Category Archives: สอนเด็กๆ

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอย่าง, ประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศแบบง่ายๆ

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Groupthink, Neglect of Probability, และ Scarcity Error

Groupthink คือการตัดสินใจตามๆกัน อาจเป็นเพราะไม่อยากขัดเสียงส่วนใหญ่ หรือคิดว่าคนอื่นๆคิดดีแล้วเราขี้เกียจคิดก็ตัดสินใจตามๆเขา ในการประชุมใดๆก็ตามถ้ามีการตัดสินใจแบบเหมือนกันหมดให้ระวังและพยายามหาเหตุผลและข้อมูลมาแย้งว่ามีอะไรบ้างด้วย

Neglect of probability คือการที่คนเรากะประมาณความน่าจะเป็นต่างๆไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้ประมาณความเสี่ยงต่างๆผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่นเราไม่เข้าใจโอกาสถูกล็อตเตอรี่ต่างๆ หรือไม่สามารถแยกได้ระหว่างความน่าจะเป็น 1/หมื่น 1/ล้าน 1/100ล้าน ฯลฯ

Scarcity error คือการที่เราให้มูลค่ากับของที่มีจำกัดมากกว่าความเป็นจริง จะพบเห็นบ่อยๆตามร้านค้าหรือเว็บขายของที่บอกว่าของมีจำนวนจำกัด หรือซื้อได้จำกัดจำนวนชิ้น หรือลดราคาถึงวันที่…เท่านั้น หรือการที่คนยินดีจ่ายเงินมากๆกับของที่มีจำกัดทั้งๆที่บางทีของนั้นๆไม่ได้ดีกว่าแบบอื่นๆที่มีจำนวนมากกว่า

จากนั้นผมเล่าเรื่องไส้กรองอากาศ HEPA ให้เด็กๆฟัง แล้วเด็กๆก็ช่วยกันประกอบเครื่องฟอกอากาศแบบง่ายๆที่เอาพัดลมและไส้กรองอากาศมาต่อกัน ทำตามแบบที่ผมทดลองทำแบบนี้ครับ ผมเคยทดลองสำหรับห้องปิด 30 ตารางเมตรต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงที่จะลด PM 2.5 จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็น 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีพัดลมปกติอีกตัวเป่าลมผ่านหน้าเครื่องกรองให้อากาศไหลเวียนเยอะๆ:

วิทย์ม.ต้น: หัดใช้ Pillow ใน Python เพื่อจัดการภาพ

วันศุกร์ที่ผ่านมาผมแนะนำให้เด็กๆรู้จัก Pillow ซึ่งมีความสามารถในการจัดการรูปภาพและใช้ได้ง่ายๆจาก Python ถ้าติดตั้ง Anaconda Python แบบที่เด็กๆติดตั้งก็จะสามารถเรียกใช้ได้เลย ไม่อย่างนั้นต้องไปโหลดที่ https://python-pillow.org

เด็กๆหัดใช้ Pillow ตามหนังสือ Automate the Boring Stuff with Python บทที่ 17 หัดเปิดภาพ และพิมพ์คำสั่งต่างๆตามหนังสือ

ผมใช้ Pillow ทำโปรแกรมตัวอย่างทำภาพอนิเมชั่น อย่างที่เด็กๆได้เล่นและหัดอธิบายการทำงานไปเมื่อวันพุธ โดยโปรแกรมจะจัดเรียงส่วนต่างๆของภาพ 6 ภาพมาต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ถูกต้อง

หน้าตาโปรแกรมส่วนจัดขนาดให้เหมาะสมเป็นอย่างนี้ครับ:

ส่วนที่เอาภาพหลายๆภาพมาหั่นเป็นชิ้นๆแล้วต่อกันให้ถูกต้องเหมาะที่เป็นอนิเมชั่นหน้าตาแบบนี้ครับ:

ตัวอย่างการเรียกใช้ให้จัดการภาพ 6 ภาพ (1.JPG, 2.JPG, 3.JPG, 4.JPG, 5.JPG, 6.JPG) ให้มารวมกันเป็นภาพเดียว (result3.JPG) ทำแบบนี้ครับ:

สามารถโหลด Jupyter notebook ที่มีโปรแกรมเหล่านี้ได้ที่นี่ครับ

ภาพยนตร์ทางม้าลาย, เล่นไฟฟ้าสถิต

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้พยายามอธิบายมายากลเป็นการฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์ ได้เล่นภาพเคลื่อนไหวที่เกิดจากการลากแผ่นใสลายๆเหมือนม้าลายเหนือลวดลายบนกระดาษ เด็กประถมปลายได้หัดคิดอธิบายว่ามันทำงานได้อย่างไร เด็กๆอนุบาลสามได้เล่นไฟฟ้าสถิตเอาหลอดพลาสติกดูดเม็ดโฟม และใช้มือดูดหลอด และใช้หลอดผลักหลอดครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ภาพยนตร์ทำงานอย่างไร วงล้อภาพยนตร์ จรวดหลอดฉีดยา” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือเดินทะลุกำแพงครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

จากนั้นเด็กๆก็เล่นภาพเคลื่อนไหวบนกระดาษโดยเอาแผ่นใสพลาสติกที่มีลายดำพาดเหมือนทางม้าลายลากไปบนแผ่นกระดาษที่พิมพ์ลวดลายไว้ ทำให้ดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวครับ:

เด็กประถมต้นเล่นอย่างเดียวแต่ก็มีบางคนสามารถอธิบายการทำงานของเล่นอันนี้ได้ เด็กประถมปลายเล่นและสังเกตแล้วอธิบายวิธีทำงานครับ หลักการก็คือใช้แถบดำบนแผ่นใสบังภาพที่เราไม่ต้องการเห็น ให้เห็นเฉพาะภาพที่มองผ่านแถบใสบนแผ่นใสได้ ถ้าเอาภาพหลายๆอันมาแล้วซอยเป็นคอลัมน์เล็กๆแล้วเลือกคอลัมน์ที่เหมาะสมจากภาพแต่ละอันมาเรียงกันเวลาเอาแผ่นดำทาบลงไปเราก็จะเห็นทีละภาพเท่านั้น เมื่อเลื่อนแผ่นใสเราก็จะเห็นทีละภาพติดต่อกันด้วยความเร็ว แล้วสมองเราก็จะเชื่อมโยงภาพทั้งหมดให้เป็นการเคลื่อนไหว

ผมเอาแบบสำหรับพิมพ์บนกระดาษและบนแผ่นใสมาจากวิดีโอนี้ครับ โดยคุณ brusspup:

มีวิธีทำด้วยโปรแกรมวาดภาพแบบนี้ครับ:

ผมกำลังจะสอนเด็กมัธยมต้นเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมภาษา Python เพื่อรวมรูปหลายๆรูปเข้าด้วยกันเป็นภาพเคลื่อนไหวประเภทนี้ครับ แล้วจะมาบันทึกว่าเป็นอย่างไรบ้างในอนาคตอันใกล้ครับ (เพิ่มเติม: ดูโปรแกรมสร้างภาพแบบนี้ที่ วิทย์ม.ต้น: หัดใช้ PILLOW ใน PYTHON เพื่อจัดการภาพ นะครับ)

เด็กอนุบาลสามก็ได้หัดเล่นกลจากไฟฟ้าสถิตสามอย่างคือใช้มือดูดหลอดกาแฟ ใช้หลอดกาแฟดูดเม็ดโฟม และใช้หลอดกาแฟผลักกันครับ ผมเคยอัดวิดีโอวิธีทำไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

หลังจากผมสอนวิธีทำแล้วเด็กๆก็หัดทำกันเองครับ: