Category Archives: มัธยม

วิทย์ม.ต้น: เว็บฝึกพิมพ์, หัดเล่น Scratch

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. รู้จักเว็บฝึกพิมพ์ดีดเพื่อจะได้ฝึกพิมพ์สัมผัสได้เร็วๆ มีเว็บ Nitro Type และ ZType

2. ทำความรู้จักเขียนโปรแกรมด้วย Scratch กันครับ ผมให้เด็กๆสร้างบัญชีผู้ใช้สำหรับตนเอง โปรแกรมต่างๆที่สร้างจะได้ไม่หายไปไหน  ผมให้การบ้านไปทำตาม Tutorial ของเขาให้มากๆ จะได้เห็นตัวอย่างว่าทำอะไรได้บ้างอย่างไร

3. มีแนะนำเป็นภาษาไทยที่ https://kru-it.com/computing-science-m2/scratch-review/ และที่ สอนเด็กให้คิด สอนศิษย์ให้ Scratch

4. ถ้าอยากดูคลิปหัดใช้ Scratch เป็นภาษาไทย ลองดูรายการเหล่านี้ดูได้ครับ
https://www.youtube.com/playlist?list=PLrLWP63aYwvuuHErsmuWNqpuvTPzKqxHr
และ
https://www.youtube.com/playlist?list=PLrLWP63aYwvtM7i6ZR1X9p3K5dl7T8_2A

วิทย์ม.ต้น: ความสวยความหล่อ, วิวัฒนาการ, กาลักน้ำแบบเริ่มไหลเอง

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ความสวยความหล่อมาจากไหน ความสวยความหล่อในแต่ละสปีชีส์มีความแตกต่างกัน ในหลายๆกรณีอาจจะเป็นวิธีให้คะแนนอย่างรวดเร็วเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความสามารถในการแพร่พันธุ์ เป็นเหตุผลในเชิงวิวัฒนาการ (กดดูบันทึกที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการที่เคยบันทึกไปแล้วที่นี่ครับ)

2. บางครั้งความสวยความหล่อในสิ่งมีชีวิตต่างๆก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรไปมากกว่าเป็นสิ่งที่เพศตรงข้ามชอบ บางครั้งความสวยความหล่ออาจทำให้ตายง่ายขึ้นด้วย (เช่นหางขนาดใหญ่นกยูงตัวผู้, เขาขนาดใหญ่ของกวาง) แต่ถ้ามันช่วยให้สามารถผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นเพราะเพศตรงข้ามชอบ มันก็อาจจะมีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ ขบวนการนี้เรียกว่า Sexual Selection:

3. เด็กๆลองอ่านอันนี้ดูครับ: วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง

4. ทำไมผู้ชายจึงมักเจ้าชู้ชอบผู้หญิงสวยๆ แต่ผู้หญิงมักให้น้ำหนักความหล่อน้อยกว่าความมั่นคง? อาจจะอธิบายได้ด้วยทรัพยากรที่ต้องใช้ในการมีลูก ผู้ชายสามารถมีลูกได้โดยมีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียว แต่ผู้หญิงต้องลงทุนลงแรงในการตั้งท้อง เสี่ยงชีวิตคลอด และเลี้ยงลูก ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวังมากกว่าผู้ชาย

5. ในมุมมองหนึ่ง (Selfish gene หรือ Gene-centered view of evolution) สิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นเครื่องจักรกล (survival machines) ที่ทำสำเนาและแพร่จำนวนชิ้นของข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ในสารพันธุกรรม มุมมองนี้อธิบายเรื่องต่างๆเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตได้มากมาย ถ้าเด็กๆสนใจลองศึกษาเพิ่มเติมดูครับ เช่นคลิปเหล่านี้:

6. เรามักจะคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตด้วยเหตุผล แต่จริงๆแล้วการตัดสินใจส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันจะอาศัยสัญชาติญาณ, อารมณ์, และความรู้สึกมากกว่าที่เราคิด การตัดสินใจด้วยเหตุผลใช้เวลาและพลังงานมาก อาจไม่ทันการในการใช้ชีวิตรอด ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติจึงคัดเลือกการตัดสินใจอย่างรวดเร็วด้วยสัญชาติญาณ, อารมณ์, ความรู้สึกที่ใช้เวลาน้อยกว่าแบบใช้เหตุผลมาก การดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันต้องผสมการตัดสินใจแบบต่างๆสำหรับสถานการณ์ที่ต่างๆกันไป แต่ปัญหาที่ซับซ้อนควรคิดช้าๆด้วยเหตุผล

7. เวลาที่เหลือเราเล่นกาลักน้ำกันครับ เด็กๆประดิษฐ์แบบจำลองชักโครก และกาลักน้ำแบบเริ่มไหลเอง คลิปวิธีทำต่างๆอยู่นี่ครับ:

8. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

วันนี้เด็กม.ต้นหัดทำกาลักน้ำแบบต่างๆ รวมถึงแบบจำลองชักโครก และแบบเริ่มไหลเองได้โดยการจุ่มครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Wednesday, September 9, 2020

วิทย์ม.ต้น: ล็อตเตอรี่, พิธีกรรม(และความงมงาย)ในคนและนกพิราบ, คำนวณและทดลองแม่แรงไฮดรอลิกส์หลอดฉีดยา

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ

1. เมื่อวานล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ออกเลข 999997 ทำให้คนพูดคุยตื่นเต้นกันว่าเลขมันดูสวยผิดปกติ บางคนคิดไปถึงว่ามีการล็อคเลข วันนี้เราเลยคุยกันว่าเราตื่นเต้นเพราะเราเห็นว่าเลขมันดู “สวย” มากกว่า แต่จริงๆแล้วเลขหกหลักแต่ละตัวก็ออกมายากเท่าๆกัน เพียงแต่ว่าเลขอื่นเราคิดว่ามันไม่ “สวย” เท่านั้นเอง

2. มีลิงก์สองอันแนะนำให้เด็กๆไปอ่านดูครับ:

อะไรคือตัวเลข “สุ่ม”? ลองนึกตัวเลขโดยสุ่มขึ้นมาหกหลัก มีใครบ้างที่คิดว่าตัวเลขนั้นจะออก 999997? คงจะไม่มี…

Posted by มติพล ตั้งมติธรรม on Tuesday, September 1, 2020

และที่นี่:

“มีโอกาสเท่าไรที่รางวัลที่ 1 จะออกเลข 999997” . น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจใครหลาย ๆ คนในวันนี้ . ประการแรก…

Posted by คณิตศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น on Tuesday, September 1, 2020

3. ให้เด็กๆเข้าใจว่าโอกาสหนึ่งในล้านที่จะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 มันยากแค่ไหนโดยให้เด็กๆเข้าใจว่าถ้าเอาแบ็งค์ร้อยหนึ่งล้านใบไปปูสนามฟุตบอลได้พอดีๆ จะมีใบเดียวเท่านั้นที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง อีกอย่างคือให้เคาะโต๊ะวินาทีละครั้ง ถ้าจะเคาะให้ครบล้านครั้งแบบไม่หลับไม่นอนไม่หยุดพักจะต้องเคาะไป 11 วันกว่าๆ (ถ้าเคาะแค่ 8 ชั่วโมงต่อวันก็ต้องเคาะไปเดือนนิดๆ)

4. ล็อตเตอรี่ประเทศไทยจ่ายรางวัลคืนมาประมาณ 60% เท่านั้น แสดงว่าเราไม่ควรหวังว่าเราจะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่เราซื้อล็อตเตอรี่ ไม่ควรหวังรวยจากการนี้ แต่ถ้าซื้อเพราะมีความสุขได้ลุ้นก็ถือว่าเป็นการจ่ายเงินซื้อความสุขไป แต่อย่าลืมตัวคาดว่าจะรวยเพราะซื้อล็อตเตอรี่

5. เราคิดว่าการรวยจากล็อตเตอรี่ง่ายหรือเกิดบ่อยกว่าที่เป็นจริงๆเพราะว่าเราจะได้ยินข่าวคนที่ถูกรางวัลแล้วรวยเท่านั้น เราจะไม่ค่อยคิดถึงคนหลายแสนคนแต่ละงวดที่ไม่ถูกรางวัล

6. เราคุยกันเรื่องพิธีกรรมและความงมงายเกิดขึ้นได้อย่างไร สรุปคือสมองเราพยายามเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ หลายๆครั้งจะทำงานผิดพลาด เชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันหรือที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเข้าด้วยกันได้ เช่นถ้าสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเมื่อเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งสิ่งนั้นๆ เช่นใส่เสื้อตัวหนึ่ง เราก็อาจคิดว่าเสื้อตัวนั้นเป็นเสื้อโชคดีของเรา หรือเราไหว้บูชาอะไรบางอย่างแล้วมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นเราก็อาจคิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธ์ดลบันดาลให้เรา

7. ความสามารถของสมองในการเชื่อมโยงเรื่องต่างๆนี้มีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ การพยายามหารูปแบบเชื่อมโยงมีประโยชน์ในการเรียนรู้ต่างๆ แต่ถ้าทำมากไปและไม่ตรวจสอบก็อาจเกิดโทษได้

8. มีการทดลองเรื่องพิธีกรรมในนกพิราบเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์มีเครื่องให้อาหารนก โดยเครื่องจะให้อาหารที่เวลาสุ่มๆ ไม่แน่นอน ถ้าอาหารออกมาตอนนกทำพฤติกรรมอะไรบางอย่างอยู่ นกตัวนั้นก็มักจะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ซึ่งมันอาจจะคิดว่านำอาหารมาให้มันก็ได้เหมือนเป็นพิธีกรรมหรือความงมงายของมัน (พฤติกรรมที่นกทำมีหลายแบบในแต่ละตัวเช่นหมุนตัวในทิศทางต่างๆ จิกสิ่งต่างๆ ยกหัวขึ้นลง) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่หรือที่นี่นะครับ

9. วันนี้เด็กๆรู้จักและเล่นเครื่องทุ่นแรงไฮดรอลิกส์ทำจากหลอดฉีดยาครับ วิธีทำและบรรยากาศการทดลองอยู่ในคลิปและอัลบั้มด้านล่างครับ:

วันนี้เด็กๆม.ต้นได้รู้จักและเล่นเครื่องทุ่นแรงไฮดรอลิกส์ทำจากหลอดฉีดยาครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, September 1, 2020

10. แนะนำให้เด็กๆดูคลิปเครื่องอัดไฮดรอลิกส์บีบอัดของต่างๆครับ: