Category Archives: science class

วิทย์ประถม: ลำโพงทำงานอย่างไร, ความถี่การสั่นสะเทือน=เสียงสูงเสียงต่ำ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เราหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล แล้วเรียนเรื่องเสียงและการสั่นสะเทือนกันต่อ ดูว่าลำโพงทำงานอย่างไร เห็นความถี่ของการสั่นของลำโพงและเสียงสูงเสียงต่ำ เห็นว่าความถี่การสั่นบางความถี่ที่พอดีจะทำให้เกิดการสั่นมากๆของสิ่งต่างๆเช่นโต๊ะไม้ที่วางลำโพง หรือของเล็กๆที่วางบนลำโพง (ซึ่งคือ resonance นั่นเอง) เปรียบเทียบกับการผลักชิงช้าอย่างไรให้แกว่งมากๆ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ โดยดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ต่อจากนั้นผมก็เอาลำโพงมาให้เด็กๆดูครับ

ลำโพงทำงานโดยมีแผ่นกระดาษหรือพลาสติกบางๆติดอยู่กับขดลวดที่ถูกล้อมรอบด้วยแม่เหล็ก เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าขดลวดก็จะทำให้ขดลวดเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า เกิดการผลักและดูดกับแม่เหล็กทำให้ขดลวดและแผ่นกระดาษหรือพลาสติกบางๆขยับตัว ดันอากาศออกมาเป็นคลื่นเสียง ลำโพงเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการสั่นของอากาศที่เป็นเสียงนั่นเอง

บน YouTube มีวิดีโออธิบายละเอียดโดยผ่าดูข้างในครับ:

ส่วนไมโครโฟนเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานในทางกลับกัน คือเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนการเคลื่อนไหวจากคลื่นเสียงให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า ในทางหลักการแล้วเราสามารถมองไมโครโฟนเป็นลำโพงที่เราไม่ได้ป้อนสัญญาณไฟฟ้าเข้าไป แต่มีคลื่นเสียงมากระทบแผ่นกระดาษด้านหน้าทำให้ขดลวดด้านหลังสั่น ขดลวดที่เคลื่อนที่ในสนามแม่เหล็กจะมีกระแสไฟฟ้าวิ่ง เราสามารถเอากระแสไฟฟ้าเหล่านั้นไปใช้ต่อได้ เช่นบันทึกว่าไมโครโฟนรับเสียงอะไรมาบ้าง

เด็กๆได้สังเกตการสั่นสะเทือนของลำโพงที่ความถี่ต่างๆ (ความถี่สร้างด้วยโปรแกรม Sonic by Von Bruno ครับ) ให้รู้จักการสั่นสะเทือนนับเป็นหน่วยเฮิร์ตซ์ (Hz) เท่ากับหนึ่งครั้งต่อวินาที เราจะได้ยินเสียงดังชัดเจนเมื่อการสั่นสะเทือนสั่นในช่วงไม่กี่ร้อย Hz ถึงไม่กี่พัน Hz ซึ่งเป็นเสียงที่สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน ได้สังเกตว่าความถี่สูงเราจะได้ยินเสียงสูง ความถี่ต่ำจะได้ยินเสียงต่ำ

ได้ดูการสั่นสะเทือนถ่ายด้วยกล้องสโลโมชั่น:

ได้เปรียบเทียบการกระเด้งของเม็ดโฟมเมื่อมีการสั่นสะเทือนความถี่ต่างๆ ถ้าตอนลำโพงสั่นลำโพงเคลื่อนที่ชนเม็ดโฟมตอนมันตกลงมาพอดีก็จะทำให้กระเด้งสูงขึ้น เหมือนกับการผลักชิงช้าที่เหมาะสมให้แกว่งมากขึ้น:

วิทย์ประถม: คลื่นเสียงและการสั่นสะเทือน ส่งเสียงไปตามท่อ โทรศัพท์เส้นเชือก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมครับ เราหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล ดูคลื่นในสปริงจำลองการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียง ส่งเสียงผ่านท่อยางที่ป้องกันไม่ให้คลื่นเสียงกระจายและอ่อนกำลังลง และเล่นของเล่นโทรศัพท์แก้วพลาสติก+เชือกกันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลสั้นๆสองคลิปนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือกลห่วง และตัดตัวในกล่องครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เราคุยกันเรื่องเสียงต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว (วิทย์ประถม: เสียง กล่องเสียง หู และปี่หลอด) ผมเล่าว่างเราได้ยินเสียงเพราะการสั่นสะเทือนทำให้อากาศหรือตัวกลางอื่นๆเปลี่ยนรูปร่างทำให้เกิดคลื่นเสียงวิ่งมาเข้าหูเราทำให้แก้วหูเราสั่น เช่นเมื่อเราตะโกน การสั่นสะเทือนจากในคอของเราจะทำให้อากาศสั่นตาม การสั่นสะเทือนชองอากาศจะกระจายจากปากของเราออกไปทุกทิศทาง เมื่อระยะไกลมากขึ้นขนาดของการสั่นสะเทือนจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้เสียงเบาเกินกว่าที่จะได้ยินเมื่อระยะทางมากพอ

ถ้าเรามีวิธีบังคับให้การสั่นสะเทือนวิ่งไปในทิศทางที่เราต้องการ เช่นเอามือป้องปาก หรือพูดผ่านโทรโข่ง เสียงในทิศทางนั้นก็จะดังขึ้น ทำให้เสียงได้ยินไกลมากขึ้น

ถ้าเราบังคับให้เสียงวิ่งไปตามท่อยาง การสั่นสะเทือนส่วนใหญ่จะวิ่งไปตามอากาศในท่อยาง ทำให้สามารถฟังเสียงกระซิบไกลๆได้ คนเราใช้วิธีส่งเสียงไปตามท่อนี้ในตึกหรือในเรือโดยไม่ต้องใช้โทรศัพท์หรือวิทยุมานานเป็นพันปีแล้วครับ วันนี้เราเล่นโดยติดกรวยพลาสติกที่ปลายทั้งสองของสายยางยาวๆ แล้วให้เด็กๆผลัดกันพูดเบาๆและฟัง พบว่าได้ยินชัดดีมากๆ

เนื่องจากเราไม่เห็นอากาศสั่น ผมจึงเอาสปริงยาวๆมาให้เด็กๆดูเป็นแบบจำลองว่าคลื่นในสปริงเป็นตัวอย่างคล้ายๆคลื่นในอากาศ ให้เด็กๆขยับสปริงดู เห็นว่าคลื่นวิ่งผ่านกันได้

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, 30 November 2021

จากนั้นเราก็เล่นของเล่นโทรศัพท์ที่ทำจากถ้วยพลาสติกสองอันที่เชื่อมกันด้วยเชือกยาวๆ เมื่อดึงให้เชือกตึง การสั่นสะเทือนที่ถ้วยหนึ่งจะส่งผ่านเชือกไปทำให้อีกถ้วยหนึ่งสั่นสะเทือนตาม ทำให้สามารถพูดที่ถ้วยหนึ่งแล้วอีกคนฟังอีกถ้วยได้

ถ้าเชือกหย่อนการหรือใช้วัสดุยืดหยุ่นเช่นสปริง หรือหนังยาง เสียงก็จะไปไม่ถึงอีกถ้วย (แต่จะได้ยินเสียงแปลกๆถ้าลองดีดสปริงหรือหนังยางดู)

ถ้าวัสดูที่ทำถ้วยหนาหรือแข็งเกินไป การสั่นสะเทือนจากการพูดจะทำให้ถ้วยสั่นน้อย ทำให้อีกข้างไม่ค่อยได้ยิน

พออธิบายว่าของเล่นทำได้อย่างไร เด็กๆก็แยกย้ายกันเล่นครับ:

วิทย์ม.ต้น: ดูคลื่นเสียงและสเปกตรัมของมัน

วิทย์ม.ต้นวันนี้เราทบทวนความรู้เบื้องต้นเรื่องเสียง ซึ่งข้อมูลจะมีตามลิงก์เหล่านี้:

  1. เสียง กล่องเสียง หู และปี่หลอด (อย่าลืมดูคลิปต่างๆในลิงก์นี้)
  2. How Well Do Dogs and Other Animals Hear?

จากนั้นเราคุยกันเรื่องอัดเสียงด้วยโปรแกรมต่างๆเช่น Audacity เราจะเห็นกราฟความดันอากาศที่ไม่โครโฟนวัดที่เวลาต่างๆ ถ้าเราซูมเข้าไปจะเห็นเป็นคลื่น ภาพเหล่านี้จะเกิดจากการซูมดูรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ (สังเกตได้จากเวลาเป็นวินาทีในแนวนอน):

เราสามารถดูว่าเสียงที่เราอัดมามีความถี่ต่างๆผสมกันอย่างไรโดยการวาดกราฟสเปกตรัมของมัน (ใน Audacity สามารถใช้เมนู Analyze/Plot Spectrums…) แกนนอนสเปกตรัมคือความถี่ต่างๆ ความสูงของกราฟจะบอกว่ามีพลังงานอยู่ในความถี่ต่างๆเหล่านั้นเท่าไร:

ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือ เราสามารถใช้แอพหลายตัวเพื่ออัดคลื่นเสียงและดูสเปกตรัมของมันได้ ยกตัวอย่างเช่น SpectrumView สำหรับ iOS หรือ Spectrum Analyzer สำหรับ Android

นอกจากนี้เราสามารถใช้แอพ Phyphox ทำการทดลองหลายๆชนิดด้วยโทรศัพท์รวมถึงการอัดเสียงและหาสเปกตรัมด้วย

เราคุยกันเรื่องการสร้าง”ลายนิ้วมือของเสียง” (audio fingerprinting) โดยการดูรูปแบบสเปกตรัมของเสียงต่างๆเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สามารถนำไปประยุกต์ในบริการถามชื่อเพลงเช่น Shazam เป็นต้น เรื่องที่คุยจะเป็นสรุปของลิงก์นี้: How does Shazam work