Category Archives: science class

คุยต่อเรื่องเสียง หูและการได้ยิน โคลนแป้งมันประหลาด

วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ สำหรับเด็กประถมเราคุยกันเรื่องเสียงและการสั่นสะเทือนต่อ ได้ดูส่วนประกอบของหู ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเราได้ยินเสียง เด็กประถมต้นทดสอบการได้ยินเสียงความถี่สูงๆ เด็กประถมปลายได้ดูคลิปแตงโมเคลือบสารเคมีที่โมเลกุลยาวๆตกลงมา 45 เมตรแล้วกระเด้งขึ้นโดยไม่แตกกระจายครับ ประถมต้นและปลายได้เล่นโคลนที่ทำจากแป้งมัน (โมเลกุลยาวๆ) ที่เป็นของเหลวเมื่อไม่ไปกดมันแรงๆ แต่จะกลายเป็นของแข็งเมื่อเราไปกดหรือทุบมันแรงๆ เราเอาโคลนประหลาดนี่วางบนลำโพงให้การสั่นของลำโพงตีมันครับ เด็กอนุบาลสามได้เรียนรู้เรื่องเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “เสียงและการสั่นสะเทือน ความถี่ที่เราได้ยิน คลิปเส้นเสียง” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สัปดาห์นี้เด็กๆประถมต้นทดสอบว่าหูได้ยินเสียงสูงแค่ไหน คือให้ใส่หูฟังแล้วฟังเสียงที่ความถี่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าความถี่สูงแค่ไหนแล้วไม่ได้ยินครับ

เมื่อความถี่สูงมากๆจนเสียงที่เราได้ยินเบามากๆ บางทีเราก็จะคิดไปเองว่าเราได้ยินครับ อย่างนี้ต้องให้อีกคนช่วยปรับความถี่ให้ หรือบางทีก็เปิดปิดเสียงสลับไปดูว่าตอนปิดเสียงยังคิดว่าได้ยินหรือเปล่า ถ้าได้ยินก็แสดงว่าคิดไปเองครับ เราใช้โปรแกรม Sonic by Von Bruno เป็นตัวสร้างความถี่ต่างๆครับ

หูคนที่ทำงานได้สมบูรณ์จะฟังเสียงได้ประมาณความถี่ 20 Hz ถึง 20,000 Hz ครับ เด็กๆเท่านั้นถึงจะฟังได้ช่วงกว้างอย่างนี้ คนยิ่งอายุเยอะขึ้นก็จะฟังความถี่สูงๆไม่ค่อยได้ เด็กๆประถมต้นฟังเสียงสูงได้ถึง 17,000-20,000 Hz เลยครับ เทียบกับประถมปลายสัปดาห์ที่แล้วฟังได้ประมาณ 17,000-19,000 Hz ครับ ส่วนคนอายุใกล้ๆ 50 อย่างผมฟังได้ถึงแค่ 13,000 Hz ครับ

จากนั้นผมก็อธิบายขบวนการการได้ยินด้วยหูครับ ให้เด็กๆดูรูปหูแบบเป็นภาพตัดให้เห็นส่วนประกอบข้างในก่อน: Continue reading คุยต่อเรื่องเสียง หูและการได้ยิน โคลนแป้งมันประหลาด

เสียงและการสั่นสะเทือน ความถี่ที่เราได้ยิน คลิปเส้นเสียง

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้คุยกันเรื่องเสียงและการสั่นสะเทือน ได้ดูคลิปการสั่นของเส้นเสียงในคอเราที่ทำให้เราร้องเพลงหรือพูดได้ ประถมต้นได้ดูการสั่นของลำโพงที่ความถี่ต่างๆ เด็กประถมปลายได้ทดสอบความสามารถการได้ยินความถี่ต่างๆตั้งแต่ต่ำสุดไปถึงสูงสุด เด็กอนุบาลสามก็ได้ดูลำโพงสั่นสะเทือนและทดลองฟังความถี่สูงๆและต่ำๆว่าได้ยินแค่ไหนครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “โซเดียม + น้ำ = ระเบิด Smart Watch สุดเจ๋ง แรงลอยตัว บูมเมอแรง” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมผมให้เด็กๆเอามือจับคอแล้วพูดให้สังเกตว่ามือรู้สึกอย่างไรครับ เด็กๆบอกได้ว่ามือมันสั่นๆ ผมบอกว่าในคอเรามีกล่องเสียง (Larynx) ที่เป็นท่อล้อมรอบเส้นเสียง (Vocal Cords) ที่จะสั่นไปมาเวลาเราพูดหรือส่งเสียงต่างๆ เราต้องใช้อากาศจากปอดของเราพ่นให้ผ่านเส้นเสียงและสมองจะบังคับเส้นเสียงให้ขยับ ให้ตึงหรือหย่อน ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน การสั่นสะเทือนนี้จะกระทบอากาศในคอทำให้อากาศสั่นสะเทือนด้วย อากาศสั่นสะเทือนเป็นทอดๆออกมาจากคอ ทำให้อากาศสะเทือนไปเรื่อยๆจนเข้ามาในหู ทำให้แก้วหูสะเทือนและส่งสัญญาณไปสมองของผู้ฟังทำให้ได้ยิน

ผมให้เด็กๆดูคลิปกล้องที่ส่องลงไปทางจมูกเพื่อดูเส้นเสียงขณะคนร้องเพลงครับ:

เด็กร้องยี้กันใหญ่เพราะมันน่าเกลียด แต่เราทุกคนก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ต่อไปผมให้ดูอีกคลิปหนึ่งที่ส่องไฟกระพริบเร็วๆ (Stroboscope) ให้ใกล้กับความถี่การสั่นของเส้นเสียง จะได้เห็นการเคลื่อนที่เป็น slo-motion ครับ: Continue reading เสียงและการสั่นสะเทือน ความถี่ที่เราได้ยิน คลิปเส้นเสียง

โซเดียม + น้ำ = ระเบิด Smart Watch สุดเจ๋ง แรงลอยตัว บูมเมอแรง

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูคลิปการระเบิดเมื่อโซเดียมโดนน้ำ ประถมปลายได้ดูคลิปการดัดแปลง Smart Watch ให้ตรวจจับการสั่นสะเทือนต่างๆแล้วใช้สั่งงานหรือตรวจจับสิ่งต่างๆได้ หลังจากดูคลิปแล้วเด็กๆก็ทดลองเรื่องแรงลอยตัวต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว เด็กอนุบาลสามได้เล่นบูมเมอแรงกระดาษแข็งกันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “คุยกันเรื่อง Supermoon เริ่มเรียนเรื่องแรงลอยตัว บูมเมอแรงกระดาษ” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ผมไปพบคลิปน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กมาครับ เลยเอามาให้เด็กประถมดูกัน มีคนเอาโซเดียม (Na) ใส่ลงไปในโถส้วมครับ ดูว่าเกิดอะไรขึ้น:

ปรากฎว่ามันระเบิดครับ! โซเดียมเมื่อโดนน้ำจะกลายเป็นสารละลายโซดาไฟ (NaOH) และก๊าซไฮโดรเจน ปล่อยความร้อนออกมามาก ทำให้ไฮโดรเจนระเบิดครับ สมการเคมีเป็นอย่างนี้ครับสำหรับผู้สนใจ:

2Na(s) + 2H2O → 2NaOH(aq) + H2(g)

ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าเกลือแกงที่เรากินกันเค็มๆประกอบด้วยธาตุสองอย่างคือโซเดียม และคลอรีน ธาตุแต่ละอย่างมีอันตรายต่อร่างกายคือโซเดียมโดนน้ำก็เป็นโซดาไฟร้อนๆและก๊าซไฮโดรเจน คลอรีนก็กัดผิวและเนื้อเยื่ออ่อนๆ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใช้เป็นแก๊ซพิษด้วย แต่พอโซเดียมและคลอรีนรวมตัวกันเป็นเกลือแกง กลับเป็นเครื่องปรุงอาหารที่เรากินได้

ถ้าเราดูโซเดียมในตารางธาตุ เราจะเห็นว่ามันอยู่ในคอลัมน์แรก ธาตุในคอลัมน์แรกก็มีไฮโดรเจน ลิเธียม โซเดียม โปตัสเซียม รูบิเดียม ซีเซียม และฟรานเซียม ธาตุเหล่านี้ตั้งแต่ลิเธียมเป็นต้นไปเมื่อผสมกับน้ำจะร้อนและมีแก๊ซไฮโดรเจนกันทั้งนั้นครับ มีคนทำเป็นวิดีโอให้ดูกัน: Continue reading โซเดียม + น้ำ = ระเบิด Smart Watch สุดเจ๋ง แรงลอยตัว บูมเมอแรง