Category Archives: education

คุยกันเรื่องไฟฟ้า แม่เหล็ก แม่เหล็กไฟฟ้า และตัวนำไฟฟ้ากราไฟท์

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมมาครับ เราดูคลิปกิ่งไม้พาดสายไฟฟ้าแรงสูงกัน สังเกตปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา ได้ดูคลิปการทดลองไฟฟ้ากับกราไฟท์ที่นำไฟฟ้าได้ดีและทนความร้อนได้มาก คุยกันเรื่องทีใดมีกระแสไฟฟ้าแถวๆนั้นจะมีสนามแม่เหล็ก (ความเป็นแม่เหล็ก) ทำการทดลองการดูดและผลักกันของสายไฟเมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่าน ทดลองแม่เหล็กไฟฟ้า และใช้แม่เหล็กไฟฟ้ายิงแม่เหล็กเล็กๆออกไปเป็นปืนของเล่น

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “กระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก มอเตอร์อีกแบบ เล่นตะเกียบลม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเราดูคลิปกิ่งไม้พาดสายไฟกันก่อนครับ:

สายไฟที่ส่งไฟฟ้าระยะทางไกลๆมักจะทำด้วยโลหะตระกูลอลูมิเนียมเพราะนำไฟฟ้าได้ดี เบา และราคาถูก สายพวกนี้มักจะแขวนอยู่บนเสาสูงๆและไม่มีฉนวนไฟฟ้าหุ้ม แรงดันไฟฟ้าจะอยู่ที่หลักหลายพันถึงหลายแสนโวลท์ขึ้นกับประเภทการส่งไฟฟ้า ตราบใดที่ไม่มีอะไรนำไฟฟ้าระหว่างสายไฟมากกว่าหนึ่งเส้นก็จะไม่มีปัญหาอะไร ไฟฟ้าก็วิ่งไปตามสายไฟไม่มีการลัดวงจร เราจึงเห็นนกหรือกระรอกเกาะสายไฟเส้นเดียวโดยไม่มีอันตราย แต่ถ้าสัตว์เหล่านั้นแตะสายไฟสองเส้นขึ้นไป ไฟฟ้าก็จะวิ่งผ่านทำให้มันตายได้

ในวิดีโอเราเห็นกิ่งไม้พาดสายไฟสองสายทำให้มีกระแสไฟฟ้าลัดวงจร วิ่งจากสายไฟเส้นหนึ่งไปอีกเส้นหนึ่งผ่านกิ่งไม้ กระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านทำให้เกิดความร้อนในกิ่งไม้ ตอนแรกจะทำให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ ต่อจากนั้นไม้ก็ไหม้เป็นถ่านดำๆที่ประกอบไปด้วยกราไฟท์ที่นำไฟฟ้าได้ดีและทนความร้อน กระแสไฟฟ้าจึงวิ่งผ่านได้มากขึ้นอีกทำให้ไม้ร้อนขึ้นอีก อากาศที่อยู่รอบๆที่ปกติไม่นำไฟฟ้าก็ร้อนมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นพลาสมาและนำไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าวิ่งผ่านอากาศร้อนทำให้มันร้อนมากๆขึ้นไปอีกจึงเห็นอากาศร้อนจนเรืองแสงเหมือนฟ้าแลบและมีเสียงเหมือนฟ้าผ่าเล็กๆ อากาศร้อนลอยตัวขึ้นทำให้แสงลอยตัวตามขึ้นไปด้วย

ผมเล่าเรื่องกราไฟท์ว่าเป็นสารที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนเรียงกันเป็นชั้นๆเหมือนขนมชั้น แต่ละชั้นลื่นหลุดออกจากกันได้ง่ายทำให้เป็นสารหล่อลื่นที่ดี และเอามาเขียนบนกระดาษได้เพราะกราไฟท์จะลื่นหลุดจากกันไปติดกระดาษ จึงใช้เป็นส่วนประกอบหลักๆของไส้ดินสอที่เราใช้กันทุกวันนี้ครับ

ผมให้เด็กๆดูคุณ Mehdi Sadaghdar แห่ง ElectroBoom ทำการทดลองกับกราไฟท์ว่ามันนำไฟฟ้าได้ดีแค่ไหนและทนความร้อนได้ดีแค่ไหน สามารถใช้เป็นตัวส่งไฟฟ้าหลอมโลหะได้ในคลิปนี้ครับ:

ต่อไปผมก็ให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าเราทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเส้นตัวนำไฟฟ้า (เส้นฟอยล์อลูมิเนียม) 2 เส้น โดยให้ทิศทางการไหลของไฟฟ้าไปทางเดียวกันทั้งสองเส้น เส้นตัวนำไฟฟ้าทั้งสองจะดูดกัน ถ้าทิศทางการไหลของทั้งสองเส้นไหลตรงข้ามกัน เส้นตัวนำจะผลักกัน การดูดกันและผลักกันนี้เกิดจากสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลครับ ตรวจสอบดูได้โดยเอาแม่เหล็กมาใกล้ๆ การทดลองเป็นแบบในคลิปครับ:

ผมถามเด็กๆว่าถ้าจะทำให้แม่เหล็กแรงขึ้นจะทำยังไงกันดี เด็กๆก็เดาว่าใส่ไฟฟ้าเข้าไปเยอะๆ ผมจึงแสดงให้ดูว่าไฟฟ้าเยอะๆทำให้เกิดความร้อนมากทำให้ฟอยล์อลูมิเนียมละลายได้ ในที่สุดผมก็เฉลยว่าถ้าทำตัวนำให้เป็นขดๆโดยไม่ให้แต่ละขดแตะกันแล้วลัดวงจร แรงแม่เหล็กของแต่ละส่วนของขดก็จะบวกเสริมกันทำให้แรงแม่เหล้กมากขึ้น ผมเอาขดลวดที่พัน 100 รอบมาให้เด็กๆดู ให้สังเกตว่าเมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านมันกลายเป็นแม่เหล็กที่แรงพอสมควร สามารถเอาไปดูดเหล็ก หรือดูดและผลักก้อนแม่เหล็กได้ แล้วผมก็ใช้แม่เหล้กชิ้นเล็กๆวางไว้กลางขดลวดโดยให้ขั้วของมันผลักกับแม่เหล็กจากขดลวด เมื่อปล่อยไฟฟ้าเข้าไปก็กลายเป็นของเล่นปืนใหญ่แม่เหล็กดังในคลิปครับ:

กระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก มอเตอร์อีกแบบ เล่นตะเกียบลม

ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูปรากฎการณ์ที่ว่าที่ใดมีกระแสไฟฟ้าไหล ที่นั่นจะมีสนามแม่เหล็ก  เด็กประถมต้นได้พยายามเดาความเกี่ยวข้องของกระแสไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก เด็กประถมปลายได้ประดิษฐ์โฮโมโพลาร์มอเตอร์อีกแบบที่ใช้ถ่านไฟฉาย แม่เหล็ก และลวดทองแดง เด็กอนุบาลสามได้เล่นของเล่นตะเกียบลมครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “แม่เหล็กขยับใกล้ๆขดลวด = กระแสไฟฟ้า เล่นตะเกียบลม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้นผมให้สังเกตการขยับของฟอยล์อลูมิเนียมใกล้ๆแม่เหล็กเมื่อมีไฟฟ้าวิ่งผ่านครับ

ผมตัดฟอยล์อลูมิเนียมเป็นเส้นยาวๆ เอาแม่เหล็กๆมาอยู่ใกล้ๆ มันก็ไม่ดูดกัน จากนั้นผมก็ปล่อยไฟฟ้าผ่านเส้นฟอยล์อลูมิเนียมใกล้ๆแม่เหล็ก ปรากฎว่าฟอยล์ขยับตัวครับ จึงถามเด็กๆว่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้น มีเด็กบอกว่าอลูมิเนียมกลายเป็นเหล็ก ผมจึงหยุดปล่อยไฟฟ้าแล้วเอาแม่เหล็กไปอยู่ใกล้ๆอลูมิเนียมซึ่งมันก็ไม่ดูดกัน แสดงว่ามันไม่ได้กลายเป็นเหล็ก เราสังเกตว่าเส้นอลูมิเนียมมันขยับตัวเมื่อมีไฟฟ้าผ่านมัน และถ้าสลับขั้วไฟฟ้ามันก็ขยับต่างจากเดิมด้วย นอกจากนี้ถ้าเราวางแม่เหล็กให้มันขยับง่ายๆ แม่เหล็กเองก็ขยับตัวด้วยในบางครั้ง หลังจากเล่นไปสักพักผมก็เฉลยให้เด็กๆรู้จักปรากฎการณ์ที่เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตรงไหน แถวๆนั้นก็จะทำตัวเหมือนเป็นแม่เหล็ก แล้วผมก็หยิบตะปูเกลียวที่พันสายไฟไว้ต่อกับถ่านไฟฉายกลายเป็นแม่เหล็กไฟฟ้าดูดตะปูอื่นๆให้เด็กๆดูด้วยครับ

 ผมให้เด็กๆมาทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่ฟอยล์อลูมิเนียมเอง ให้เขาสังเกตการเคลื่อนไหวเมื่อเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กหรือขั้วไฟฟ้าด้วยครับ
 
 
ผมให้เด็กๆเห็นว่าเมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านตัวนำ จะเกิดความร้อน ถ้าร้อนมากก็สามารถละลายโลหะได้ (เป็นฟิวส์จำกัดปริมาณไฟฟ้าแบบหนึ่ง) เช่นในคลิปนี้ครับ:

ถ้าเราเรียงสายไฟดีๆแล้วส่งไฟฟ้าเข้าไป สายไฟก็จะผลักหรือดูดกับแม่เหล็ก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเหมือนมอเตอร์ที่เราเล่นกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และวันนี้เราจะได้ทดลองประกอบมอเตอร์ที่เรียกว่าโฮโมโพล่าร์มอเตอร์ (Homopolar Motor) อีกแบบกัน  ผมอธิบายวิธีประกอบดังในคลิปครับ:

 เด็กประถมต้นได้หัดประกอบมอเตอร์กันเองครับ

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง ผมสอนให้เล่นตะเกียบลมที่ใช้หลักการที่ว่าเมื่อลมวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกบอล กระแสลมจะโอบล้อมลูกบอลและดึงให้ลูกบอลอยู่ในกระแสลมนั้น ทำให้เราสามารถเลี้ยงลูกปิงปองด้วยเครื่องเป่าผมหรือลูกบอลชายหาดด้วยเครื่องเป่าใบไม้ได้ สามารถเอียงกระแสลมไปมาให้ลูกบอลลอยตามก็ได้ครับ

วิธีเล่นผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีเล่น ก็แบ่งเข้าแถวเล่นแบบต่างๆครับ:

แม่เหล็กขยับใกล้ๆขดลวด = กระแสไฟฟ้า เล่นตะเกียบลม

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้เริ่มเห็นการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแม่เหล็กและขดลวด ได้เห็นว่าถ้าเราใส่การเคลื่อนไหวไปในระบบขดลวด+แม่เหล็ก เราจะได้ไฟฟ้าออกมา ในทางกลับกัน ถ้าเราใส่ไฟฟ้าเข้าไปในระบบขดลวด+แม่เหล็ก เราก็จะได้การเคลื่อนไหว เด็กๆได้ลองเล่นมอเตอร์แบบโฮโมโพลาร์ที่ใช้ส่วนประกอบเพียงถ่านไฟฉาย แม่เหล็กจานหรือทรงกระบอก ตะปูเกลียวเหล็ก และฟอยล์อลูมิเนียม ได้คุยกับเด็กประถมปลายเรื่องเตาเหนี่ยวนำสำหรับทำอาหาร และการหลอมโลหะด้วยการเหนี่ยวนำไฟฟ้า เด็กอนุบาลสามได้เล่นเลี้ยงลูกปิงปอง ลูกบอลโฟม และลูกบอลชายหาดด้วยกระแสลม โดยอาศัยหลักการตะเกียบลมหรือ Coanda Effect

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “หยดน้ำในกระทะ คลิปมือแตะตะกั่วเหลว ทำความสะอาดด้วยเสียง ระเบิดเบคกิ้งโซดา” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมผมเอาขดลวดที่ต่อกับหลอดไฟ LED และแท่งแม่เหล็กมาให้ดูครับ เวลามันอยู่เฉยๆใกล้ๆกันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเอาแท่งแม่เหล็กไปแกว่งๆผ่านขดลวด หลอดไฟ LED จะติดขึ้นมาครับ เป็นอย่างในคลิปนี้ครับ:

ปรากฎการณ์นี้คือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแม่เหล็กที่ถูกค้นพบโดยไมเคิล ฟาราเดย์เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว เวลาเรามีแม่เหล็ก (ซึ่งอาจจะเป็นแม่เหล็กถาวรเป็นแท่งๆ หรือแม่เหล็กไฟฟ้าก็ได้) เอามาอยู่ใกล้ๆกับตัวนำไฟฟ้าเช่นเหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง หรือโลหะต่างๆรวมทั้งสายไฟทั้งหลาย แล้วทำให้มีการขยับใกล้ๆกัน (จะให้แม่เหล็กขยับ ตัวนำขยับ หรือทั้งสองอันขยับผ่านกันก็ได้ หรือจะให้ความแรงของแม่เหล็กเปลี่ยนไปมาก็ได้) จะมีปรากฏการณ์เรียกว่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งในตัวนำไฟฟ้านั้นๆ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งในตัวนำ ก็จะมีเหตุการต่อเนื่องขึ้นอีกสองอย่างคือ 1) มีสนามแม่เหล็กที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าในตัวนำ และ 2) กระแสไฟฟ้าทำให้ตัวนำร้อนขึ้น เราสามารถใช้ปรากฎการนี้ไปผลิดไฟฟ้า หรือทำให้ภาชนะหุงต้มร้อน หรือใช้หลอมโลหะ หรือใช้เป็นเบรก ฯลฯ ก็ได้

ในเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้า (Induction Cooker) ตัวเตาจะมีแม่เหล็กไฟฟ้าที่สลับขั้วไปมาเร็วมาก เมื่อเอาหม้อโลหะ(ซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้า)มาวาง ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลวนในหม้อจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ทำให้เกิดความร้อนขึ้นในหม้อ เอาไปใช้หุงหาอาหารได้ ถ้าเอาหม้อกระเบื้องมาวาง จะไม่มีกระแสไฟฟ้าเกิดในหม้อ หม้อก็จะไม่ร้อน ใช้ไม่ได้  ตัวเตาเองถ้าไม่เอาหม้อโลหะไปวาง ผิวของเตาก็จะไม่ร้อนแดงเป็นไฟเหมือนเตาประเภทอื่นๆ ดังเช่นวิดีโอคลิปอันนี้ที่เปรียบเทียบอาหารบนกระทะและบนเตา:

ตัวอย่างเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้ามักจะหาดูได้ตามร้านสุกี้เช่น MK หรือ สุกี้แคนตันเชิงสะพานพระราม 8 ที่ภรรยาผมชอบมากนะครับ

