ่มของลงไปในน้ำ น้ำจะดันของนั้นๆขึ้นด้วยแรงลอยตัวค่าหนึ่ง แรงลอยตัวนี้มีมีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยของที่จุ่มลงมาครับ

ผมเคยอัดคลิปอธิบายการทดลองนี้ในอดีต:

เวลาที่เหลือเด็กๆได้แยกย้ายกันเล่นใส่ลูกแก้วในกล่องอลูมิเนียม (กล่องขนมเค้กเล็กๆ) ให้พยายามใส่ให้มากที่สุดก่อนจะจมน้ำ (ซึ่งยากขึ้นเพราะกล่องเอียงไม่เท่ากัน)

วิทย์ประถม: คุยกันเรื่องแรงลอยตัว, ดัดแปลงของเล่นนักดำน้ำ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้คุยกันเรื่องแรงลอยตัว และดัดแปลงของเล่นนักดำน้ำ (Cartesian Diver) จากสัปดาห์ที่แล้วให้หมุนขณะเคลื่อนที่ขึ้นลง

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลสลับตัวครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

วันนี้เราคุยกันเรื่องแรงลอยตัว เพราะเป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ของเล่นสัปดาห์ที่แล้ว

เด็กๆก็ผลัดกันกดขวดพลาสติกขนาดใหญ่ปิดฝา เปรียบเทียบกับขวดขนาดเล็กปิดฝา ว่าแบบไหนกดให้จมน้ำยากกว่ากัน ให้เด็กๆรู้สึกกับตัวเองว่าขวดใหญ่กดให้จมยากกว่า

เมื่อเราจุ่มหรือกดวัตถุต่างๆลงไปในน้ำ น้ำจะออกแรงยกของเหล่านั้น เราเรียกแรงยกนี้ว่าแรงลอยตัวจากน้ำ กฏเกณฑ์ธรรมชาติเกี่ยวกับการลอย/จมในของเหลวนี้ถูกค้นพบโดยอาคิมีดีสเมื่อ สองพันกว่าปีมาแล้ว เขาเขียนไว้ว่าของที่จุ่มไปในของเหลว (ไม่ว่าจะจุ่มลงไปนิดเดียวหรือจุ่มลงไป มิดเลย) จะมีแรงลอยตัวที่ของเหลวออกแรงดันขึ้น โดยแรงนี้จะมีขนาดเท่ากับน้ำหนักของของเหลวที่ถูกแทนที่ครับ

เมื่อเปรียบเทียบการกดขวดใหญ่และขวดเล็กลงไปในน้ำ เมื่อเรากดขวดลงไปในน้ำ ปริมาณน้ำที่ถูกแทนที่จะเท่ากับขนาดของขวดที่จมลงในน้ำ ขวดใหญ่แทนที่น้ำมากกว่า แรงลอยตัวซึ่งเท่ากับน้ำหนักน้ำที่ถูกแทนที่จึงมากกว่าเมื่อเรากดขวดใหญ่ลงไปในน้ำเมื่อเทียบกับขวดเล็ก

หลักการเดียวกันนี้พบได้ในสิ่งต่างๆที่ต้องปรับการจมการลอยน้ำครับ เช่นเรือดำน้ำจะมีบริเวณภายในที่สามารถปล่อยให้น้ำเข้ามาหรือผลักดันน้ำออกไปทำให้สามารถจมและลอยได้ ปลาหลายๆชนิดก็มีอวัยวะที่เรียกว่ากระเพาะปลา ซึ่งเป็นถุงลม (ไม่ได้ใช้ย่อยอาหาร) ที่ปลาจะปล่อยแก๊สเข้าไปเพื่อปรับระดับการลอยตัวครับ

ภาพที่แสดงว่าแรงลอยตัวในน้ำเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่อาจแสดงได้แบบประมาณนี้ครับ:

พยายามหาแก้วพลาสติกที่บางและเบามากๆมาใส่น้ำเต็มให้ลอยปริ่มๆผิวน้ำ ในสถานการณ์ที่น้ำนิ่ง น้ำที่อยู่ในแก้วมันต้องถูกน้ำนอกแก้วดันไว้ทำให้น้ำทุกส่วนไม่ขยับเลย

แปลว่าแรงที่น้ำนอกแก้วดันน้ำในแก้วต้องเท่ากับน้ำหนักน้ำในแก้วพอดี จะได้พยุงน้ำหนักพอดี จากนั้นก็จินตนาการให้แก้วมันเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปอะไรก็ได้และบางขึ้นบางขึ้นจนหายไป น้ำก็ยังอยู่นิ่งๆ แสดงว่าไม่ว่าหั่นน้ำเป็นช้ินยังไงก็ตาม แรงลอยตัวที่น้ำส่วนอื่นๆดันน้ำชิ้นนั้นๆต้องเท่ากับน้ำหนักของน้ำชิ้นนั้นๆครับ ต่อไปถ้าเราจินตนาการว่าเราดูดน้ำในแก้วออกให้หมดแต่ให้แก้วอยู่ที่เดิม น้ำนอกแก้วก็ไม่รู้ว่าน้ำในแก้วหายไป มันก็ยังผลักด้วยแรงลอยตัวเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่เคยอยู่ในแก้วนั่นแหละ หลักการนี้จึงอธิบายว่าถ้าเอาของอะไรไปจุ่มในน้ำ แทนที่น้ำไปส่วนหนึ่ง แรงลอยตัวของน้ำที่ดันของนั้นๆขึ้นก็เท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ไปด้วยปริมาตรของของที่จุ่มนั่นเอง

สำหรับเวลาที่เหลือ เด็กๆดัดแปลงของเล่นนักดำน้ำจากสัปดาห์ที่แล้วให้มันหมุนได้ขณะเคลื่อนที่ขึ้นลงครับ ทำโดยบีบดินน้ำมันให้มีหน้าตาเป็นใบพัด หรือตัดหลอดพลาสติกมาติดเป็นใบพัดกันครับ

บรรยากาศกิจกรรมเป็นดังนี้:

วิธีทำของเล่นนักดำน้ำครับ:

วิทย์ประถม: หัดทำของเล่นนักดำน้ำ Cartesian Diver

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล และได้หัดทำและเล่นของเล่นนักดำน้ำ (Cartesian Diver) ที่เกี่ยวกับความดัน ปริมาตรอากาศ และแรงลอยตัว

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลมีดแทงไม่ตายครับ:


กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

วันนี้เราประดิษฐ์ของเล่นกันครับ ยังไม่ได้เรียนหลักการหรือทฤษฎีอะไรมาก เอาให้เด็กๆสนใจและสนุกกันก่อน แล้วเราจะคุยกันเรื่องหลักการแรงลอยตัวต่อไปในอนาคต

เราหัดประดิษฐ์ของเล่นจากแรงลอยตัวที่เรียกว่า  “นักดำน้ำ” หรือ Cartesian Diver กันครับ 

เราอาศัยหลักการที่ว่าแรงลอยตัวที่พยุงสิ่งที่จุ่มอยู่ในน้ำเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ ถ้าเปลี่ยนปริมาตรที่น้ำถูกแทนที่ แรงลอยตัวก็จะเปลี่ยน ของเล่นนี้มีก้อนอากาศอยู่ข้างใน ถ้าบีบขวดให้ความดันข้างในเพิ่มขึ้น ก้อนอากาศจะเล็กลง ทำให้ปริมาตรน้ำที่ถูกอากาศแทนที่มีขนาดเล็กลง ทำให้แรงลอยตัวลดลง ของเล่นจึงจมน้ำ เมื่อเลิกบีบขวด ความดันข้างในลดลง ก้อนอากาศใหญ่ขึ้น ทำให้ปริมาตรน้ำที่ถูกแทนที่มากขึ้น ทำให้แรงลอยตัวมากขึ้น ของเล่นจึงลอยน้ำ

วิธีทำเป็นดังในคลิปครับ:

หน้าตาของเล่นที่เสร็จแล้วจะเป็นประมาณนี้ครับ:

วิธีทำแบบอื่นๆในอดีตมีดังในคลิปต่อไปนี้ อันนี้เป็นแบบแรกที่ผมทำ สามารถใช้เล่นกลโดยให้เด็กทำท่าใช้พลังจิตชี้ให้จมหรือลอยด้วย:

อีกแบบใช้หลอดฉีดยามาลนไฟที่หัวให้หัวตัน แล้วเอาดินน้ำมันถ่วงให้ลอยน้ำปริ่มๆ เอาหลอดฉีดยาไปใส่ในขวดพลาสติกใส่น้ำแล้วปิดฝาขวดแน่นๆ พอเราบีบขวดความดันในขวดก็เพิ่ม ดันให้ก้านเข็มฉีดยาเข้าไปในหลอดทำให้อากาศในหลอดมีขนาดเล็กลง (ปริมาตรเล็กลง) แรงลอยตัวที่น้ำดันหลอดฉีดยาอยู่ก็จะลดลงจนไม่สามารถทำให้หลอดลอยอยู่ได้ หลอดจึงจม พอเราปล่อยมือไม่บีบขวด ความดันก็ลดลง อากาศในหลอดก็ขยายตัวกลับมาเป็นขนาดเดิม ทำให้แรงลอยตัวมากขึ้นจนหลอดลอยอีก ลักษณะการทำงานของของเล่นเป็นแบบนี้ครับ:

วิธีทำแบบใช้หลอดฉีดยาทำแบบนี้:

ผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ:

กฏเกณฑ์ธรรมชาติเกี่ยวกับการลอย/จมในของเหลวนี้ถูกค้นพบโดยอาคิมีดีสเมื่อ สองพันกว่าปีมาแล้ว เขาเขียนไว้ว่าของที่จุ่มไปในของเหลว(ไม่ว่าจะจุ่มลงไปนิดเดียวหรือจุ่มลงไปมิดเลย)จะมีแรงลอยตัวที่ของเหลวออกแรงดันขึ้น โดยแรงนี้จะมีขนาดเท่ากับน้ำหนักของของเหลวที่ถูกแทนที่ครับ