Category Archives: มัธยม

Cognitive Biases สามอย่าง, ต่อแม่แรงด้วยหลอดฉีดยา

วันนี้เด็กๆมัธยมต้นพวกคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Story Bias, Hindsight Bias, และ Overconfidence Effect ครับ

Story bias หรือ narrative bias คือการที่คนเราชอบทำความเข้าใจสิ่งต่างๆโดยการผูกให้เป็นเรื่องราว เราพยายามหาความหมายและเหตุผลในส่ิงต่างๆที่เกิดขึ้นแม้ว่าในบางครั้งสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่มีความสัมพันธ์อย่างที่เราคิด  ข้อเสียที่เกิดชึ้นได้ก็คือเราคิดว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆเพราะเรื่องที่เราแต่งเพื่ออธิบายฟังดูดีสำหรับเราแม้ว่าความเข้าใจของเราจะห่างกับความเป็นจริงก็ตาม

Hindsight bias คือการที่เราสามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วอย่างมั่นใจ สามารถเห็นสาเหตุและผลลัพธ์ต่างๆได้ ตัวอย่างก็เช่นนักวิเคราะห์หุ้นบอกว่าหุ้นตัวนี้ขึ้นเพราะสาเหตุนี้ หุ้นตัวนี้ตกเพราะสาเหตุนี้หลังจากหุ้นขึ้นหรือตกไปแล้ว หรือหมอดู หรือนักประวัติศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ หรือใครก็ตามสามารถอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านไปแล้วได้เป็นฉากๆอย่างมั่นใจ แต่จะไม่สามารถทำนายอนาคตอะไรได้ถูกต้องนักครับ

คลิปนี้เป็นตัวอย่าง  story bias และ hindsight bias ที่เข้าใจง่ายครับ:

Overconfidence bias คือการที่เราคิดว่าเราเก่งกว่าความสามารถจริงๆของเรา คือตอนเรารู้เรื่องอะไรบางอย่างนิดหน่อยเราจะรู้สึกว่าเราเข้าใจมันแล้ว และจะมั่นใจในตัวเองเกินเหตุ ดังนั้นเวลาเราเห็นใครมั่นใจมากๆในเรื่องอะไรเราควรตรวจสอบเขาสักหน่อยว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องนั้นจริงๆหรือเปล่า

ภาพจาก http://agilecoffee.com/toolkit/dunning-kruger/
Bertrand Russell เป็นนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วครับ ภาพเอามาจาก http://i.imgur.com/kWKBQxV.jpg

แนะนำให้ลองอ่านสองโพสท์นี้ครับ: The Science of “โง่เเต่อวดฉลาด”: The Dunning-Kruger Effect และ คุณสมบัติของคนโง่ที่อวดฉลาด: The Dunning-Kruger effect revisited

หลังจากนั้นเด็กๆหัดทำแม่แรงไฮดรอลิกด้วยเข็มฉีดยาและใช้มันขยับโต๊ะกันครับ:

แรงที่หลอดจะแปรผันตรงกับพื้นที่หน้าตัดของหลอด ทำให้เรากดหลอดเล็กด้วยแรงน้อยๆแล้วหลอดใหญ่จะยกของหนักได้ครับ ความสัมพันธ์เป็นแบบนี้:

เวลาเหลือเราเลยเอากระสุนโฟมของปืน Nerf มายิงจากหลอดฉีดยาใหญ่ๆ (50 cc) เล่นกันครับ:

สอนวิทย์มัธยม 1: ขนาดโลก ดาวต่างๆ และระยะทางระหว่างดวงดาว

วันนี้ผมไปสอนวิทย์ม.1 มาครับ คราวนี้เราพยายามเข้าใจว่าจักรวาลที่เราอยู่มันใหญ่แค่ไหน

ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จนกระทั่งไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา คนนึกว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จนกระทั่งกาลิเลโอมีกล้องดูดาวแล้วเริ่มส่องไปนอกโลก ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลเพิ่มขึ้นมากมายในรอบไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ตอนนี้คนที่มีความรู้จะเข้าใจแล้วว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล เราอยู่บนก้อนหินกลมๆที่เรียกว่าโลก โคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในนับแสนล้านดวงที่โคจรรอบซึ่งกันและกันในแกแล็คซีที่เรียกว่าทางช้างเผือกหรือ Milky Way galaxy ส่วนกาแล็คซีทางช้างเผือกก็เป็นเพียงอันหนึ่งในนับแสนล้านแกแล็คซีที่อยู่ในจักรวาลที่เราสังเกตได้

เราเริ่มโดยให้เด็กๆเดาก่อนว่าขนาดเส้นรอบวงโลกที่เราอยู่มีขนาดเท่าไร หลังจากเด็กๆเดากันเสร็จเราก็ตรวจสอบตัวเลขจริงๆ พบว่าโลกมีเส้นรอบวงประมาณ 40,000 กิโลเมตร โดยเส้นรอบวงวัดตรงเส้นศูนย์สูตรจะยาวกว่าวัดรอบขั้วโลกเหนือ-ใต้ประมาณ 70 กิโลเมตรเพราะโลกหมุนอยู่ ส่วนพุงของมันแถวๆเส้นศูนย์สูตรเลยอ้วนออกมาหน่อยนึง

เด็กๆได้เดาว่าเส้นผ่าศูนย์กลางโลกควรจะเป็นเท่าไรด้วยครับ เราลองวาดวงกลมแล้วกะๆเอา เด็กๆเดาว่าเส้นรอบวงน่าจะเป็นสามเท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางโลก ผมบอกว่าเกือบถูก จริงๆเส้นรอบวงจะเป็นพาย (pi) เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลาง โดยพายเป็นค่าคงที่ = 3.141592653… มีตัวเลขต่อไปเรื่อยๆไม่รู้จบ

เส้นรอบวงเท่ากับค่าคงที่ที่เรียกว่าพายคูณกับเส้นผ่าศูนย์กลางครับ พาย = pi = 3.14159...
เส้นรอบวงเท่ากับค่าคงที่ที่เรียกว่าพายคูณกับเส้นผ่าศูนย์กลางครับ พาย = pi = 3.14159…

Continue reading สอนวิทย์มัธยม 1: ขนาดโลก ดาวต่างๆ และระยะทางระหว่างดวงดาว

สอนวิทย์มัธยม 1: ทักษะการเข้าใจปริมาณใหญ่ๆ

วันนี้ผมไปสอนวิทย์ให้เด็กๆบ้านเรียนระดับม.1 มาครับ สัปดาห์ที่แล้วให้เด็กๆไปค้นคว้าว่านักวิทยาศาสตร์คิดว่าอายุของจักรวาลของเราเท่ากับเท่าไร และทำไมถึงคิดว่ามีอายุแบบนั้น เด็กๆก็ไปค้นคว้ากันพบว่าอายุน่าจะประมาณเกือบๆ 14,000 ล้านปี  ผมจึงถามว่า 14,000 ล้านปีมันนานแค่ไหน

ผมแนะนำสองวิธีให้เด็กๆรู้จักคือวิธี Cosmic Calendar ที่เปรียบเทียบอายุจักรวาลทั้งหมดให้เท่ากับหนึ่งปี แล้วดูว่าเหตุการณ์ต่างๆเกิดที่วันที่เท่าไร เดือนไหนของปี

อีกวิธีหนึ่งคือเทียบเวลากับความยาวที่เราเข้าใจง่ายๆ การเปรียบเทียบที่เราใช้ในห้องเรียนวันนี้ก็คือประมาณว่าอายุขัยของเราคือ 100 ปี และกำหนดให้ 100 ปีเท่ากับความยาว 1 มิลลิเมตร จากนั้นเราก็ค่อยๆไล่ไปว่า 1,000 ปี หมื่นปี แสนปี ล้านปี สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้านปี เท่ากับความยาวเท่าไร ด้วยวิธีนี้เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่าถ้าชีวิตเรายาว 1 มิลลิเมตรแล้ว อายุจักรวาลจะยาวประมาณระยะทางกรุงเทพถึงพัทยาครับ Continue reading สอนวิทย์มัธยม 1: ทักษะการเข้าใจปริมาณใหญ่ๆ