Category Archives: science toy

วิทย์ประถม: สร้างไฟฟ้าสถิต, รู้จัก Electroscope

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับไฟฟ้า ประจุไฟฟ้า การดูดผลักของประจุไฟฟ้า การสั่นของประจุไฟฟ้าทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราใช้ติดต่อสื่อสารกัน (วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ Wi-fi ไมโครเวฟ) รู้จักการสร้างไฟฟ้าสถิตด้วยการขัดถู และรู้จักเครื่องมือตรวจจับไฟฟ้าสถิตที่เรียกว่า electroscope

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือเสกคนออกมาจากกล่องครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

จากนั้นผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าของต่างๆมีส่วนประกอบเล็กๆที่เรียกว่าอะตอม ในอะตอมจะมีประจุไฟฟ้าบวกจากโปรตอน และประจุไฟฟ้าลบจากอิเล็คตรอน ประจุที่เป็นบวกจะดึงดูดประจุลบ แต่ประจุบวกจะผลักประจุบวกอันอื่น ประจุลบก็ผลักประจุลบอันอื่น (คือ + + หรือ – – จะผลักกัน แต่ +- จะดูดกัน)

ของที่ประจุวิ่งผ่านไปมาได้ไม่ยากเรียกว่าตัวนำไฟฟ้า ตัวอย่างของตัวนำไฟฟ้าก็เช่นโลหะต่างๆ น้ำเกลือ น้ำกรด น้ำด่าง ของที่ประจุวิ่งผ่านไปมายากๆเรียกว่าฉนวนไฟฟ้า เช่นพลาสติก ยาง กระดาษ ไม้แห้ง อากาศ

วัตถุต่างๆโดยปกติจะมีจำนวนประจุบวกและประจุลบเท่าๆกัน ทำให้มีลักษณะเป็นกลางทางไฟฟ้า ไม่มีประจุลบหรือบวกเกิน

เวลาเราเอาวัตถุต่างชนิดมาแตะกันหรือถูกัน บางทีประจุจะถ่ายเทกันระหว่างวัตถุ พอแยกวัตถุออกจากัน วัตถุแต่ละชิ้นก็จะมีประจุบวกหรือประจุลบเกิน เรียกว่าเกิดไฟฟ้าสถิต

เราสามารถประดิษฐ์เครื่องมือง่ายๆเพื่อตรวจจับและเปรียบเทียบไฟฟ้าสถิตได้ เครื่องมีอนี้เรียกว่าอิเล็กโทรสโคป (Electroscope) หน้าตาและวิธีประดิษฐ์เป็นดังในคลิปครับ:

ผมเคยบันทึกคลิปวิธีประดิษฐ์ไว้ในอดีตโดยใช้ถ้วยที่ใสและเล็กกว่าปัจจุบัน อาจจะเห็นได้ชัดขึ้นครับ:

อิเล็กโทรสโคปทำงานเมื่อมีไฟฟ้าสถิตมาอยู่ใกล้ๆแผ่นอลูมิเนียมด้านบน สมมุติว่ามีไฟฟ้าสถิตที่เกิดจากประจุลบเกินมาอยู่ใกล้ๆด้านบน ประจุลบจากแผ่นอลูมิเนียมด้านบนก็จะถูกดันให้ลงไปด้านล่าง ประจุลบดันกันลงไปเป็นทอดๆจนไปอยู่ในแผ่นฟอยล์อลูมิเนียมด้านล่างที่ห้อยอยู่ ฟอยล์ทั้งสองแผ่นมีประจุลบเยอะเหมือนกันทั้งคู่จึงผลักกันและแยกออกจากกัน

สำหรับเด็กประถมปลายผมเล่าให้ฟังว่าประจุไฟฟ้าสั่นไปมาด้วยความถี่ต่างๆมันก็จะทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งออกมารอบๆ ถ้าเราเอาตัวนำไฟฟ้าเช่นเสาอากาศไปโดนคลื่นเหล่านี้ ประจุไฟฟ้าในตัวนำก็จะสั่นตามคลื่น เราสามารถตรวจจับการสั่นนี้ได้ ทำให้เรามีเทคโนโลยีสื่อสารและสังเกตการณ์ต่างๆครับ

ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผมเคยบันทึกไว้ในลิงก์เหล่านี้ครับ: https://witpoko.com/?p=3891, https://witpoko.com/?p=49, https://witpoko.com/?p=4361

หลังจากเด็กๆรู้จักไฟฟ้าสถิตและอิเล็กโทรสโคปแล้ว เด็กๆก็สร้างไฟฟ้าสถิตโดยการขัดถูสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันเช่นหลอดพลาสติกกับผ้าฝ้าย, ลูกโป่งกับผ้า, ลูกโป่งกับผม แล้วไปดูดเม็ดโฟมและอิเล็กโทรสโคปเล่นกันครับ

เวลาก่อนเรียนและเวลาที่เหลือผมให้เด็กๆดูวิดีโอหุ่นยนต์จากบริษัท Boston Dynamics ด้วย เด็กๆตื่นเต้นมากครับ อันนี้เป็นหุ่นยนต์รุ่นแรกๆเมื่อสิบปีที่แล้ว:

อันนี้เป็นรุ่นใหม่ๆปี 2019:

อันนี้เป็นหุ่นยนต์สี่ขา มีแขนจับของ:

อันนี้หุ่นยนต์เต้นระบำกันครับ:

แถมด้วยงานวิจัยหุ่นยนต์ตัวนิ่มด้วยครับ:

วิทย์ประถม: สร้างเมฆในขวด

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล จากนั้นเราทำการทดลองเมฆในขวดกัน (ทำให้ไอน้ำหรือไอแอลกอฮอล์ในขวดเย็นลงจนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆเหมือนการเกิดของเมฆ)

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆประถมได้ดูมายากลเหล่านี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือกลเดินทะลุกำแพงครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ต่อจากนั้นผมก็สอนเด็กๆให้สร้างเมฆในขวดครับ

หลักการทำงานก็คือเมื่อเราอัดอากาศให้มีความดันเพิ่มขึ้น อุณหภูมิอากาศจะสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเราให้อากาศขยายตัว อุณหภูมิของมันก็จะต่ำลง ถ้าเราสามารถให้อากาศขยายตัวอย่างรวดเร็วให้ความดันลดอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิมันก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกันครับ

ใช้หลักการที่ว่าอากาศขยายตัวจะเย็นมาสร้างเมฆในขวดครับ โดยเอาน้ำหรือแอลกอฮอล์เล็กน้อยใส่ขวดใส อัดอากาศเข้าไปให้ความดันสูงๆ อุณหภูมิในขวดก็จะสูงขึ้นด้วยตามความดันทำให้มีน้ำหรือแอลกอฮอล์ระเหยเป็นไอมากขึ้น เมื่อเปิดปากขวดให้อากาศวิ่งออกอย่างรวดเร็ว ความดันข้างในก็จะลดลง อุณหภูมิก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ไอน้ำหรือไอแอลกอฮอล์ก็จะควบแน่นกลายเป็นละอองเล็กๆลอยอยู่ในขวด เป็นเมฆหมอกให้เราเห็น เมฆในท้องฟ้าก็เกิดแบบประมาณนี้ โดยไอน้ำลอยขึ้นไปสูงๆแล้วเย็นลงควบแน่นเป็นเมฆครับ ตอนอัดอากาศและตอนปล่อยอากาศเราลองวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์อินฟราเรดด้วยครับ พบว่าอุณหภูมิต่างกันประมาณ 4-7 องศาเซลเซียส

วิธีเล่นก็แบบในคลิปครับ:

ผมเคยบันทึกวิธีทำไว้ในคลิปเหล่านี้ครับ อันนี้ทำด้วยน้ำเย็น:

อันนี้ทำด้วยแอลกอฮอล์:

อันนี้เปรียบเทียบระหว่างทำด้วยน้ำ ทำด้วยแอลกอฮอล์ และแบบใช้ขวดเปล่า:

สำหรับเด็กประถมต้น ผมเป็นคนอัดอากาศแล้วให้เด็กๆผลัดกันเข้ามาวัดและสังเกตอุณหภูมิ:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้หัดทำกันเองทุกอย่างครับ:

วิทย์ม.ต้น: ทฤษฎีบทไม้เทนนิส (Tennis Racket Theorem), Rattleback, หัดใช้มัลติมิเตอร์

วันนี้ผมเล่าเรื่องทฤษฎีบทไม้เทนนิส (Tennis Racket Theorem) และของเล่น Rattleback ให้เด็กๆม.ต้นฟัง เนื้อหาและการทดลองเหมือนกับที่บันทึกไว้ที่นี่ครับ

แนะนำให้ดูคลิปเหล่านี้ครับ:

สำหรับเด็กๆที่สนใจฟิสิกส์เพิ่มเติม ลองดูลิงก์นี้ด้วยก็ได้ครับ: Why Do Tennis Rackets Tumble? The Dzhanibekov Effect Explained…

จากนั้นเด็กๆได้หัดใช้มัลติมิเตอร์กัน วันนี้ทดลองวัดความต้านทานสิ่งต่างๆรอบตัวกัน มีการหัดใช้ continuity test ดูว่าสายไฟขาดหรือเปล่า เนื้อหาก็คล้ายๆในคลิปนี้ครับ:

เด็กๆรู้จักการต่อความต้านทานแบบอนุกรมและแบบขนาน และทดลองวัดกับตัวต้านทานจริงๆ:

แนะนำให้เด็กไปดูคลิปทั้งหมดในลิสต์ Electronics for Beginners ข้างล่างนี้เป็นการบ้านก่อนมาพบกันอีกครั้งวันพุธหน้าครับ: