Category Archives: ภาษาไทย

คุยกันเรื่องเสียงต่อ การชนและ Crash Test ทำปี่จากหลอดกาแฟ

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ฟังเสียงสูงๆ ฟังเสียงด้วยหูหนึ่งและสองข้าง ทดลองและออกแบบปืนแม่เหล็ก และกลในร่างกาย” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กอนุบาลได้ทำปี่จากหลอดกาแฟ ได้รู้วิธีใช้ถุงพลาสติกเป็นนกหวีด และนั่ง skateboard กัน เด็กประถมต้นได้คุยกันเรื่องหูและเสียงต่อ ได้รู้จักช่วงความถี่ของเสียงที่สัตว์ต่างๆฟังได้ ได้ดูเครื่องทำความสะอาดด้วยเสียงความถี่สูง (Ultrasonic cleaner) ส่วนเด็กประถมปลายได้คุยกันเรื่องการชนแบบยืดหยุ่นและไม่ยืดหยุ่น ได้ดูวิดีโอการทดสอบการชนของรถ ได้รู้จักกระจกนิรภัยที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆที่ไม่ค่อยคม และของเล่นที่เรียกว่า Prince Rupert’s Drop ที่เกิดจากหยดแก้วเหลวร้อนๆทำให้เย็นอย่างรวดเร็วในน้ำ ทำให้เนื้อแก้วมีความแข็งแรงแต่จะระเบิดเป็นผงถ้ามีรอยแตกนิดเดียว

สำหรับเด็กๆอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมสอนให้ทำของเล่นปี่หลอดกาแฟครับ วิธีทำก็คือเอาหลอดกาแฟมากดๆให้ปลายข้างหนึ่งแบนๆ แล้วตัดปลายข้างนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วเอาปากเม้มปลายนั้นเข้าปาก แล้วเป่าเป็นเสียงแตร ถ้าหลอดอ่อนๆหน่อย (เช่นพวกหลอดตรง ราคาถูกๆ) ก็จะเป่าให้ดังได้ง่าย ถ้าหลอดแข็ง (เช่นพวกหลอดงอได้ ราคาแพงกว่า) ก็จะเป่าให้ดังยากกว่า เวลาที่เราเป่าส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมที่อยู่ในปากเราจะสั่นไปมาทำให้เกิดเสียง ถ้าเราตัดหลอดให้มีความยาวต่างๆกัน เสียงที่ได้ก็จะสูงต่ำต่างกันด้วย ดูวิดีโอวิธีทำได้ครับ:

พอเด็กๆได้เห็นวิธีทำก็มารับหลอดไปคนละหลอดแล้วแยกย้ายกันไปทำเองครับ เป่ากันอย่างสนุกสนานและหนวกหูดีมาก ขณะที่เด็กๆทำปี่ของตัวเองผมก็หยิบถุงพลาสติกมาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าตรงขอบพลาสติกบางๆนั้นเป็นเสียงเหมือนนกหวีดครับ เราสามารถใช้อะไรบางๆก็ได้เช่นกระดาษ ใบไม้ ถุงพลาสติก เอามาดึงให้ตึงๆแล้วเป่าที่ขอบ มันจะสั่นเป็นเสียงสูงๆ ต้องลองเล่นดูครับ ลองเป่าวัสดุหลายๆอย่างดู Continue reading คุยกันเรื่องเสียงต่อ การชนและ Crash Test ทำปี่จากหลอดกาแฟ

ฟังเสียงสูงๆ ฟังเสียงด้วยหูหนึ่งและสองข้าง ทดลองและออกแบบปืนแม่เหล็ก และกลในร่างกาย

 

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ดูวิดีโอเปิดโปงการหลอกลวงชาวบ้าน ดู Leidenfrost Effect คุยกันเรื่องโมเมนตัมและกฎของนิวตัน และเล่นเรือป๊อกแป๊กกัน” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้สำหรับเด็กประถมต้น เราได้ฟังเสียงสูงๆว่าเด็กๆฟังได้กี่ Hz และผู้ใหญ่ฟังได้กี่ Hz เด็กๆได้ฟังเสียงจากการอัดแบบ holophonic ด้วยหูฟังเพื่อสังเกตุว่าเราใช้หูสองข้างบอกทิศทางว่าเสียงมาจากไหนได้ เด็กประถมปลายได้ประดิษฐ์ Gaussian Gun ด้วยลูกเหล็กและแม่เหล็กขนาดต่างๆรวมถึงลูก BB พลาสติก เพื่อยิงให้ไกลๆและยิงเป้าให้โดน สำหรับเด็กอนุบาล เด็กๆได้เล่นกลต่างๆที่เกี่ยวกับร่างกาย คือกลขมวดมือ นิ้วไส้กรอก และจับแบงค์ที่ร่วงผ่านมือครับ

 สำหรับเด็กประถมต้น เรามาฟังเสียงความถี่สูงๆกันครับว่าฟังได้ถึงความถี่เท่าไร ก่อนอื่นผมก็ถามทบทวนเด็กๆก่อนว่าเวลาอะไรสั่นทำให้เกิดเสียงเนี่ย ถ้าสั่นเร็วๆถึ่ๆจะเป็นเสียงสูงหรือต่ำ เด็กๆก็บอกว่าเป็นเสียงสูง จากนั้นเราก็มาฟังเสียงจากวิดีโอคลิปนี้ครับ (ตอนฟังให้เลือกขนาดความละเอียดภาพเป็นแบบ 1080p จากปุ่มที่เป็นรูปเฟืองด้านขวาล่างของวิดีโอนะครับ จะได้เสียงมาครบกว่าแบบอื่น):

ปรากฏว่าเด็กๆฟังได้ถึงความถี่สูงๆ 18,000 Hz เลย (ความถี่ 19,000 Hz หายไปจากการประมวลผลของ YouTube ครับ) สำหรับผมซึ่งอายุสี่สิบกว่าๆแล้ว ฟังได้ถึง 12,000 Hz แต่ไม่ได้ยินตั้งแต่ 15,000 Hz ขึ้นไปครับ

จากนั้นเราก็มาคุยกันเรื่องสาเหตุว่าทำไมเด็กๆถึงได้ยินเสียงความถี่สูงๆกว่าผู้ใหญ่แก่ๆได้ Continue reading ฟังเสียงสูงๆ ฟังเสียงด้วยหูหนึ่งและสองข้าง ทดลองและออกแบบปืนแม่เหล็ก และกลในร่างกาย

ดูวิดีโอเปิดโปงการหลอกลวงชาวบ้าน ดู Leidenfrost Effect คุยกันเรื่องโมเมนตัมและกฎของนิวตัน และเล่นเรือป๊อกแป๊กกัน

 

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ทดลองเอาน้ำและน้ำมันพืชใส่เตาไมโครเวฟ และเริ่มทดลองเรื่องโมเมนตัม” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ (กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์นติดธุระเลยไม่ได้มาวันนี้ครับ) วันนี้เด็กอนุบาลสามได้ดูของเล่นเรือป๊อกแป๊ก เด็กประถมทั้งต้นและปลายได้ดูวิดีโอคลิปว่าผู้วิเศษหลอกลวงชาวบ้านอย่างไร ได้ดูการทดลองที่เอามือเปียกจุ่มไปในตะกั่วเหลวที่ร้อนมากๆแต่ไม่เป็นอันตรายเพราะไอน้ำทำตัวเป็นฉนวนความร้อนป้องกันมือตามปรากฏการณ์ Leidenfrost Effect เด็กประถมปลายได้เริ่มเรียนเรื่องปริมาณการเคลื่อนที่ (โมเมนตัม) และกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันครับ

สำหรับเด็กประถม ก่อนอื่นผมถามว่าใครเล่นเป่ายิงฉุบไม่เคยแพ้บ้าง แล้วให้เด็กๆลองเป่ายิงฉุบกัน ปรากฏว่าไม่มีใครชนะตลอด ผมเลยบอกว่าแต่จริงๆมีหุ่นยนต์ที่เป่ายิงฉุบไม่เคยแพ้ดังในคลิปนี้:

วิธีทำก็คือหุ่นยนต์โกงครับ มันมีกล้องที่มองว่ามือคนออกมาเป็นแบบไหนแล้วมันสามารถสั่งการให้มือของมันทำงานในหนึ่งส่วนพันวินาทีต่อมา (หรือเร็วกว่าคนกระพริบตาเป็นสองสามร้อยเท่า) คนจึงแพ้ตลอด เด็กชายธีธัชถามว่าถ้าเอาหุ่นยนต์แบบนี้สองตัวมาสู้กันใครจะชนะ ผมบอกว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน มันอาจจะออกเป็นค้อนตลอดก็ได้ Continue reading ดูวิดีโอเปิดโปงการหลอกลวงชาวบ้าน ดู Leidenfrost Effect คุยกันเรื่องโมเมนตัมและกฎของนิวตัน และเล่นเรือป๊อกแป๊กกัน