Category Archives: science class

วิทย์ประถม: เล่นจรวดโฟมกัน

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล และเนื่องจากสัปดาห์นี้เด็ก 1/3 ของศูนย์การเรียนไปเรียนเรือใบ สำหรับเด็กๆที่เหลือเราจึงเอาของเล่นมาเล่นกัน คราวนี้เอาจรวดโฟมที่พุ่งไปด้วยแรงดันอากาศ ให้เด็กๆเล่นและสังเกตว่าจะเล็งอย่างไร

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลหายตัวครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

วันนี้เด็กๆจำนวนมากของศูนย์การเรียนไปค่ายเรือใบ เราจึงไม่ได้เรียนอะไรมาก แต่เอาของเล่นมาเล่นกัน พยายามเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร วันนี้เราเล่นจรวดโฟม:

ซื้อมากจาก https://shp.ee/kw2i7px

ผมเล่นให้เด็กๆดูแล้วให้เด็กพยายามอธิบายว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ให้สังเกตมุมยิงของจรวด ความแรงของการกดถุงลม และระยะที่จรวดวิ่งไป แต่จุดประสงค์ใหญ่คือให้เขาเล่นสนุกกันครับ คลิปกิจกรรมเป็นดังนี้:

วิทย์ประถม: ภาพลวงตาหน้าเว้าและของเล่นตุ๊กตาหันหน้าตาม

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมมาครับ วันนี้เราคุยกันเรื่องภาพลวงตาต่อ คุยเรื่องภาพลวงตาหน้าเว้าและทำของเล่นจากกระดาษ ตัดและพับให้เป็นตุ๊กตาที่ดูเหมือนว่าหันหน้ามองตามเรา (ด้วยหลักการภาพลวงตาหน้าเว้านั่นเอง)

ก่อนอื่นกดเข้าไปดูคลิปนี้ก่อนนะครับ: ตุ๊กตาหน้าเว้า (ตุ๊กตาหันตาม)

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สัปดาห์นี้เราไม่มีกิจกรรมพยายามอธิบายมายากลเพราะของเล่นที่เราจะประดิษฐ์กันต้องใช้เวลาหน่อย

ผมให้เด็กๆรู้จักภาพลวงตาอีกแบบคือให้ดูด้านหลังหน้ากาก  ซึ่งปรากฏว่าถ้าหลับตาข้างหนึ่งแล้วดูจะเห็นว่าด้านหลังหน้ากากมันนูนออกมาแทนที่จะเว้า:

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าภาพลวงตาหน้าเว้า (Hollow-Face illusion) เกิดขึ้นเพราะสมองคนเราจะวาดภาพในหัวเองว่าเราเห็นอะไรอยู่ ในหลายๆสถานการณ์ข้อมูลที่เข้ามาทางตาสู่สมองมันคลุมเครือเกิดจากของหลายๆแบบที่ต่างกันได้ สมองก็อาจจะตีความตามแบบที่เกิดขึ้นบ่อยๆเป็นปกติ ตัวอย่างใกล้ตัวที่น่าประหลาดใจก็คือภาพลวงตาหน้าเว้าแบบนี้ ที่เรามองด้านหลังของหน้ากากแล้วตีความว่ามันคือด้านหน้า แถมยังดูเหมือนหันมองตามเราซะด้วยครับ

คลิปนี้มีตัวอย่างว่าจะเห็นหน้าเว้าเป็นหน้านูนอย่างไรครับ:

จากนั้นเด็กๆก็ได้ประดิษฐ์ของเล่นจากกระดาษแข็งที่เป็นตุ๊กตาหน้าเว้าที่มองตามเราครับ วิธีประดิษฐ์เป็นแบบนี้ครับ:

เด็กๆแยกย้ายกันทำเสร็จแล้วมาถ่ายคลิปร่วมกันครับ:

แบบกระดาษเหล่านี้ผมเอามาจากลิงค์ของ Brusspup และที่มีคนโพสต์ไว้ใน imgur และเว็บอื่นๆโดยหาใน Google ด้วยคำว่า “3D dragon illusion” ครับ  ผมรวมมาวางไว้ที่นี่เพื่อให้เอาไปลองสะดวกๆนะครับ สามารถเอาไปพิมพ์บนกระดาษ A4 ได้ครับ:

วิทย์ประถม: สังเกตข้อจำกัดการมองเห็นและการจำด้วยการทดลองต่างๆ

ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้เรียนรู้เรื่องข้อจำกัดในการมองเห็นและการมโนภาพต่างๆเมื่อข้อมูลทางสายตาไม่พอ ได้สังเกตว่าเมื่อเราสนใจบางสิ่งเราสามารถพลาดการรับรู้เรื่องอื่นๆได้มากมาย และบางครั้งเราไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในภาพต่างๆทั้งๆที่เราคิดว่าเราไม่น่าพลาด

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเลื่อยไฟฟ้าตัดตัวครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

วันนี้เราทำการทดลองกันต่อว่าตาเราสามารถมองเห็นชัดๆได้เพียงบริเวณเล็กๆเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นชัดได้ทั่วไปพร้อมๆกัน เราต้องกวาดตาไปมาเพื่อรับแสงจากที่ต่างๆแล้วให้สมองไปรวมเพื่อวาดภาพในหัวของเราให้เรารับรู้ได้

ภาพแรกคือให้ดูภาพนี้ ดูว่าวงกลมที่อยู่ตรงที่เส้นตรงตัดกันมีสีอะไร ถ้าเราเพ่งดูแต่ละวงกลม เราจะเห็นว่ามันมีสีขาว แต่วงกลมอื่นๆที่ห่างไปจากจุดที่เรามองจะเปลี่ยนสีไปมาระหว่างดำและขาว สีที่เปลี่ยนนั้นคือสีที่สมองมโนขึ้นมาว่าควรจะเป็นสีอะไร ถ้าเราย้ายตาไปมองชัดๆมันจะเป็นสีขาวอย่างที่เป็นจริง (ถ้าขยายให้ภาพใหญ่จะเห็นปรากฎการณ์นี้ชัดขึ้น):

อีกการทดลองหนึ่งคือให้นับว่ามีจุดดำกี่จุดในภาพ ถ้ากวาดตาไปเรื่อยๆจะเห็นว่ามี 12 จุดดำ แต่เราจะไม่สามารถเห็นมันพร้อมๆกันทั้งหมดได้ (ถ้าขยายให้ภาพใหญ่จะเห็นปรากฎการณ์นี้ชัดขึ้น, ภาพมาจากคลิปนี้: https://youtu.be/v6CwmHtFO_M):

ต่อไปเราดูคลิปนี้กัน เมื่อเราจ้องมองกากบาทตรงกลางภาพ หน้าคนบริเวณข้างๆของภาพจะไม่ค่อยชัด และเมื่อมองหน้าตาไม่ชัด สมองก็วาดรูปหน้าตามใจ ทำให้ดูเหมือนสัตว์ประหลาด:

ต่อไปเราดูคลิปนี้ดูว่าทีมเสื้อขาวส่งลูกบอลกันกี่ครั้ง:

เราจะพบว่าหลายๆคนจะพลาดสิ่งประหลาดๆหลายอย่างในคลิปเมื่อต้องตั้งใจจดจ่อนับการส่งลูกบอล แสดงว่าความสามารถในการประมวลผลข้อมูลเข้าสมองของเราจำกัด

อีกคลิปที่เราดูกันคือเราพลาดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในรูปที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเรา เพียงแค่มีไฟกระพริบความจำรูปภาพระยะสั้นของเราก็หายไปแล้ว:

ด้วยเวลาที่เหลือ เราดูการเล่นกลและการเฉลยของนักมายากลชื่อดังของโลก Penn & Teller เด็กๆชอบมาก ตบมือกันตอนจบด้วย:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมแนะนำให้ลองเล่นเว็บไซต์ที่ให้เราวาดรูปด้วย AI กัน เช่นไปดูรายชื่อต่างๆในลิงก์ 7 เว็บไซต์ วาดรูปด้วย AI ในปี 2023 สร้างงานศิลปะขั้นเทพ ง่ายๆแค่ปลายนิ้ว! หรือเว็บที่ให้เราออกแบบท่าทางโพสของคนแล้ววาดรูปให้เช่น https://plask.ai/ หรือแอปวาดรูปเช่น Draw Things:

เล่นได้ที่ https://plask.ai/