สำหรับเบรครถไฮบริด(และรถไฟฟ้าล้วนๆ)นั้น เวลารถกำลังจะเบรก จะมีระบบควบคุมให้มอเตอร์หยุดส่งกำลังไปที่ล้อ แล้วให้ล้อที่หมุนอยู่ทำหน้าที่หมุนมอเตอร์แทน มอเตอร์ข้างในมีแม่เหล็กและขดลวดอยู่ใกล้ๆกัน เมื่อแกนมอเตอร์หมุน แม่เหล็กและขดลวดจะวิ่งรอบกันเร็วๆ เกิดการเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวด แล้วกระแสไฟฟ้าก็จะถูกนำไปชาร์จแบตเตอรี่ของรถไฮบริด พลังงานจลน์ของรถจึงถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีที่เก็บในแบตเตอรีแทน รถจึงวิ่งช้าลง (แต่รถไฮบริดก็มีผ้าเบรกเหมือนรถปกติด้วย เพื่อจับล้อให้หยุดนิ่งสนิท และเป็นระบบสำรองเผื่อเบรกไฟฟ้าใช้ไม่ได้) มีคลิปใน YouTube ให้ดูครับ :

เครื่องปั่นไฟหรือเจนเนอเรเตอร์ก็ทำงานเหมือนๆกัน ถ้าเราทำให้แกนของมันหมุนได้ด้วยพลังงานลม น้ำจากเขื่อน หรือเอาเชื้อเพลิงมาต้มน้ำแล้วเอาไอน้ำความดันสูงไปหมุนแกน แกนที่หมุนของมันจะทำให้แม่เหล็กและขดลวดหมุนรอบกันเร็วๆ แล้วเราก็เอากระแสไฟฟ้าในขดลวดไปใช้

สำหรับที่ปรับหนักเบาในจักรยานออกกำลัง(แบบที่อยู่กับที่ไม่ใช่จักรยานที่ใช้เดินทาง) เวลาเราถีบให้ล้อเหล็กของจักรยานหมุน เราสามารถขยับให้ชิ้นแม่เหล็กเข้าใกล้ล้อเหล็กได้ ล้อเหล็กเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อหมุนผ่านแม่เหล็กเร็วๆก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลในล้อเหล็ก แล้วกระแสไฟฟ้านี้ก็ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ล้อเหล็ก แล้วมันก็จะออกแรงต้านกับชิ้นแม่เหล็กที่อยู่ติดกับที่ปรับหนักเบา ทำให้เราต้องออกแรงมากขึ้นเมื่อแม่เหล็กเข้าใกล้ล้อเหล็กมากขึ้น

ผมสรุปบอกเด็กๆว่าถ้าเราเอาขดลวดกับแม่เหล็กมาขยับผ่านกันใกล้ๆจะเกิดไฟฟ้าขึ้น และในทางกลับกัน ถ้าเราป้อนไฟฟ้าเข้าไปในขดลวดใกล้ๆแมเหล็ก เราก็จะได้การขยับมาใช้ได้เหมือนกัน เป็นหลักการของมอเตอร์ทั้งหลายครับ

ผมให้เด็กๆหัดทำมอเตอร์แบบที่ง่ายที่สุดเรียกว่าโฮโมโพล่าร์มอเตอร์ อุปกรณ์ก็มีเพียง ถ่านไฟฉาย ตะปูเกลียว แม่เหล็กที่เป็นจานกลมๆหรือทรงกระบอกกลม และฟอยล์อลูมิเนียมครับ วิธีทำก็ดังในคลิปนี้ครับ:

หลังจากเด็กๆดูวิธีทำจากผมแล้ว ก็แยกย้ายไปเล่นกันเองครับ:

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง ผมสอนให้เล่นตะเกียบลมที่ใช้หลักการที่ว่าเมื่อลมวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกบอล กระแสลมจะโอบล้อมลูกบอลและดึงให้ลูกบอลอยู่ในกระแสลมนั้น ทำให้เราสามารถเลี้ยงลูกปิงปองด้วยเครื่องเป่าผมหรือลูกบอลชายหาดด้วยเครื่องเป่าใบไม้ได้ สามารถเอียงกระแสลมไปมาให้ลูกบอลลอยตามก็ได้ครับ

วิธีเล่นผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีเล่น ก็แบ่งเข้าแถวเล่นแบบต่างๆครับ: