Category Archives: science class

วิทย์ม.ต้น: เว็บฝึกพิมพ์, หัดเล่น Scratch

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. รู้จักเว็บฝึกพิมพ์ดีดเพื่อจะได้ฝึกพิมพ์สัมผัสได้เร็วๆ มีเว็บ Nitro Type และ ZType

2. ทำความรู้จักเขียนโปรแกรมด้วย Scratch กันครับ ผมให้เด็กๆสร้างบัญชีผู้ใช้สำหรับตนเอง โปรแกรมต่างๆที่สร้างจะได้ไม่หายไปไหน  ผมให้การบ้านไปทำตาม Tutorial ของเขาให้มากๆ จะได้เห็นตัวอย่างว่าทำอะไรได้บ้างอย่างไร

3. มีแนะนำเป็นภาษาไทยที่ https://kru-it.com/computing-science-m2/scratch-review/ และที่ สอนเด็กให้คิด สอนศิษย์ให้ Scratch

4. ถ้าอยากดูคลิปหัดใช้ Scratch เป็นภาษาไทย ลองดูรายการเหล่านี้ดูได้ครับ
https://www.youtube.com/playlist?list=PLrLWP63aYwvuuHErsmuWNqpuvTPzKqxHr
และ
https://www.youtube.com/playlist?list=PLrLWP63aYwvtM7i6ZR1X9p3K5dl7T8_2A

วิทย์ประถม: กาลักน้ำ, ชักโครกเป็นกาลักน้ำแบบหนึ่ง, วิทย์อนุบาลสาม: เสียง, การสั่นสะเทือน, ปี่หลอดกาแฟ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมและเด็กอนุบาลสามอนุบาลบ้านพลอยภูมิมาครับ เด็กประถมได้เรียนรู้เกี่ยวกับกาลักน้ำ เด็กอนุบาลได้ประดิษฐ์ของเล่นปี่หลอด

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมประถมอยู่ที่นี่ กิจกรรมอนุบาลสามอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเขย่าขาผูกเชือกรองเท้าครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ผมคุยกับเด็กประถมเรื่อง “กาลักน้ำ” (Siphon) ซึ่งเป็นวิธีถ่ายเทของเหลวจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำโดยอาศัยน้ำหนักของน้ำ ความดัน และแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำครับ คลิปอธิบายเด็กๆอยู่นี่ครับ:

จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูแบบจำลองการทำงานของชักโครกที่เมื่อน้ำสูงถึงระดับหนึ่งแล้วจะไหลออกไปจนต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ครับ เป็นหลักการแบบกาลักน้ำนั่นเอง:

ผู้สนใจสามารถไปดูภาพการทำงานของชักโครกได้ในคลิปนี้นะครับ:

จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันทำกาลักน้ำเล่นกันครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับเสียงครับ ให้เด็กๆจับคอตัวเองไว้ขณะที่พูด เด็กๆจะรู้สึกว่าคอสั่นๆซึ่งก็คือการสั่นของอวัยวะที่เรียกว่ากล่องเสียงที่ทำให้เราสามารถพูดได้นั่นเอง ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าเวลามีอะไรสั่นๆในคอเราเนี่ย อากาศในปากก็จะสั่นตาม แล้วอากาศก็สั่นตามกันมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเข้าหูเรา แล้วเราก็จะได้ยินเป็นเสียง

แล้วก็ถึงช่วงเวลาสำคัญคือของเล่น ผมสอนเด็กๆให้ทำของเล่นปี่หลอดกาแฟครับ วิธีทำก็คือเอาหลอดกาแฟมากดๆให้ปลายข้างหนึ่งแบนๆ แล้วตัดปลายข้างนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วเอาปากเม้มปลายนั้นเข้าปาก แล้วเป่าเป็นเสียงแตร ถ้าหลอดอ่อนๆหน่อย (เช่นพวกหลอดตรง ราคาถูกๆ) ก็จะเป่าให้ดังได้ง่าย ถ้าหลอดแข็ง (เช่นพวกหลอดงอได้ ราคาแพงกว่า) ก็จะเป่าให้ดังยากกว่า เวลาที่เราเป่าส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมที่อยู่ในปากเราจะสั่นไปมาทำให้เกิดเสียง ถ้าเราตัดหลอดให้มีความยาวต่างๆกัน เสียงที่ได้ก็จะสูงต่ำต่างกันด้วย ดูวิดีโอวิธีทำได้ครับ:

ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ในช่องเด็กจิ๋ว&ดร.โก้ด้วยครับ:

พอเด็กๆได้เห็นวิธีทำก็มารับหลอดไปคนละหลอดแล้วแยกย้ายกันไปทำเองครับ เป่ากันอย่างสนุกสนานและหนวกหูดีมาก ขณะที่เด็กๆทำปี่ของตัวเองผมก็หยิบถุงพลาสติกมาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าตรงขอบพลาสติกบางๆนั้นเป็นเสียงเหมือนนกหวีดครับ เราสามารถใช้อะไรบางๆก็ได้เช่นกระดาษ ใบไม้ ถุงพลาสติก เอามาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าที่ขอบ มันจะสั่นเป็นเสียงสูงๆ ต้องลองเล่นดูครับ ลองเป่าวัสดุหลายๆอย่างดู

วิทย์ม.ต้น: ความสวยความหล่อ, วิวัฒนาการ, กาลักน้ำแบบเริ่มไหลเอง

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ความสวยความหล่อมาจากไหน ความสวยความหล่อในแต่ละสปีชีส์มีความแตกต่างกัน ในหลายๆกรณีอาจจะเป็นวิธีให้คะแนนอย่างรวดเร็วเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความสามารถในการแพร่พันธุ์ เป็นเหตุผลในเชิงวิวัฒนาการ (กดดูบันทึกที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการที่เคยบันทึกไปแล้วที่นี่ครับ)

2. บางครั้งความสวยความหล่อในสิ่งมีชีวิตต่างๆก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรไปมากกว่าเป็นสิ่งที่เพศตรงข้ามชอบ บางครั้งความสวยความหล่ออาจทำให้ตายง่ายขึ้นด้วย (เช่นหางขนาดใหญ่นกยูงตัวผู้, เขาขนาดใหญ่ของกวาง) แต่ถ้ามันช่วยให้สามารถผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นเพราะเพศตรงข้ามชอบ มันก็อาจจะมีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ ขบวนการนี้เรียกว่า Sexual Selection:

3. เด็กๆลองอ่านอันนี้ดูครับ: วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง

4. ทำไมผู้ชายจึงมักเจ้าชู้ชอบผู้หญิงสวยๆ แต่ผู้หญิงมักให้น้ำหนักความหล่อน้อยกว่าความมั่นคง? อาจจะอธิบายได้ด้วยทรัพยากรที่ต้องใช้ในการมีลูก ผู้ชายสามารถมีลูกได้โดยมีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียว แต่ผู้หญิงต้องลงทุนลงแรงในการตั้งท้อง เสี่ยงชีวิตคลอด และเลี้ยงลูก ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวังมากกว่าผู้ชาย

5. ในมุมมองหนึ่ง (Selfish gene หรือ Gene-centered view of evolution) สิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นเครื่องจักรกล (survival machines) ที่ทำสำเนาและแพร่จำนวนชิ้นของข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ในสารพันธุกรรม มุมมองนี้อธิบายเรื่องต่างๆเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตได้มากมาย ถ้าเด็กๆสนใจลองศึกษาเพิ่มเติมดูครับ เช่นคลิปเหล่านี้:

6. เรามักจะคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตด้วยเหตุผล แต่จริงๆแล้วการตัดสินใจส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันจะอาศัยสัญชาติญาณ, อารมณ์, และความรู้สึกมากกว่าที่เราคิด การตัดสินใจด้วยเหตุผลใช้เวลาและพลังงานมาก อาจไม่ทันการในการใช้ชีวิตรอด ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติจึงคัดเลือกการตัดสินใจอย่างรวดเร็วด้วยสัญชาติญาณ, อารมณ์, ความรู้สึกที่ใช้เวลาน้อยกว่าแบบใช้เหตุผลมาก การดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันต้องผสมการตัดสินใจแบบต่างๆสำหรับสถานการณ์ที่ต่างๆกันไป แต่ปัญหาที่ซับซ้อนควรคิดช้าๆด้วยเหตุผล

7. เวลาที่เหลือเราเล่นกาลักน้ำกันครับ เด็กๆประดิษฐ์แบบจำลองชักโครก และกาลักน้ำแบบเริ่มไหลเอง คลิปวิธีทำต่างๆอยู่นี่ครับ:

8. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

วันนี้เด็กม.ต้นหัดทำกาลักน้ำแบบต่างๆ รวมถึงแบบจำลองชักโครก และแบบเริ่มไหลเองได้โดยการจุ่มครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Wednesday, September 9, 2020