Category Archives: มัธยม

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอย่าง, เข้าใจการทำงานของภาพยนตร์บนกระดาษ

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Liking bias, Endowment effect, และ Coincidence ครับ

Liking bias คือเรามักจะตัดสินใจตามคนที่เราชอบ เช่นถ้าเราชอบเซลส์แมนมาขายของเราก็จะซื้อของจากเขาง่ายขึ้น หรือในทางกลับกันถ้าเราไม่ชอบใครเราก็มักคิดว่าข้อเสนอต่างๆของเขาไม่น่าสนใจ เราควรระวังเวลาตัดสินข้อมูลต่างๆว่าจริงไม่จริง มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ ควรทำหรือไม่ควรทำ โดยอย่ามองว่าใครเป็นคนเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้เราครับ หรือถ้าเราจะไปโน้มน้าวให้ใครทำอะไรเราควรทำตัวให้เป็นที่รักที่ชอบครับ

Endowment effect คือเรามักจะยึดติดหรือให้ราคาของที่เราเป็นเจ้าของมากกว่าความเป็นจริง เราควรระวังว่าเรามีความยึดติดอย่างนี้และพยายามตัดสินใจให้มีเหตุผลเมื่อต้องซื้อขายแลกเปลี่ยน

Coincidence คือเรามักจะไม่เข้าใจความน่าจะเป็นที่เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้น ทำให้เราคิดว่าบางเหตุการณ์มีความศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นปาฏิหารย์ ยกตัวอย่างเช่นเราอาจพบคนถูกเลขท้ายสองตัวถึง 5 ครั้งในปีเดียว เราก็อาจคิดว่าคนนั้นเขามีวิธีเลือกเลขท้ายสองตัวให้มีโอกาสถูกมากกว่าชาวบ้านทั่วไปมาก (เช่นทำนายฝัน ดูทะเบียนรถคนดัง วันเดือนปีเกิดคนดัง ฯลฯ) แต่ถ้ามีคนหนึ่งล้านคนซื้อฉลากกินแบ่งหนึ่งใบทุกงวดเป็นเวลาหนึ่งปี เราสามารถคาดหมายได้ว่าจะมีคนประมาณ 5 คนที่ถูกเลขท้ายสองตัวถึง 5 ครั้งในปีนั้น (คำนวณด้วย Poisson probability distribution) ถ้าเด็กๆมีโอกาสควรอ่านหนังสือ The Improbability Principle: Why Coincidences, Miracles, and Rare Events Happen Every Day โดย David J. Hand ดูนะครับ

จากนั้นเด็กๆก็เล่นภาพเคลื่อนไหวบนกระดาษโดยเอาแผ่นใสพลาสติกที่มีลายดำพาดเหมือนทางม้าลายลากไปบนแผ่นกระดาษที่พิมพ์ลวดลายไว้ ทำให้ดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวครับ:

ผมให้เด็กๆเล่น สังเกต และทดลองเพื่อให้อธิบายว่ามันทำงานอย่างไร เด็กๆก็อธิบายได้ครับ หลักการก็คือใช้แถบดำบนแผ่นใสบังภาพที่เราไม่ต้องการเห็น ให้เห็นเฉพาะภาพที่มองผ่านแถบใสบนแผ่นใสได้ ถ้าเอาภาพหลายๆอันมาแล้วซอยเป็นคอลัมน์เล็กๆแล้วเลือกคอลัมน์ที่เหมาะสมจากภาพแต่ละอันมาเรียงกันเวลาเอาแผ่นดำทาบลงไปเราก็จะเห็นทีละภาพเท่านั้น เมื่อเลื่อนแผ่นใสเราก็จะเห็นทีละภาพติดต่อกันด้วยความเร็ว แล้วสมองเราก็จะเชื่อมโยงภาพทั้งหมดให้เป็นการเคลื่อนไหว

ผมเอาแบบสำหรับพิมพ์บนกระดาษและบนแผ่นใสมาจากวิดีโอนี้ครับ โดยคุณ brusspup:

มีวิธีทำด้วยโปรแกรมวาดภาพแบบนี้ครับ:

วิทย์ม.ต้น: รู้จัก Dictionary ใน Python, รู้จักใช้ pandas ดูดตารางข้อมูลบนเว็บ

วันนี้เด็กๆมัธยมต้นเรียนรู้เรื่อง dictionary ซื่งใช้เก็บข้อมูลแบบเป็น key/value และเราสามารถใช้ key ไปหา value ได้ เด็กๆเข้าไปอ่านและทดลองเขียนโค้ดที่ https://snakify.org/en/lessons/dictionaries_dicts/

จากนั้นเด็กๆก็ได้เห็นตัวอย่างการใช้ pandas ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดการข้อมูลต่างๆได้ง่ายๆใน Python โดยวันนี้เด็กๆได้รู้จักใช้ pandas ดูดข้อมูลที่เป็นตารางบนเว็บต่างๆมาใช้งาน ยกตัวอย่างเช่นถ้าจะหาเมืองหลวงของประเทศต่างๆในโลกก็สามารถไปดึงข้อมูลมาจากวิกิพีเดียหน้านี้:

จากหน้า https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_national_capitals

จะเห็นว่ามีตารางเมืองหลวงและประเทศต่างๆอยู่ เราสามารถเรียกใช้ pandas เอาข้อมูลในตารางมาแบบนี้

ตัวแปร tables จะเป็นลิสต์ที่เก็บข้อมูลตารางทั้งหลายในหน้า https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_national_capitals ที่เราดูดมา เราสามารถดูว่าได้มากี่ตารางและดูเนื้อหาของตารางแต่ละอันด้วยคำสั่งพวก len(tables) และดู tables[0], tables[1], … เพื่อเลือกตารางที่เราต้องการ ในกรณีนี้ตารางรายชื่อเมืองหลวงอยู่ที่ tables[1] เราสามารถเรียกใช้ข้อมูลหรือบันทึกเก็บเป็นไฟล์ไว้ที่เครื่องเราก็ได้ เช่นถ้าเราต้องการบันทึกเป็นไฟล์ของ Excel เราก็สามารถใช้คำสั่ง to_excel( ) แบบนี้ก็ได้:

เราจะได้ไฟล์ capitals.xls ที่มีข้อมูลเมืองหลวงไว้ใช้ได้ เปิดขึ้นมาหน้าตาแบบนี้ครับ:


ผมแนะนำให้เด็กๆไปเรียนรู้เกี่ยวกับ pandas เพิ่มเติมที่สองลิงก์นี้ครับ:

Quick Tip: The easiest way to grab data out of a web page in Python: https://medium.com/…/quick-tip-the-easiest-way-to-grab-data…

Easier data analysis in Python with pandas (video series): https://www.dataschool.io/easier-data-analysis-with-pandas/

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอย่าง, ออกแบบวงล้อภาพยนตร์

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Regression to the mean, Outcome bias, และ Paradox of choice ครับ

Regression to the mean หรือการถอยเข้าหาค่าเฉลี่ยคือปรากฏการณ์ที่เมื่อเราทำอะไรได้ผลดีมากๆหรือผลร้ายมากๆแล้ว เมื่อเราทำสิ่งเดียวกันอีกผลที่ได้มักจะไม่ดีเท่าหรือร้ายเท่า แต่จะใกล้ค่าเฉลี่ยปกติของเรามากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากสถิติและความน่าจะเป็นของผลลัพธ์สิ่งต่างๆที่มีส่วนขึ้นกับโชคและความผันผวนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่นถ้าวันนี้เราตีกอล์ฟได้ดีมากๆ วันต่อไปที่เราตีกอล์ฟมักจะไม่ได้ผลดีเท่าวันนี้ หรือความเข้าใจผิดที่ว่าการดุด่าได้ผลดีมากกว่าคำชมเพราะคนที่ถูกด่ามักจะทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อมา แต่คนที่ถูกชมมักจะทำได้ไม่ดีเท่าเดิม

Outcome bias คือการตัดสินขบวนการคิดและการตัดสินใจต่างๆว่าดีหรือไม่โดยดูจากผลที่เกิดขึ้นทั้งๆที่ผลลัพธ์อาจเป็นสิ่งที่ขึ้นกับโชคด้วย บางครั้งการตัดสินใจทำอะไรด้วยข้อมูลที่มีอยู่ตอนนั้นๆอย่างดีและระมัดระวังก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้เหมือนกันถ้าโชคไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าวิธีที่ใช้เป็นวิธีที่ไม่ควรใช้อีก ในทางกลับกันบางทีผลลัพธ์ที่ดีก็มาจากตัดสินใจแบบมั่วๆ ไม่ได้หมายความว่าเราจะมั่วแล้วสำเร็จได้อีก สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเองว่าเราคิดดีแล้วหรือเรากำลังมั่วอยู่

Paradox of choice คือการที่เราตัดสินใจอะไรได้ยากเพราะมีตัวเลือกเยอะเกินไป ยิ่งคนที่มีนิสัยต้องการสิ่งที่ดีที่สุดก็จะยิ่งตัดสินใจยากเพราะมีตัวเลือกให้เปรียบเทียบเยอะ คำแนะนำก็คือเมื่อเราต้องการจะเลือกอะไรบางอย่าง ให้เรากำหนดเกณฑ์ตัดสินและความสำคัญของแต่ละเกณฑ์ไว้ก่อนแล้วค่อยไปดูตัวเลือกต่างๆ ถ้าไปดูตัวเลือกก่อนอาจงงและตัดสินใจตามตัวเลือกแบบงงๆได้ เมื่อได้สิ่งที่ดีพอตามเกณฑ์ของเราแล้วก็พอใจได้ อย่าไปปวดหัวว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่า

จากนั้นเด็กๆก็ทำวงล้อภาพยนตร์ (Movie Wheel หรือ Phenakistiscope) กันครับ วิธีทำดังในคลิปครับ:

หลังจากรู้วิธีทำ เด็กๆก็แยกย้ายกันไปเล่น ประดิษฐ์ และออกแบบลายต่างๆกันเองครับ