ไฟฟ้าสถิตหน้าหนาว

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องไฟฟ้าสถิตหน้าหนาว เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. หน้าหนาวเรามักจะโดนไฟฟ้าสถิตช็อตเมื่อร่างกายไปแตะสิ่งต่างๆหรือแม้แต่คนอื่น สาเหตุสำคัญก็เพราะอาการหน้าหนาวมีอุณหภูมิต่ำและแห้งกว่าฤดูอื่นๆ (ดังนั้นในห้องแอร์เราก็โดนช็อตบ่อยเพราะอุณหภูมิต่ำและอากาศแห้งเหมือนกัน)
  2. ไฟฟ้าสถิตช็อตได้เพราะร่างกายเราสะสมประจุไฟฟ้าส่วนเกินจนมีความต่างศักย์เป็นหมื่นโวลท์เมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆรอบๆตัว
  3. เราสะสมประจุไฟฟ้าส่วนเกินจากการเสียดสีกับสิ่งรอบตัว เมื่อเราเอาวัสดุที่สองชนิดมาแตะหรือถูกัน จะมีประจุไฟฟ้าถ่ายเทระหว่างวัตถุ (เรียกว่า Triboelectric effect) ดังนั้นเมื่อเราไปเสียดสีกับสิ่งแวดล้อม เราก็มีประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้
  4. วิธีลดโอกาสโดนไฟฟ้าสถิตช็อตก็สามารถแก้ที่สาเหตุทั้งสามข้างต้น
  5. (แก้ข้อ 1) ถ้าเราเพิ่มความชื้นในอากาศรอบๆตัวได้ เช่นเปิดให้อากาศข้างนอกมาผสมกับอากาศห้องแอร์บ้าง ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (humidifier) หรือทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิว ความชื้นที่เพิ่มขึ้นจะนำประจุไฟฟ้าออกไปจากร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่สะสมจนความต่างศักย์สูงมากจนช็อต (แต่การผสมอากาศหรือเพิ่มความชื้นก็ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น เสียค่าไฟเพิ่มขึ้น)
  6. (แก้ข้อ 2) ถ้าเราหาทางให้ประจุไฟฟ้าไหลไปจากร่างกายเราแบบค่อยเป็นค่อยไปเราก็จะไม่สะสมประจุมากจนช็อต วิธีที่ทำได้ง่ายๆคือเอามือแตะผนังปูนสัก 5 วินาที (ผนังมีความชื้นอยู่บ้างและมีโครงเหล็ก สามารถนำไฟฟ้าลงไปที่ดินได้บ้าง) ก่อนจะก้าวลงจากรถให้ใช้มือจับตัวถังรถก่อนเพื่อให้ประจุที่เกิดจากการขยับตัวไปมาเสียดสีกับเบาะแบ่งไปที่ตัวถังรถด้วยจะได้ไม่มีความต่างศักย์สูงๆ หรือจับกุญแจโลหะไปแตะกับสิ่งอื่นๆและให้ไฟช็อตโลหะแทนมือเรา เราจะเห็นหลักการนี้ถ้าเราสังเกตุรถเข็นโลหะตามซูเปอร์มาเก็ตหลายแห่ง หรือตามรถบรรทุกน้ำมันจะมีโซ่โลหะห้อยลงมาใกล้ๆพื้น ประจุไฟฟ้าจะได้ถ่ายเทลงพื้นได้ง่ายๆลดโอกาสสะสมประจุ
  7. (แก้ข้อ 3) เลือกวัสดุแต่งตัวที่ไม่ถ่ายเทประจุมากกับสภาพแวดล้อม (ต้องดูตาราง Triboelectric series) เช่นใส่เสื้อผ้าฝ้ายจะลดโอกาสช็อตกว่าใส่เสื้อผ้าใยสังเคราะห์จากพลาสติก เวลาเดินไม่ควรเดินลากขาเพราะมีการเสียดสีมากกว่าเดินเป็นก้าวๆ เป็นต้น

ลิงก์น่าสนใจ:

ความรู้เบื้องต้นว่าไฟฟ้าสถิตและการช็อตมาได้อย่างไร:

ตารางวัสดุว่าอะไรถูกับอะไรแล้วมีไฟฟ้าสถิตมากน้อย (triboelectric series):

ลิงก์ที่ 1

ลิงก์ที่ 2

รายการรู้เท่ารู้ทันที่ ThaiPBS:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.