Tag Archives: วิทย์ม.ต้น

วิทย์ม.ต้น: หัดโปรแกรมด้วย Scratch

วันนี้เด็กม.ต้นได้หัดเขียนโปรแกรมด้วย Scratch กันครับ ผมให้เด็กๆสร้างบัญชีผู้ใช้สำหรับตนเอง โปรแกรมต่างๆที่สร้างจะได้ไม่หายไปไหน 

เด็กๆหลายๆคนได้ลองเล่นมาบ้างแล้วหลังจากที่ผมแนะนำให้รู้จักเมื่อวันพุธ วันนี้ผมให้เด็กๆทำ Tutorial ต่างๆที่อยู่บนหน้า Getting Started เพื่อให้เด็กๆรู้จักว่าคำสั่งต่างๆมีอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง

แม้ว่า Scratch จะมีคำสั่งต่างๆเป็นภาษาไทยด้วย แต่ผมก็บอกเด็กๆให้ใช้แบบภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะเด็กๆโตแล้ว และควรเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้จะไม่สามารถค้นคว้าเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงควรหัดครับ

ขณะที่เด็กๆทดลองทำสิ่งต่างๆใน Scratch เมื่อติดขัดหรือมีปัญหา ผมก็จะให้เด็กๆปรึกษากันพยายามแก้ปัญหา นอกจากบางกรณีที่ผมต้องลงไปช่วย แต่อยากให้เด็กๆเรียนรู้ด้วยตัวเองและจากเพื่อนๆมากที่สุด เพราะเป็นทักษะสำคัญให้กล้าที่จะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆไม่ต้องรอให้ใครมาสอนครับ

การบ้านสำหรับศุกร์หน้าคือให้สร้างอะไรที่เด็กแต่ละคนคิดว่าเจ๋งด้วย Scratch แล้วเอามาดูกันในอีกหนึ่งสัปดาห์ครับ

 

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 1, เริ่มหัดสั่งงานคอมพิวเตอร์

วันนี้ที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม เด็กๆม.ต้นได้ดูรายการ Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 1 กันครับ รายการหาดูได้จาก Netflix นะครับ มีซับไทย (ถ้ายังไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถลองดูฟรีได้หนึ่งเดือนครับ มีสารคดีน่าสนใจเยอะดี)

เด็กๆได้รู้จักว่าหลักการสำคัญทางวิทยาศาสตร์คือ “Test ideas by experiment and observation, build on those ideas that pass the test, reject the ones that fail, follow the evidence wherever it leads and question everything.” หรือ “ทดสอบแนวคิดโดยการทดลองและการสังเกต ต่อยอดแนวคิดที่ผ่านการทดสอบแล้ว ปฏิเสธแนวคิดที่ล้มเหลว ติดตามข้อพิสูจน์ไม่ว่ามันจะนำไปที่ไหนก็ตาม และตั้งคำถามทุกอย่าง (อย่าเชื่อง่าย)” หลักการนี้ทำให้เราเข้าใจความจริงว่าธรรมชาติทำงานอย่างไรได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เด็กๆได้เริ่มเข้าใจขนาดและอายุของจักรวาล เราอยู่บนโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์เล็กๆที่อยู่ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์หนึ่งในดาวนับแสนล้านดวงในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ทางช้างเผือกเป็นหนึ่งในนับแสนล้านกาแล็กซี่ที่อยู่ในจักรวาลที่เราสังเกตเห็น

เด็กๆได้รู้จักการวัดระยะทางเป็นปีแสง ซึ่งเท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศเป็นเวลาหนึ่งปี เท่ากับประมาณ 9-10 ล้านล้านกิโลเมตร (แสงเดินทางได้ประมาณ 3 แสนกิโลเมตรในหนึ่งวินาที และเป็นความเร็วสูงสุดเท่าที่เรารู้ในจักรวาลเรา)

อายุจักรวาลประมาณ 13,800 ล้านปี และเราพยายามเข้าใจเวลายาวๆโดยบีบให้เวลาทั้ง 13,800 ล้านปีมาอยู่ในปฏิทินปีเดียว โดยให้วันที่ 1 มกราคือจุดเริ่มต้นของจักรวาลของเรา และเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคือปัจจุบัน วิธีนี้เรียกว่า Cosmic Calendar ด้วยวิธีนี้ 1 วันในปฏิทินเท่ากับประมาณ 40 ล้าน ปี 1 เดือนในปฏิทินเท่ากับประมาณพันล้านปี ด้วยอัตราส่วนในปฏิทินมนุษย์พึ่งเริ่มเขียนหนังสือสิบกว่าวินาทีก่อนเที่ยงคืนครับ (ลองกดเข้าไปดูเหตุการณ์สำคัญต่างๆว่าอยู่ในปฏิทินวันไหนนะครับ เข้าไปที่เว็บเต็มของเขาเพื่อดูรายละเอียดได้ด้วยครับ)

By Efbrazil, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18385338

ลิงก์เพิ่มเติมสำหรับให้นักเรียนไปศึกษาเพิ่มเติมครับ (ในวิดีโอแรกมีข้อผิดพลาดว่าขนาดจักรวาลคือ 13,000 ล้านปีแสง จริงๆน่าจะใกล้ๆ 92,000 ล้านปีแสง เพราะการขยายตัวของจักรวาลด้วยครับ):

เวลาครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเด็กๆได้รู้จัก Scratch สำหรับหัดเขียนโปรแกรมกันครับ แนะนำให้เด็กๆไปสร้างบัญชีไว้ (กด Join Scratch) และลองเล่น Tutorial แล้วในอนาคตเราจะเรียนรู้เรื่องการสั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงานให้ครับ

วิทย์ม.ต้น: ตรวจสอบว่าอะไรได้ผลหรือไม่ อย่างไร

วันนี้ผมลองให้เด็กๆคิดกันว่าจะแยกแยะว่าสิ่งต่างๆที่มีคนจะมาขายให้เรามันใช้ได้จริงหรือไม่อย่างไรครับ 

เนื่องจากมีคนแชร์วิดีโอสัมมนาเปลี่ยนชีวิตกันเยอะ มีคนตั้งตัวเป็น Life Coach เปิดคอร์สสอนกันเยอะ ผมเลยอยากให้เด็กๆสังเกตและคิดว่าเราจะทดสอบอย่างไรว่าคอร์สแต่ละอันได้ผลหรือไม่

ผมให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ เพลงทำนองสนุกดี:

ดูเสร็จแล้วถามเด็กๆว่ามีหลายคนบอกว่าไปเข้าคอร์สแล้วได้ผลดี เช่นบางคนเข้าไปแล้วออกมาขยายธุรกิจร่ำรวย เด็กๆคิดว่าอย่างไร และจะตรวจสอบว่าสัมมนาได้ผลอย่างไร บันทึกไว้บนไวท์บอร์ดอย่างนี้ครับ หมึกสีเขียวจะเป็นความเห็นเด็ก ผมสรุปด้วยสีน้ำตาลและสีม่วง:

เด็กๆมีวิจารณญาณสูงกว่าผู้ใหญ่ทั่วๆไปในสังคมไทยครับ! เด็กๆเข้าใจไอเดียเกี่ยวกับหลักฐานโดยเรื่องเล่า  (anecdotal evidence) แม้ว่าเขาจะไม่รู้จักคำที่ใช้เรียกไอเดียนี้ก็ตาม เข้าใจว่าถ้าดูคนที่บอกว่าเข้าคอร์สแล้วดีแล้วประสบความสำเร็จทีละคนจะใช้เป็นหลักฐานฟันธงไม่ได้เพราะว่ามีสาเหตุอีกมากมายที่แต่ละคนอาจจะประสบความสำเร็จก็ได้  (ความเห็นเด็กๆคือ 1. ความรวยอาจจะเกิดอย่างอื่นก็ได้  2. คนร่วมสัมมนาได้ผลสำเร็จกันหมดไหม 3. ถ้าได้ผล คนน่าจะรวยหมด)

ต่อไปผมถามว่าจะตรวจสอบอย่างไรว่าสัมมนาได้ผลหรือไม่อย่างไร เด็กๆมีไอเดียว่า 1. ให้ดู % คนสำเร็จต่อจำนวนคนเข้าร่วม 2. เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของสัมมนา ซึ่งทั้งสองข้อนี้เราก็ยังใช้ฟันธงไม่ได้อยู่ดี จนกระทั่งมีเด็กอีกคนหนึ่งเสนอว่าให้ 3. ทดสอบเหมือนทดสอบยา แยกคนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยาจริง อีกกลุ่มให้ยาปลอม แล้วดูว่าผลต่างกันไหม ต่างกันแค่ไหน

ผมเลยสรุปให้เด็กๆฟังว่าใช่แล้ว การทดลองว่าอะไรได้ผลไม่ได้ผลเนี่ยต้องเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (control group) เสมอ ต้องระวังว่าผลที่ได้ไม่ได้เกิดจากปรากฎการณ์ยาหลอก (placebo effect) วิธีที่ต้องเรียนรู้ต่อไปในอนาคตก็คือการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม 

ผมบอกเด็กๆว่าในอนาคตเวลามีใครจะมาขายอะไรให้เรา (เช่น ยา สัมมนา ดูดวง อาหาร วิธีทำธุรกิจ ฯลฯ) เราก็ควรคิดว่าควรทดสอบด้วยวิธีทำนองนี้ครับ