Category Archives: General Science Info

การแก้ปัญหาโดยการวิวัฒนาการจำลองในคอมพิวเตอร์ (Evolutionary Computation)

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการแก้ปัญหาโดยการวิวัฒนาการจำลองในคอมพิวเตอร์ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. การวิวัฒนาการ (Evolution) หรือเรียกอีกอย่างว่าการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ (Natural Selection) เป็นขบวนการสร้างสิ่งมีชีวิตแบบต่างๆบนโลก อธิบายความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตแบบต่างๆว่าทำไมจึงมีหลายชนิด และทำไมสิ่งมีชีวิตต่างเป็นญาติกันเพราะเคยมีบรรพบุรุษร่วมกันในอดีต (ซึ่งอาจนานมากเป็นล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน หรือพันล้านปีมาแล้ว)
  2. การวิวัฒนาการจะเกิดได้ด้วยขั้นตอนทั้งสี่นี้:

    A. ลูกๆคล้ายๆพ่อแม่ (คือมีการสืบทอดพันธุกรรม)
    B. ลูกๆไม่เหมือนกันหมดทุกตัว (คือมีความหลากหลายทางพันธุกรรม)
    C. โอกาสรอดชีวิตและแพร่พันธุ์ของลูกแต่ละตัวไม่เท่ากัน ลูกที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะเป็นพ่อแม่ในรุ่นต่อไป (คือมีการคัดเลือกพันธุ์)
    D. วนข้อ A, B, C หลายๆรอบ เป็นร้อยเป็นพัน…เป็นล้านรอบ

    จะได้ผลลัพธ์เป็นสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ และหน้าตาของมันอาจจะแตกต่างไปจากหน้าตาต้นตระกูลมันมากมาย

    (คำว่า พ่อ แม่ ลูก ด้านบน อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เราคุ้นเคยก็ได้ครับ จริงๆอะไรที่สามารถจำลองตัวเองแบบมีความหลากหลายได้ก็ใช้ขบวนการวิวัฒนาการได้ เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไวรัส หรือไอเดียต่างๆในหัวคน เป็นต้น)
  3. นอกจากธรรมชาติจะเป็นตัวคัดเลือกพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆแล้ว คนเราเองก็สามารถทำการคัดเลือกพันธุ์ได้ ยกตัวอย่างเช่นคนเราคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์เพื่อใช้เป็นประโยชน์โดยเลือกตัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการโดยหวังว่าเราจะมีโอกาสได้ลูกๆที่มีลักษณะที่เราต้องการมากขึ้น เมื่อรุ่นลูกโตขึ้นเราก็เลือกบางตัวเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อีก เมื่อทำอย่างนี้หลายๆรอบเราก็จะได้สิ่งมีชีวิตอย่างที่เราต้องการ อาหารและสัตว์เลี้ยงต่างๆของมนุษย์ผ่านการคัดเลือกพันธุ์มานับร้อยนับพันปี
  4. มีนักวิทยาศาสตร์หลายทีมทดลองเลียนแบบขบวนการวิวัฒนาการนี้ในคอมพิวเตอร์ คือเมื่อจะแก้ปัญหาอะไร ก็ลองสร้างพันธุกรรมจำลองขึ้นมาหลายๆแบบ (เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต) แล้วดูว่าพันธุกรรมแบบไหนแก้ปัญหาที่ต้องการได้ดีกว่า อันที่แก้ปัญหาได้ดีกว่าก็จะมีโอกาสแพร่พันธุ์มากกว่าแบบที่ไม่เก่งเท่า พอทำไปหลายๆรอบก็จะได้พันธุกรรมแบบที่แก้ปัญหาที่ต้องการได้ดี แล้วก็สามารถเอารูปแบบที่วิวัฒนาการได้มาผลิตใช้จริงๆ
  5. การทำแบบนี้ต้องใช้การคำนวณมากมาย แต่ก็เหมาะกับคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ที่มีหน่วยคำนวณหลายๆหน่วยที่ทำงานพร้อมๆกันได้
  6. ตัวอย่างการแก้ปัญหาโดยวิธีนี้ก็เช่นการออกแบบใบพัดเรือ เสาอากาศ ส่วนผสมวิสกี้ ออกแบบเครือข่ายประสาทเทียมหุ่นยนต์ ออกแบบการเดินและเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ และที่น่าตื่นเต้นมากๆคือออกแบบหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ทำจากเซลล์มีชีวิต (xenobot)

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

อธิบายเรื่องวิวัฒนาการเทียมในคอมพิวเตอร์:

หุ่นยนต์สร้างจากเซลล์กบ ออกแบบด้วยวิธีวิวัฒนาการในคอมพิวเตอร์ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ A scalable pipeline for designing reconfigurable organisms:

วิวัฒนาการหุ่นยนต์เดินสองขา:

ตัวอย่างโปรแกรมในภาษาไพธอน: Genetic Algorithm Implementation in Python

เสาอากาศที่วิวัฒนาการขึ้นมาโดย NASA

เทคโนโลยีต่างๆที่จะมาช่วยเหลือคนพิการ

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะมาช่วยเหลือคนพิการ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุป:

  1. ร่างกายเราติดต่อสื่อสารภายในโดยการรับส่งสัญญาณกันหลายวิธี แต่วิธีหลักแบบหนึ่งคือสัญญาณไฟฟ้า สัญญาณไฟฟ้าถูกส่งไปมาตามเส้นประสาทระหว่างสมองและอวัยวะอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น สมองอาจส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่กล้ามเนื้อให้ทำงาน หรือจอรับภาพในตาอาจส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่สมองให้มองเห็น เป็นต้น
  2. การศึกษาการทำงานของร่างกายทำให้เราเข้าใจว่าสัญญาณไฟฟ้าต่างๆต้องเดินทางจากที่ไหนไปที่ไหน ถ้าสัญญาณไม่ทำงานอย่างที่ควรเราก็เริ่มหาวิธีส่งสัญญาณไปแก้ไขหรือทดแทน ด้วยเทคนิคการประมวลผลสัญญาณต่างๆซึ่งมักจะควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เล็กๆ
  3. เทคนิคแบบนี้ทำให้เราแก้ปัญหาได้หลายแบบเช่นสังเคราะห์เสียงโดยอ่านสัญญาณไฟฟ้าที่สมองส่งไปที่กล่องเสียงสำหรับคนพูดไม่ได้ ฝังชิปรับแสงไว้ในจอรับแสงลูกตาให้ส่งสัญญาณไปที่สมองหรือส่งภาพจากกล้องภายนอกไปที่สมองโดยตรงสำหรับคนตาบอด ส่งสัญญาณไฟฟ้าจากสมองไปที่กล้ามเนื้อสำหรับคนเป็นอัมพาตจากไขสันหลังเสียหาย ผ่าตัดใส่คอเคลียร์เทียมเพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองสำหรับคนหูหนวกบางประเภท ฯลฯ
  4. นอกจากนี้เรายังสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือเช่นมือและขาเทียมแบบใหม่ๆที่ขยับ ออกแรง และส่งสัญญาณความรู้สึกต่างๆให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนแขนขาจริงๆตามธรรมชาติ หรือชุด exoskeleton ที่ออกแรงเดินหรือยกของให้เราก็ได้
  5. บริษัทเช่น Neurallink กำลังพัฒนาสายไฟฟ้าขนาดจิ๋ว เล็กจนเกือบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพื่อจะได้เชื่อมต่อกับสมองได้ดีขึ้น
  6. มีความพยายามกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองให้ดีขึ้นเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการกระตุ้นไขสันหลังด้วยไฟฟ้า หรือฉีดสเต็มเซลล์ให้ไขสันหลังสร้างเส้นประสาทใหม่ๆให้ผู้ป่วยอัมพาตรู้สึกหรือเดินได้อีกครั้ง

ลิงก์น่าสนใจเพิ่มเติม:

ตัวอย่างการส่งสัญญาณเข้าสู่สมองสำหรับคนตาบอด

ตัวอย่างคอเคลียร์เทียมสำหรับทารกหูหนวก:

ขาเทียมที่ทำให้เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ:

เดินด้วย exoskeleton:

กระตุ้นไขสันหลังสำหรับผู้ป่วยอัมพาต:

ใช้สเต็มเซลล์สำหรับผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บ:

พิมพ์แขนเทียมด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ:

งานวิจัยเกี่ยวกับแขนขาเทียม:

Neurallink วิจัยวิธีต่อสายไฟกับสมองให้ดียิ่งขึ้น:

โรคปอดบวมอู่ฮั่น

(Update 2020-02-12: โรคนี้ถูกตั้งชื่อว่า COVID-19 แล้วครับ) วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องโรคปอดบวมอู่ฮั่น เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุป:

  1. โรคปอดบวมอู่ฮั่นเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่น่าจะส่งผ่านจากสัตว์ (ค้างคาวเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรก) มาสู่คน ไวรัสนี้เรียกว่า 2019-nCoV (อ่านว่าสองศูนย์หนึ่งเก้าเอ็นโควี) ซึ่งย่อมาจาก 2019 novel coronavirus (แปลว่าโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ปี 2019)
  2. โรคนี้เริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน กลางเดือนธันวาคม 2019 ผู้ป่วยคนแรกๆน่าจะติดเชื้อเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม
  3. เป็นโรคติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม ไวรัสจะติดมากับน้ำลายและละอองจากการไอจาม ถ้าคนอื่นไปสูดหายใจ หรือเอามือไปโดน แล้วไปจับจมูกปากหรือตาของตน ก็จะติดต่อได้
  4. โรคนี้รุนแรงน้อย คนส่วนใหญ่ที่รับเชื้อจะไม่มีอาการหนัก และภูมิคุ้มกันปกติจะทำให้หายเองได้ อัตราการตายตอนนี้น้อยกว่า 3% และลดลงเรื่อยๆด้วยการดูแลที่ดีขึ้น คาดว่าในที่สุดจะเหลือไม่ถึง 1% ผู้เสียชีวิตที่ผ่านมาเป็นผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงหรือมีโรคอยู่แล้ว อาการเมื่อได้รับเชื้อคือมีไข้สูง ไอแห้งๆ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จาม อาจเหนื่อยหอบ คล้ายกับอาการไข้หวัด อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ในรายที่รุนแรงมากจะมีปอดอักเสบทำให้เสียชีวิตได้
  5. ความรุนแรงน้อยทำให้หลายคนที่ได้รับเชื้อไม่มีอาการที่ตรวจพบได้ จึงเดินทางไปมาแพร่เชื้อได้ ทำให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง อาจจะแพร่ไปทั่วโลกในที่สุด ทุกประเทศควรร่วมมือกันให้การแพร่กระจายเป็นไปอย่างช้าที่สุดเพื่อจะได้มีความรู้เพิ่มเติมว่าจะจัดการอย่างไร และลดโอกาสที่ไวรัสนี้จะกลายพันธุ์มีความรุนแรงมากขึ้น (ลดโอกาสโดยลดจำนวนคนติดเชื้อ->ลดจำนวนไวรัสโดยรวม ->ลดรูปแบบการกลายพันธุ์)
  6. การป้องกันสำหรับคนทั่วไปก็ทำเหมือนวิธีป้องกันโรคติดต่อพวกหวัดและไข้หวัดใหญ่ คือหลีกเลี่ยงผู้ป่วย ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล เวลาไอจามใช้กระดาษทิชชู่หรือถ้าไม่มีกระดาษให้จามใส่ข้อพับแขน ใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก ทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน ใช้ช้อนกลางตักอาหาร รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง
  7. หลายๆทีมวิจัยกำลังศึกษาไวรัสตัวนี้ อาจจะทำวัคซีนออกมาได้ในไม่นานนัก
  8. สำหรับประเทศไทย ถ้าโรคนี้ระบาด คนตายจากโรคนี้น่าจะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ทุกปี และน้อยกว่าอาการเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อมากมายหลายเท่า ไม่ควรตื่นเต้นเกินไป
  9. ระวังการแชร์ข่าวมั่วๆและการพาดหัวข่าวให้ตื่นเต้นเกินจริงโดยสำนักข่าวทั้งหลาย ใช้สติในการดำรงชีวิต

ลิงก์น่าสนใจ:

China coronavirus: A visual guide to the outbreak

Infographics โดย South China Morning Post

ข้อมูลสรุปโดยสำนักข่าวจีน

แผนที่การกระจายโรคโดยมหาวิทยาลัย John Hopkins

สรุปเสวนา “จับตามอง!! โรคอุบัติใหม่ ไวรัสโคโรนา” มหาวิทยาลัยมหิดล

คลิปเสวนา “จับตามอง!! โรคอุบัติใหม่ ไวรัสโคโรนา” มหาวิทยาลัยมหิดล

ความจริง 20 ประการ เกี่ยวกับโรคปอดบวม อู่ฮั่น โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยศาสตราจารย์ นพ. ยง ภู่วรวรรณ

การระบาดอย่างรวดเร็วของโรคปอดบวมอู่ฮั่น โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยศาสตราจารย์ นพ. ยง ภู่วรวรรณ

การตรวจวินิจฉัยไวรัสอู่ฮั่นตรวจอย่างไรจึงมั่นใจว่าใช่ไม่ใช่ โดย นพ.พิเชฐ บัญญัติ

ถามตอบเรื่องโคโรนาไวรัส

Coronavirus Q&A:

สรุปงานวิจัยทางไวรัสจาก BIOTEC:

คุยกับผู้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสตัวนี้:

ไวรัสอูฮั่น ไม่ใช่ไวรัสซอมบี้!!!

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัส:

สรุปข้อมูล 2019-nCoV สำหรับนักชีววิทยา

ข้อมูลพันธุกรรมของ 2019-nCoV