Tag Archives: วิทย์ม.ต้น

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอย่าง, ออกแบบวงล้อภาพยนตร์

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Regression to the mean, Outcome bias, และ Paradox of choice ครับ

Regression to the mean หรือการถอยเข้าหาค่าเฉลี่ยคือปรากฏการณ์ที่เมื่อเราทำอะไรได้ผลดีมากๆหรือผลร้ายมากๆแล้ว เมื่อเราทำสิ่งเดียวกันอีกผลที่ได้มักจะไม่ดีเท่าหรือร้ายเท่า แต่จะใกล้ค่าเฉลี่ยปกติของเรามากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากสถิติและความน่าจะเป็นของผลลัพธ์สิ่งต่างๆที่มีส่วนขึ้นกับโชคและความผันผวนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่นถ้าวันนี้เราตีกอล์ฟได้ดีมากๆ วันต่อไปที่เราตีกอล์ฟมักจะไม่ได้ผลดีเท่าวันนี้ หรือความเข้าใจผิดที่ว่าการดุด่าได้ผลดีมากกว่าคำชมเพราะคนที่ถูกด่ามักจะทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อมา แต่คนที่ถูกชมมักจะทำได้ไม่ดีเท่าเดิม

Outcome bias คือการตัดสินขบวนการคิดและการตัดสินใจต่างๆว่าดีหรือไม่โดยดูจากผลที่เกิดขึ้นทั้งๆที่ผลลัพธ์อาจเป็นสิ่งที่ขึ้นกับโชคด้วย บางครั้งการตัดสินใจทำอะไรด้วยข้อมูลที่มีอยู่ตอนนั้นๆอย่างดีและระมัดระวังก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้เหมือนกันถ้าโชคไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าวิธีที่ใช้เป็นวิธีที่ไม่ควรใช้อีก ในทางกลับกันบางทีผลลัพธ์ที่ดีก็มาจากตัดสินใจแบบมั่วๆ ไม่ได้หมายความว่าเราจะมั่วแล้วสำเร็จได้อีก สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเองว่าเราคิดดีแล้วหรือเรากำลังมั่วอยู่

Paradox of choice คือการที่เราตัดสินใจอะไรได้ยากเพราะมีตัวเลือกเยอะเกินไป ยิ่งคนที่มีนิสัยต้องการสิ่งที่ดีที่สุดก็จะยิ่งตัดสินใจยากเพราะมีตัวเลือกให้เปรียบเทียบเยอะ คำแนะนำก็คือเมื่อเราต้องการจะเลือกอะไรบางอย่าง ให้เรากำหนดเกณฑ์ตัดสินและความสำคัญของแต่ละเกณฑ์ไว้ก่อนแล้วค่อยไปดูตัวเลือกต่างๆ ถ้าไปดูตัวเลือกก่อนอาจงงและตัดสินใจตามตัวเลือกแบบงงๆได้ เมื่อได้สิ่งที่ดีพอตามเกณฑ์ของเราแล้วก็พอใจได้ อย่าไปปวดหัวว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่า

จากนั้นเด็กๆก็ทำวงล้อภาพยนตร์ (Movie Wheel หรือ Phenakistiscope) กันครับ วิธีทำดังในคลิปครับ:

หลังจากรู้วิธีทำ เด็กๆก็แยกย้ายกันไปเล่น ประดิษฐ์ และออกแบบลายต่างๆกันเองครับ

วิทย์ม.ต้น: หัดจัดเรียงข้อมูล (sorting) ด้วย Python, หาคำที่มีสระ aeiou ครบ, หา Anagrams

วันนี้เด็กๆม.ต้นหัดใช้คำสั่ง sorted(…), sorted(…, reverse = True), sorted(…, key = …) ใน Python เพื่อจัดเรียงข้อมูลเป็นลำดับต่างๆตามที่ต้องการครับ

มีแบบฝึกหัดให้เด็กๆพยายามแก้ปัญหาครับ มีให้หาคำภาษาอังกฤษที่มีสระครบห้าตัว a, e, i, o, u

มีแบบฝึกหัดให้หาคำภาษาอังกฤษที่มีสระครบห้าตัวและเรียงกันด้วย

และมีแบบฝึกหัดให้หา anagrams หรือคำที่มีตัวสะกดเป็นอักษรชุดเดียวกันเช่น bat กับ tab หรือ colonialist กับ oscillation

ท่านสามารถกดดู notebook นี้ได้ที่ http://nbviewer.jupyter.org/urls/witpoko.com/wp-content/uploads/2018/12/จัดเรียงข้อมูล_sorting.ipynb

หรือดาวน์โหลดไปเล่นเองได้จาก https://witpoko.com/wp-content/uploads/2018/12/จัดเรียงข้อมูล_sorting.ipynb (ถ้ากดแล้วไม่โหลดให้กดเมาส์ขวา Save As… หรือ Download linked file… นะครับ) ถ้าจะเล่นเองต้องมีไฟล์คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่นถ้ามี macOS ไฟล์ก็จะอยู่ที่ /usr/share/dict/words ถ้าไม่มีก็สามารถไปหาได้ที่ https://github.com/dwyl/english-words/  หรือ http://wordlist.aspell.net/12dicts-readme/ เป็นต้นครับ

วิทย์ม.ต้น: สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แกล้งขโมย, Cognitive Biases สามอย่าง, เล่น StrandBeest, ม้วนกระดาษ A4 รับน้ำหนัก 50 กิโลกรัม

วันนี้เด็กๆประถมต้นได้ดูคลิปสิ่งประดิษฐ์สุดยอดไว้แกล้งขโมยครับ ในอเมริกาเวลามีพัสดุมาส่งที่บ้าน ถ้าไม่มีคนอยู่บ้าน พัสดุมักจะถูกวางไว้หน้าบ้าน ทำให้หายบ่อยๆ คุณ Mark Rober เลยประดิษฐ์กล่องวัสดุปลอมๆที่ข้างในติดกล้องไว้ถ่ายวิดีโอขโมย มี GPS รู้ว่าอยู่ที่ไหน มีจานหมุนปล่อยผง glitter (กากเพชร) ให้เลอะเทอะ และปล่อยกลิ่นตดทุก 30 วินาทีให้ขโมยเอากล่องไปทิ้งก่อนแกะดูครับ:

จากนั้นเราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Chauffeur Knowledge, Illusion of Control, และ Incentive Super-Response Tendency ครับ

Chauffeur knowledge คือระวังความรู้แบบจำๆมาแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่ได้มีความเข้าใจลึกซื้งจริงจังถึงเหตุผลต่างๆ ระวัง “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่พูดคล่องแคล่วแต่ไม่เชี่ยวชาญจริงๆ  ระวังคนที่เรียกตัวเองว่า “ด็อกเตอร์”, “อาจารย์”, “ซินแส”, “โค้ช” ฯลฯ ครับเพราะมักจะมีพวกที่มีความรู้แบบ chauffeur knowledge เยอะ ระวังตัวเราเองว่าเรารู้เรื่องอะไรดีแค่ไหน เรื่องไหนเราไม่รู้

Illusion of control คือการที่เราคิดว่าเราสามารถบังคับเหตุการณ์ต่างๆรอบตัวได้มากกว่าที่เราทำได้จริงๆ ดังเช่นนิทานที่ไก่เข้าใจผิดว่าดวงอาทิตย์ขึ้นเพราะมันขันครับ เราควรจะรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้แล้วโฟกัสความสามารถของเราทำสิ่งเหล่านั้นให้ชีวิตดีขี้น ไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ครับ สำหรับเด็กๆก็ควรฝึกวิชา ฝึกคิด ฝึกทำเยอะๆให้ตัวเองมีฝีมือครับ

Incentive super-response tendency คือต้องระวังการตั้งแรงจูงใจให้ดี คนมักจะทำเพื่อแรงจูงใจหรือมาตรวัดต่างๆแล้วบางทีลืมถึงเหตุผลที่มีระบบสร้างแรงจูงใจหรือมาตรวัดแบบนั้นๆตั้งแต่ต้น เช่นระบบการศึกษาไทยอยากให้มีคุณภาพเลยสร้างวิธีวัดวิธีสอบต่างๆจนนักเรียนไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรที่สำคัญครับ หรือการจ้างงานเป็นชั่วโมงทำให้งานยืดเยื้อไม่ยอมเสร็จ

จากนั้นเด็กๆก็ได้รู้จักสิ่งประดิษฐ์/งานศิลปะโดยคุณ Theo Jansen ที่เรียกว่า Strandbeest  (เป็นภาษา Dutch แปลว่า Beach Animal ในภาษาอังกฤษ )

มีของเล่นเป็นชุด kit ที่เราเอามาต่อเล่นเองได้ดังในคลิปนี้ครับ:

วันนี้เด็กๆเลยสังเกตการทำงานและเล่นของเล่น Strandbeest ครับ:

จากนั้นเด็กๆลองทดลองม้วนกระดาษ A4 ให้เป็นทรงกระบอกแล้วรับน้ำหนักกันครับ วิธีทำเป็นประมาณนี้:

เด็กๆผลัดกันเอาหนังสือมาวางทับท่อกระดาษ ดูว่ารับน้ำหนักได้แค่ไหนครับ อันแรกใช้ท่อกระดาษ 4 อัน รับน้ำหนักได้ประมาณ 11 กิโลกรัมก่อนที่จะล้ม:

เด็กๆช่วยกันทำท่อ 21 อัน แล้วลองรับน้ำหนักดูครับ: