Category Archives: science class

เล่นปล่อยรถของเล่นเข้าเป้า แรงโน้มถ่วงเทียมกันน้ำหก

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูคลิปน่าสนใจหลายอย่างเช่นโดรนบรรทุกคนบินได้เอง โดรนแปรอักษร 3 มิติที่โอลิมปิกฤดูหนาว และความเร็วรถในถนนแคบๆควรเป็นเท่าไรจึงจะลดอุบัติเหตุ เด็กๆได้ทดลองปล่อยรถของเล่นหลายๆแบบจากทางลาดระดับสูงต่างๆ ได้สังเกตว่าความแตกต่างอะไรมีผลกับระยะที่รถวิ่งไปก่อนจะหยุด แล้วเราก็เล่นเกมปล่อยรถให้ไปจอดในเป้าวงกลมที่พื้นกันครับ สำหรับเด็กอนุบาลสามผมไปสอนประดิษฐ์ถ้วยและถาดกันน้ำหกโดยอาศัยหลักการแรงโน้มถ่วงเทียม

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ข้อจำกัดของสมอง เล่นโคลนแป้งมัน” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถม ผมให้เด็กๆดูคลิปน่าสนใจเหล่านี้ก่อนครับ คลิปแรกคือโดรนกว่าพันลำบินเป็นรูปแบบต่างๆตามที่คนโปรแกรม สำหรับงานเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวปีนี้ครับ:

อันที่สองคือโดรนที่คนเข้าไปโดยสารได้ บินเอง คนไม่ต้องบังคับ:

มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่นะครับ

คลิปที่สามคือคลิปแสดงว่าการขับรถในทางแคบ ขับที่ความเร็วเท่าไรจึงปลอดภัยครับ:

ระยะทางที่รถใช้ในการหยุดขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ และความเร็วของระบบประสาทคนขับ เมื่อคนขับเห็นคนข้ามถนน สัญญาณจากตาจะวิ่งไปที่สมอง สมองตัดสินใจเหยียบเบรค ส่งสัญญาณมาตามเส้นประสาทไปที่ขาและเท้า ช่วงเวลานี้มักใช้เวลาระดับ 0.1-1 วินาที ในช่วงเวลานี้รถจะขยับไปเท่ากับความเร็วรถคูณกับ 0.1-1 วินาที หลังจากเหยียบเบรคแล้ว รถจะสูญเสียพลังงานจลน์ไปเป็นความร้อนที่เบรค ที่ยาง และพื้นถนน ระยะทางที่ต้องใช้จะแปรผันกับความเร็วกำลังสองโดยประมาณ ในคลิปมีการทดลองว่าถ้าจะขับรถให้ปลอดภัยบนทางแคบๆควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ

ตอนแรกผมจะให้เด็กๆทดลองเอารถของเล่นมาวัดระยะทางที่รถวิ่งก่อนจะหยุดที่ความเร็วต่างๆ แต่ยังไม่มีอุปกรณ์วัดความเร็วแบบง่ายๆที่เด็กๆใช้เองได้ เลยให้เด็กๆปล่อยรถจากทางลาด ให้เด็กๆสังเกตว่ารถที่เขาใช้ปล่อยจากทางลาดแบบไหนแล้ววิ่งไปไกลประมาณเท่าไร เด็กๆสังเกตว่าความฝืดของล้อและเพลา และระดับความสูงทางลาดที่ปล่อยเป็นปัจจัยสำคัญว่ารถจะวิ่งไปไกลเท่าไรถึงหยุดครับ

หลังจากเด็กๆทำความคุ้นเคยกับรถเขาแล้ว เราก็เล่นเกมปล่อยรถใส่เป้าวงกลมที่พื้นกันครับ ผมใช้ชอล์ควาดวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเมตรบนพื้น ให้เด็กๆอยู่ห่างไป 2-4 เมตรแล้วให้เขาปล่อยรถจากทางลาดชันลงใส่เป้า ใครจอดข้างในหรือแตะเส้นขอบเป้าได้ก็ได้คะแนน เด็กๆสนุกและลุ้นกันมาก

สำหรับเด็กอนุบาลสามผมสอนให้ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยถือแก้วน้ำหรือชามซุปให้หกยากๆครับ

เราสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยถือของแบบนี้ได้ง่ายๆด้วยของในบ้านครับ หาถาดหรือตะกร้าและเชือกมาก็ทำได้แล้ว ผมเคยบันทึกไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

สาเหตุที่น้ำไม่หกลงมาก็เพราะว่าการที่เราแกว่งแก้วไปมาอย่างนั้น ก้นแก้วจะเป็นตัวบังคับไม่ให้น้ำเคลื่อนที่ไปอย่างอิสระออกไปจากวงหมุน (เนื่องจากน้ำมีความเฉื่อย เมื่อมันเคลื่อนที่อย่างไรมันก็จะอยากเคลื่อนที่ไปอย่างเดิมด้วยความเร็วเดิม จนกระทั่งมีแรงมากระทำกับมัน ถ้าไม่มีก้นแก้วมาบังคับ น้ำก็จะกระเด็นไปในแนวเฉียดไปกับวงกลมที่เราแกว่งอยู่) ผลของการที่ก้นแก้วบังคับน้ำให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมก็คือดูเหมือนมีแรงเทียมๆอันหนึ่งดูดน้ำให้ติดกับก้นแก้ว ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแรงโน้มถ่วง เราเลยเรียกมันว่าแรงโน้มถ่วงเทียม 

เด็กๆได้เล่นตามแบบที่ผมทำให้ดูครับ เขาตื่นเต้นที่สังเกตเห็นผิวน้ำเรียบเหมือนเป็นเยลลี่:

หลังจากเด็กๆเล่นเสร็จ ผมก็แกว่งข้ามหัวให้ดูครับ ไม่อยากทำให้เด็กๆดูก่อนเพราะถ้าเด็กๆเล่นตามแล้วพลาดจะเลอะเทอะมากครับ:

ผมไม่ได้ถ่ายคลิปวิดีโอการแกว่งข้ามหัวครั้งนี้ไว้แต่มีคลิปจากในอดีตแบบนี้ครับ:

ข้อจำกัดของสมอง เล่นโคลนแป้งมัน

ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดของสมองที่จดจ่อกับงานบางอย่างแล้วจะไม่สามารถสังเกตสิ่งอื่นๆได้ (change blindness) และสังเกตว่าการได้ยินจะใช้ข้อมูลจากทั้งตาและหูมาประกอบกันว่าได้ยินอะไร (McGurk effect) เด็กๆได้เห็นวิธีสร้างวิดีโอที่แสดง McGurk effect ว่าทำอย่างไรจะได้ไปทำเองได้ เด็กอนุบาลสามได้เล่นกับโคลนแป้งมันที่สั่นสะเทือนด้วยความถี่ที่เหมาะสมทำให้ดูเหมือนสัตว์ประหลาดครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ถ่ายวิดีโอสายน้ำสั่น โคลนแป้งเต้นระบำ” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

เด็กๆประถมได้ดูคลิปนี้ ได้พยายามนับว่าทีมเสื้อขาวส่งลูกบอลกี่ครั้งครับ ลองนับเองเลยนะครับ:

คนส่วนใหญ่ก็จะนับได้สิบกว่าครั้งครับ แต่เกินครึ่งจะตั้งใจนับจนไม่เห็นคนแต่งชุดกอริลล่าเดินผ่านตรงกลาง สำหรับคนที่เคยได้ยินเรื่องคลิปพวกนี้มาแล้วอาจจะเห็นกอริลล่า แต่มักจะไม่เห็นสีของม่านที่เปลี่ยนไปครับ  เวลาสมองพยายามตั้งใจทำอะไรบางอย่างจะพลาดสิ่งอื่นๆได้เยอะ นี่เป็นเหตุผลที่เราไม่ควรโทรศัพท์หรือส่งข้อความตอนขับรถครับ

จากนั้นเด็กๆก็ลองดูคลิปหัดสังเกตกันครับ มีสามตอน ตอนแรกเป็นกอริลล่าเหมือนคลิปที่แล้ว ตอนที่สองให้นับว่าผู้หญิงเดินกี่ก้าว คอนสุดท้ายให้นับว่าผู้หญิงดีดกีต้าร์กี่ครั้ง: 

พบว่าเวลานับก้าวผู้หญิง เด็กๆทุกคนไม่เห็นเด็กผู้ชายที่ถูกขว้างด้วยลูกบอลในแบ็คกราวด์ครับ สำหรับผู้หญิงดีดกีต้า พวกเราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สังเกตสีที่เปลี่ยนไปครับ

สำหรับคลิปนี้ให้สังเกตว่าถนนมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง:

พวกเราสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้เป็นส่วนน้อยจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดครับ

คลิปต่อไปทำให้เห็นว่าบางครั้งขณะที่กำลังตั้งใจจะทำอะไรบางอย่าง (ในที่นี้คืออธิบายเส้นทาง) คนเราไม่เห็นว่าคนที่คุยอยู่ด้วยเปลี่ยนเป็นอีกคนด้วยครับ:

จากนั้นเราก็เล่น McGurk effect กันครับ เป็นการแสดงว่าการได้ยินของเรา นอกจากใช้หูฟังเสียงแล้ว เรายังใช้ตาอ่านปากคนพูดด้วย บางครั้งถ้าเราสร้างวิดีโอโดยเราพูดคำหนึ่ง แล้วอัดเสียงทับเป็นคำพูดอีกคำหนึ่ง เวลาเรากลับมาดูวิดีโอเราอาจจะได้ยินเสียงต่างกันขึ้นกับว่าเรามองหรือไม่มองปากคนพูดครับ ผมให้เด็กๆดูคลิปที่ผมเตรียมมาและเราก็ทดลองทำกันสดๆในห้องเรียนด้วยครับ เอาบางส่วนมารวบรวมไว้ครับ:

สำหรับอนุบาลสาม เราเล่นโคลนแป้งมันเต้นระบำกันครับ

เวลาเราเอาแป้งมันไปละลายน้ำให้ข้นๆ(เหมือนโคลน) โมเลกุลยาวๆของมันจะลอยอยู่ในน้ำ พันกันยุ่งๆ ไขว้กันไปมา ถ้าเราเอานิ้วหรือช้อนคนช้าๆ โมเลกุลจะมีเวลาค่อยๆขยับผ่านกัน เราจึงไม่รู้สึกถึงแรงต้านมากนัก เหมือนกับคนของเหลวธรรมดา แต่ถ้าเราเอานิ้วหรือช้อนไปคนเร็วๆ โมเลกุลจะไม่มีเวลาขยับผ่านกัน มันจะยังพันกันเกี่ยวกันอยู่ แรงต้านที่นิ้วหรือช้อนจะเยอะมาก เราจะเห็นว่าโคลนแป้งมันกลายเป็นของแข็งทันทีเมื่อเราไปคนมันเร็วๆ

นอกจากคนโคลนแป้งมันเร็วๆแล้วเรายังจะสามารถเอานิ้วไปจิ้มๆเร็วๆหรือไปบีบมันเร็วๆ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นของแข็ง แต่ถ้าเอานิ้วไปจิ้มช้าๆนิ้วเราจะจมลงไปเหมือนจิ้มนิ้วลงไปในของเหลวหนืดๆ  ถ้าโยนไปมาเร็วๆเจ้าโคลนนี้ก็จะจับตัวเป็นก้อนแข็ง แต่ถ้าหยุดโยนเมื่อไร มันก็จะเลิกแข็งตัวแล้วไหลเป็นของเหลวหนืดๆอีก

(รายละเอียดสำหรับนักเรียนโตๆครับ: เรามีคำเรียกความยากง่ายเวลาเราคนของเหลวว่า “ความหนืด” ของเหลวอะไรคนยากเช่นน้ำผึ่งเราก็เรียกว่ามีความหนืดสูง ของเหลวอะไรคนง่ายเช่นน้ำเปล่าเราก็เรียกว่ามีความหนืดต่ำ โดยปกติความหนืดจะลดลงเมื่อของมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ขึ้นกับว่าเราคนเร็วหรือคนช้า เจ้าแป้งข้าวโพดผสมน้ำเป็นของเหลวที่ไม่ปกติ เนื่องจากความหนืดของมันขึ้นกับว่าเราคนเร็วหรือคนช้าด้วย ถ้าเราคนเร็วมากๆมันจะหนืดมากจนกลายเป็นของแข็งไปเลย ของเหลวที่ความหนืดขึ้นกับความเร็วในการคนเรียกว่า Non-Newtonian Fluid ตัวอย่างอื่นๆของ Non-Newtonian fluid ก็มีเช่น ทรายดูด (ถ้าเราตกไปแล้วขยับตัวเร็วๆมันจะฝืดมาก ทำให้เราหมดแรงและออกมาไม่ได้และอดน้ำหรืออาหารตาย วิธีรอดคือค่อยๆขยับตัวช้าๆมากๆเข้าหาฝั่ง) ซอสมะเขือเทศ (ถ้าอยู่เฉยๆจะหนืดมาก ถ้าเขย่าหรือตบจะหนืดน้อย)  Silly Putty (ถ้าทิ้งไว้นานๆจะไหลสู่ที่ตำ่เหมือนของเหลว ถ้าบีบช้าๆจะนิ่ม ถ้าโยนใส่พื้นจะกระเด้ง ถ้าทุบแรงๆจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆเหมือนแก้วแตก) ความจริงเรื่อง Non-Newtonian fluid มีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่ผมยกตัวอย่างให้พอเข้าใจกันโดยทั่วๆไป ถ้าสนใจเข้าไปที่ลิงค์แล้วดูรายละเอียดเพิ่มเติมนะครับ)

แล้วเราก็เล่นโคลนแป้งมันกันครับ เอาโคลนแป้งมันไปไว้บนลำโพง แล้วปล่ยอเสียงให้มีความสั่นสะเทือนไปตีโคลนครับ ถ้าปรับความถี่การสั่นให้เหมาะสม ลำโพงจะตีโคลนตอนมันตกลงมาพอดีทำให้โคลนกลายเป็นของแข็งตั้งขึ้นมาครับ:

 

ถ่ายวิดีโอสายน้ำสั่น โคลนแป้งเต้นระบำ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ช่วยกันถ่ายวิดีโอสายน้ำที่สั่นด้วยลำโพงความถี่คล้ายๆจำนวนภาพที่กล้องวิดีโอถ่ายต่อวินาที เราพยายามถ่ายให้ได้วิดีโอที่สายน้ำเหมือนลอยอยู่นิ่งๆ หรือค่อยๆวิ่งออกจากท่อช้าๆ หรือวิ่งเข้าท่อช้าๆ เด็กอนุบาลสามได้เล่นโคลนแป้งมันที่ปกติเป็นของเหลวแต่จะกลายเป็นของแข็งเมื่อโดนกด เราเลยเอาโคลนแป้งมันมาสั่นบนลำโพงซะเลย 

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ดูเชือกสั่นด้วยความถี่ธรรมชาติต่างๆ เสียงและการสั่นสะเทือน” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถม ผมให้ดูวิดีโอปริศนาอันนี้ครับ:

