ตัวอย่างการคิดลัด ไม่ใช้เหตุผล (ต่อจากตอนที่แล้ว)

ตอนที่แล้วอยู่ที่ “สิ่งควรรู้สำหรับผู้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (1)

ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องสิ่งควรรู้สำหรับผู้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอนที่ 2 เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. เราต้องตระหนักว่าเราตัดสินใจด้วยความรู้สึกและอารมณ์มากกว่าเหตุผลเสมอๆ นอกจากนี้เรายังไม่ค่อยรู้ตัวและคิดว่าตนเองมีเหตุผลซะด้วย ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องสำคัญเราควรค่อยๆคิด ค่อยๆใช้เหตุผลและข้อมูลตัดสินใจ ระวังการใช้อคติทางจิตวิทยา (cognitive bias) ตัดสินใจในเรื่องเหล่านั้น
  2. วันนี้เรามีตัวอย่าง cognitive biases อีกหลายอันมาคุยกันดังในข้อ 3-7
  3. Survivorship Bias หรือเราอาจตัดสินใจผิดเพราะเราสังเกตเห็นแต่สิ่งที่ “รอด” มาได้เท่านั้น ไม่เห็นส่ิงที่ “ไม่รอด” เช่นการกินสมุนไพรรักษามะเร็ง เราจะได้ยินเฉพาะจากคนที่กินแล้วไม่ตายเท่านั้น เรามักจะไม่ได้ยินเรื่องราวจากคนตายไปแล้ว เราต้องคิดถึงข้อมูลต่างๆที่เราอาจยังไม่เห็นด้วย
    อีกตัวอย่างก็คือปัญหาสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ว่าจะเสริมเกราะให้เครื่องบินตรงไหนดีถ้าเรามีข้อมูลว่าเครื่องบินที่ออกไปรบและบินกลับมามีรอยกระสุนตรงไหนบ้าง คนส่วนใหญ่จะบอกว่าควรติดเกราะเพิ่มแถวๆที่ถูกยิงเยอะๆสิ แต่จริงๆแล้วลืมไปว่าเราเห็นข้อมูลเฉพาะเครื่องบินที่รอดกลับมาเท่านั้น แสดงว่าความเสียหายจากรอยกระสุนเหล่านั้นยังไม่วิกฤติ เราควรเลือกเสริมเกราะที่ตำแหน่งที่ไม่เคยพบบนเครื่องที่บินกลับมาดีกว่า เพราะเครื่องที่ถูกยิงตำแหน่งเหล่านั้นไม่เคยบินกลับมาได้
  4. Story bias คือการที่คนเราชอบทำความเข้าใจสิ่งต่างๆโดยการผูกให้เป็นเรื่องราว ทั้งนี้เรื่องจริงๆมักจะซับซ้อนกว่าเรื่องที่เราแต่งขึ้นมาอธิบายอย่างมาก เรามักจะพยายามหาความหมายและเหตุผลในส่ิงต่างๆที่เกิดขึ้นแม้ว่าในบางครั้งสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่มีความสัมพันธ์อย่างที่เราคิด  ข้อเสียคือเรามักคิดว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆดีแล้วเพราะเรื่องที่เราแต่งเพื่ออธิบายฟังดูดีสำหรับเรา แม้ว่าความเข้าใจของเราจะห่างไกลกับความเป็นจริงก็ตาม
    นี่เป็นเหตุผลที่คนเราชอบทฤษฎีสมคบคิดด้วย
  5. Hindsight bias คือการที่เราสามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วอย่างมั่นใจ สามารถเห็นสาเหตุและผลลัพธ์ต่างๆได้ ตัวอย่างก็เช่นนักวิเคราะห์หุ้นบอกว่าหุ้นตัวนี้ขึ้นเพราะสาเหตุนี้ หุ้นตัวนี้ตกเพราะสาเหตุนี้หลังจากหุ้นขึ้นหรือตกไปแล้ว หรือหมอดู หรือนักประวัติศาสตร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ หรือใครก็ตามสามารถอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านไปแล้วได้เป็นฉากๆอย่างมั่นใจ แต่จะไม่สามารถทำนายอนาคตอะไรได้ถูกต้องนัก
  6. Halo effect คือการที่เราเห็นข้อดีเด่นๆของใครหรืออะไร แล้วเราก็ตัดสินเรื่องอื่นๆของคนนั้นหรือสิ่งนั้นไปในทางที่ดีๆ ในทางกลับกันถ้าเราเห็นข้อเสียเด่นๆเราก็ตัดสินเรื่องอื่นๆไปในทางร้ายๆด้วย ตัวอย่างก็เช่นทำไมคนหน้าตาดีจึงมักได้รับความยอมรับง่ายกว่าคนหน้าตาไม่ดี หรือทำไมตัวร้ายในหนังจึงมักจะมีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวไปด้วย ทำไมถึงมีหนังสือประวัติคนรวยเต็มไปหมด
  7. Regression to the mean หรือการถอยเข้าหาค่าเฉลี่ยคือปรากฏการณ์ที่เมื่อเราทำอะไรได้ผลดีมากๆหรือผลร้ายมากๆแล้ว เมื่อเราทำสิ่งเดียวกันอีกผลที่ได้มักจะไม่ดีเท่าหรือร้ายเท่า แต่จะใกล้ค่าเฉลี่ยปกติของเรามากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากสถิติและความน่าจะเป็นของผลลัพธ์สิ่งต่างๆที่มีส่วนขึ้นกับโชคและความผันผวนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่นถ้าวันนี้เราตีกอล์ฟได้ดีมากๆ วันต่อไปที่เราตีกอล์ฟมักจะไม่ได้ผลดีเท่าวันนี้ หรือความเข้าใจผิดที่ว่าการดุด่าได้ผลดีมากกว่าคำชมเพราะคนที่ถูกด่ามักจะทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อมา แต่คนที่ถูกชมมักจะทำได้ไม่ดีเท่าเดิม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.