Category Archives: science class

วัดขนาดกำปั้นเด็กและสอนเรื่องมวล

 

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องวัดความยาว ดูตารางธาตุ และความเฉื่อย อยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้ไม่ได้สอนที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมเพราะมีรายการ World Why วิทย์ มาถ่ายรายการกับเด็กๆ วันนี้ผมจึงได้ไปสอนกลุ่มเด็กบ้านเรียนภูมิธรรมเรื่องมวลที่เคยสอนปฐมธรรมเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว และไปทำการทดลองเกี่ยวกับน้ำ(ต่อ)กับเด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิครับ

สำหรับเด็กอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมไปทำการทดลองเกี่ยวกับน้ำต่อครับ วันนี้ผมเอาดินน้ำมันไปใส่ในน้ำให้จม แล้วถามเด็กๆว่ารู้วิธีทำให้ลอยได้ไหม เด็กๆหลายคนก็รู้แล้วครับเนื่องจากเคยเห็นตามงานวิทยาศาสตร์และบางคนได้เคยทดลองกับฟอยล์อลูมินัมในอดีต วิธีก็คือเราค่อยๆปั้นก้อนดินน้ำมันให้เป็นรูปชาม ยิ่งบางยิ่งดี แล้วลอยในน้ำเหมือนกระทง ดินน้ำมันก็ลอยน้ำได้ เมื่อเราเอาของอะไรไปจุ่มน้ำ น้ำจะออกแรงยกของที่จุ่มอยู่ในน้ำ แรงนี้เรียกว่าแรงลอยตัว และแรงมีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยของที่ลงไปในน้ำ กฏธรรมชาตินี้ถูกค้นพบโดยอาร์คิมีดีสเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว

จากนั้นผมก็ค่อยๆหยดน้ำเข้าไปในชามดินน้ำมันที่ลอยน้ำอยู่จนปริ่มน้ำ ให้เด็กๆสังเกตผิวของน้ำที่โค้งนูนรอบๆของชามเนื่องจากแรงตึงผิวของน้ำดึงผิวไว้ไม่ให้แยกออกจากกันง่ายๆ ถ้าเราค่อยๆหยดน้ำอย่างระมัดระวัง เราจะสามารถมองข้างๆแล้วเห็นชามดินน้ำมันดูเหมือนอยู่ใต้ระดับผิวน้ำนิดนึง

ขอบน้ำโค้งๆรอบๆชามดินน้ำมันสะท้อนแสงเป็นวง 
ปริ่มน้ำ

Continue reading วัดขนาดกำปั้นเด็กและสอนเรื่องมวล

สอนเด็กๆเรื่องวัดความยาว ดูตารางธาตุ และความเฉื่อยสำหรับเด็กอนุบาล

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องชั่งน้ำหนักวัดมวลและการทดลองเกี่ยวกับน้ำอยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องการวัดความยาวและ ตารางธาตุสำหรับเด็กประถม กับการเล่นเกมที่ใช้ความเฉื่อยสำหรับเด็กอนุบาลครับ

ผมเริ่มโดยถามว่าเด็กๆจำเรื่องมวลได้ไหมจากสัปดาห์ที่แล้ว เด็กๆก็พอจำได้ว่ามวลกับน้ำหนักไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ของที่มีมวลมากเมื่ออยู่บนพื้นโลกก็จะมีน้ำหนักมาก (โดยที่น้ำหนักก็คือแรงที่โลกดูดมวลนั้นๆ) และของที่มีมวลจะดึงดูดกันด้วยแรงโน้มถ่วง และถ้าไม่มีแรงโน้มถ่วงเราก็จะไม่มีดวงดาวทั้งหลาย และชีวิตแบบที่เราคุ้นเคยก็เกิดขึ้นไม่ได้

วันนี้เรามาหัดให้เด็กๆทำการวัดความยาวด้วยวิธีง่ายๆสามอย่าง คือวัดด้วยไม้บรรทัด วัดด้วยคาลิเปอร์ดิจิตอล และวัดด้วยการเล็งเป็นรูปสามเหลี่ยม (Triangulation, Parallax)

สำหรับการวัดด้วยไม้บรรทัด เราก็เอาหัดอ่านตัวเลขและหน่วยบนไม้บรรทัด สำหรับเด็กเล็กๆที่ยังไม่รู้จักทศนิยม เราก็แค่บอกว่าความยาวอยู่ระหว่างช่วงไหนที่เป็นเลขจำนวนเต็ม เด็กโตคนไหนเข้าใจทศนิยมแล้วก็อ่านเป็นเลขทศนิยมได้เลย สิ่งที่ผมแทรกไว้ให้เด็กฟังก็คือเวลาเราวัดความยาวของอะไรที่เคลื่อนผ่านไม้บรรทัด เราต้องอ่านค่าที่ปลายทั้งสองที่เวลาเดียวกัน ไม่งั้นเราก็ไม่ได้วัดความยาวของวัตถุนั้นๆ หวังว่าในอนาคตเมื่อเด็กรู้เรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ เขาจะได้ไม่งงและวัดความยาวได้ถูกต้อง Continue reading สอนเด็กๆเรื่องวัดความยาว ดูตารางธาตุ และความเฉื่อยสำหรับเด็กอนุบาล

ชั่งน้ำหนักวัดมวลและการทดลองเกี่ยวกับน้ำ

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ปืนของคุณเก๊าส์! (Gaussian Gun)” อยู่ที่นี่ครับ)

หายไปร่วมสามเดือนเพราะปิดภาคเรียนและน้ำท่วมนะครับ แต่ในที่สุดวันนี้ผมก็ได้ไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิอีกครับ (กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรมยังไม่เปิดเรียนเพราะน้ำท่วม) วันนี้เรื่องชั่งน้ำหนักวัดมวลสำหรับเด็กประถมและการทดลองเกี่ยวกับน้ำสำหรับเด็กอนุบาลครับ

ผมเริ่มด้วยการถามว่ามีใครจำได้ว่าความเฉื่อยคืออะไรได้บ้าง เมื่อปีที่แล้วเด็กโตได้ทำการทดลองเกี่ยวกับความเฉื่อยไปแล้วครั้งหนึ่ง เด็กๆส่วนใหญ่จำได้ว่าเคยทดลองดีดกระดาษรองเหรียญเพื่อดูความเฉื่อยไม่อยากเคลื่อนที่ของเหรียญ เมื่อตอนนั้นผมเคยบันทึกถึงความเฉื่อยไว้ว่า:

“ความเฉื่อย” หรือ Inertia (อ่านว่า อิ-เนอร์-เชียะ) เป็นคุณสมบัติของวัตถุทุกๆอย่างครับ เป็นคุณสมบัติของวัตถุต่างๆที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของมัน ถ้าอยู่เฉยๆก็จะอยู่เฉยๆไปเรื่อยๆจนมีอะไรมาทำอะไรกับมัน ถ้าเคลื่อนที่อยู่แล้วก็ไม่อยากหยุด ไม่อยากวิ่งเร็วขึ้น ไม่อยากเลี้ยว ถ้าจะทำให้หยุด หรือเร็วขึ้น หรือเลี้ยว ต้องใช้แรงมากระทำกับมัน  

เราเรียกปริมาณความเฉื่อยของวัตถุแต่ละชิ้นว่า “มวล” ของวัตถุ บนโลกถ้าวัตถุไหนมีมวลมาก นำ้หนักของมันก็มากตาม แต่ในอวกาศไกลๆจากโลก แม้ว่าวัตถุนั้นจะมีน้ำหนักน้อยมากๆ (เพราะน้ำหนักคือแรงดึงดูดจากโลกมีค่าน้อยลงเมื่อห่างจากโลก) มวลหรือความเฉื่อยของมันก็ยังมี และทำให้วัตถุไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงการหยุดนิ่งหรือการเคลื่อนที่ของมัน ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีแรงอะไรไปผลักดันดูดดึงมัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของวัตถุที่มีความเฉื่อยก็คือปริมาณความเฉื่อยที่เราเรียกว่ามวลนั้น จะดึงดูดมวลอื่นๆทุกมวลในจักรวาลได้ เราเรียกแรงนี้ว่าแรงโน้มถ่วง บนพื้นโลกแรงที่มวลของโลกดึงดูดมวลของวัตถุต่างๆเรียกว่าน้ำหนักของวัตถุนั้นๆ โดยที่น้ำหนักของวัตถุเท่ากับมวลของวัตถุคูณกับค่าคงที่ค่าหนึ่ง (ค่า g) ดังนั้นบนพื้นโลกถ้าเราจะวัดมวลของวัตถุใดๆเราก็ชั่งน้ำหนักของมันแล้วเราก็สามารถรู้ค่ามวลของมันได้ทันที (มวล = น้ำหนัก/g) ความจริงหน่วยที่เรียกว่ากิโลกรัมนั้นเป็นหน่วยของมวล ส่วนหน่วยของน้ำหนักนั้นนับเป็นนิวตัน แต่ในชีวิตประจำวันเราเรียกน้ำหนักเป็นกิโลกรัมก็ไม่มีปัญหาเพราะทุกคนเข้าใจตรงกัน มีแต่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ต้องระวังเรื่องหน่วยบ้าง Continue reading ชั่งน้ำหนักวัดมวลและการทดลองเกี่ยวกับน้ำ