เป็นวิดีโอเฮลิคอปเตอร์บินโดยใบพัดหลักไม่หมุน และใบพัดที่หางหมุนช้าๆ ให้เด็กๆคิดกันว่าเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เด็กๆตอบกันว่าใบพัดหมุนเร็วมากจนถ่ายรูปออกมาเป็นอย่างนี้ ผมบอกเด็กๆว่ามันเกี่ยวกับใบพัดหมุนเร็วแค่ไหน (กี่รอบต่อวินาที) แต่ไม่ใช่ว่าเร็วมากๆแล้วจะถ่ายออกมาเป็นอย่างนี้ทุกความเร็ว หลังจากเด็กๆพยายามเดาต่อสักพักผมก็เฉลย

ผมเล่าให้เด็กฟังก่อนว่ากล้องวิดีโอทำงานอย่างไร กล้องวิดีโอทำงานโดยถ่ายรูปจำนวนมากๆเร็วๆแล้วเอารูปที่ถ่ายเหล่านั้นมาแสดงต่อๆกัน ทำให้เราเห็นเป็นการเคลื่อนไหว ปกติกล้องวิดีโอจะถ่ายภาพ 24, 25, 30, 50, หรือ 60 ครั้งต่อวินาที ผมถามเด็กๆว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราใช้กล้องถ่ายภาพ 30 ครั้งต่อวินาทีและใบพัดก็หมุน 30 ครั้งต่อวินาทีเหมือนกัน เด็กบางคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าภาพที่ถ่ายมาทั้งหมดจะเห็นใบพัดหมุนอยู่ในตำแหน่งเดิม เพราะทุกครั้งที่กล้องวิดีโอถ่ายรูป ใบพัดก็หมุนครบรอบพอดี ทำให้ภาพที่ถ่ายเห็นใบพัดอยู่อย่างเดิมๆ

ผมเอาปากกามาแทนใบพัดเฮลิคอปเตอร์แล้วค่อยๆขยับ พร้อมกับส่งเสียงแชะแทนการถ่ายรูปแต่ละรูป เด็กๆสังเกตได้ว่าถ้าปากกาหมุนครบรอบเมื่อมีเสียงแชะ ภาพที่ได้ก็เป็นภาพเดิม ถ้าปากกาหมุนเกินรอบไปเล็กน้อยทุกๆแชะ จะดูเหมือนปากกาหมุนเพิ่มไปทีละนิดๆ ถ้าปากกาหมุนไม่ถึงรอบโดยขาดไปเล็กน้อยทุกๆแชะ จะดูเหมือนปากกาหมุนถอยหลังช้าๆ ถ้าปากกาหมุน 2 (หรือ 3, 4, 5,…) รอบทุกแชะก็จะเห็นปากกาไม่หมุน

มีคลิปอธิบายดีๆเป็นภาษาอังกฤษที่นี่ครับ:

จากนั้นเราก็มาทำการทดลองคล้ายๆกัน แต่เนื่องจากเราไม่มีเฮลิคอปเตอร์ เราจึงเอาสายน้ำที่สั่นเป็นจังหวะมาถ่ายรูปครับ

เราเอาท่อพลาสติกไปติดกับลำโพงที่เราจะปล่อยเสียงให้สั่นตามความถี่ครั้งต่อวินาทีที่เรากำหนดได้ พอเราปล่อยน้ำให้วิ่งผ่านท่อ สายน้ำก็จะสั่นตามความถี่ที่เรากำหนด ผมบันทึกเป็นวิดีโอสรุปไว้ครับ:

เด็กๆถ่ายวิดีโอด้วยกล้องมือถือและแท็บเบล็ตกันใหญ่

สำหรับอนุบาลสาม เราเล่นโคลนแป้งมันเต้นระบำกันครับ

เวลาเราเอาแป้งมันไปละลายน้ำให้ข้นๆ(เหมือนโคลน) โมเลกุลยาวๆของมันจะลอยอยู่ในน้ำ พันกันยุ่งๆ ไขว้กันไปมา ถ้าเราเอานิ้วหรือช้อนคนช้าๆ โมเลกุลจะมีเวลาค่อยๆขยับผ่านกัน เราจึงไม่รู้สึกถึงแรงต้านมากนัก เหมือนกับคนของเหลวธรรมดา แต่ถ้าเราเอานิ้วหรือช้อนไปคนเร็วๆ โมเลกุลจะไม่มีเวลาขยับผ่านกัน มันจะยังพันกันเกี่ยวกันอยู่ แรงต้านที่นิ้วหรือช้อนจะเยอะมาก เราจะเห็นว่าโคลนแป้งมันกลายเป็นของแข็งทันทีเมื่อเราไปคนมันเร็วๆ

นอกจากคนโคลนแป้งมันเร็วๆแล้วเรายังจะสามารถเอานิ้วไปจิ้มๆเร็วๆหรือไปบีบมันเร็วๆ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นของแข็ง แต่ถ้าเอานิ้วไปจิ้มช้าๆนิ้วเราจะจมลงไปเหมือนจิ้มนิ้วลงไปในของเหลวหนืดๆ  ถ้าโยนไปมาเร็วๆเจ้าโคลนนี้ก็จะจับตัวเป็นก้อนแข็ง แต่ถ้าหยุดโยนเมื่อไร มันก็จะเลิกแข็งตัวแล้วไหลเป็นของเหลวหนืดๆอีก

(รายละเอียดสำหรับนักเรียนโตๆครับ: เรามีคำเรียกความยากง่ายเวลาเราคนของเหลวว่า “ความหนืด” ของเหลวอะไรคนยากเช่นน้ำผึ่งเราก็เรียกว่ามีความหนืดสูง ของเหลวอะไรคนง่ายเช่นน้ำเปล่าเราก็เรียกว่ามีความหนืดต่ำ โดยปกติความหนืดจะลดลงเมื่อของมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ขึ้นกับว่าเราคนเร็วหรือคนช้า เจ้าแป้งข้าวโพดผสมน้ำเป็นของเหลวที่ไม่ปกติ เนื่องจากความหนืดของมันขึ้นกับว่าเราคนเร็วหรือคนช้าด้วย ถ้าเราคนเร็วมากๆมันจะหนืดมากจนกลายเป็นของแข็งไปเลย ของเหลวที่ความหนืดขึ้นกับความเร็วในการคนเรียกว่า Non-Newtonian Fluid ตัวอย่างอื่นๆของ Non-Newtonian fluid ก็มีเช่น ทรายดูด (ถ้าเราตกไปแล้วขยับตัวเร็วๆมันจะฝืดมาก ทำให้เราหมดแรงและออกมาไม่ได้และอดน้ำหรืออาหารตาย วิธีรอดคือค่อยๆขยับตัวช้าๆมากๆเข้าหาฝั่ง) ซอสมะเขือเทศ (ถ้าอยู่เฉยๆจะหนืดมาก ถ้าเขย่าหรือตบจะหนืดน้อย)  Silly Putty (ถ้าทิ้งไว้นานๆจะไหลสู่ที่ตำ่เหมือนของเหลว ถ้าบีบช้าๆจะนิ่ม ถ้าโยนใส่พื้นจะกระเด้ง ถ้าทุบแรงๆจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆเหมือนแก้วแตก) ความจริงเรื่อง Non-Newtonian fluid มีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่ผมยกตัวอย่างให้พอเข้าใจกันโดยทั่วๆไป ถ้าสนใจเข้าไปที่ลิงค์แล้วดูรายละเอียดเพิ่มเติมนะครับ)

แล้วเราก็เล่นโคลนแป้งมันกันครับ เอาโคลนแป้งมันไปไว้บนลำโพง แล้วปล่ยอเสียงให้มีความสั่นสะเทือนไปตีโคลนครับ ถ้าปรับความถี่การสั่นให้เหมาะสม ลำโพงจะตีโคลนตอนมันตกลงมาพอดีทำให้โคลนกลายเป็นของแข็งตั้งขึ้นมาครับ:

 เด็กๆเล่นกันสนุกสนานดีครับ