เลนส์ลูเบอร์, น้ำพุโซ่, เสือไต่ถัง

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดอธิบายกลคนเดินทะลุกระจกเพื่อฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์ และได้ดูคลิปแปลกๆเกี่ยวกับการ “สะกดจิต” สัตว์ ประถมต้นได้ดูน้ำพุโซ่ ประถมปลายได้เล่นเลนส์ลูเบอร์ อนุบาลสามทับสามได้เล่นเสือไต่ถังซึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนที่เป็นวงกลมกันครับ สัปดาห์นี้เกือบเหมือนกับสัปดาห์ที่แล้วครับเพราะประถมต้นและประถมปลายสลับกันเล่นของเล่นจากสัปดาห์ที่แล้ว

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เลนส์กล, น้ำพุโซ่, เสือไต่ถัง” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือเดินทะลุกระจกครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

นอกจากนี้เด็กๆได้ดูวิดีโอของแปลกเกี่ยวกับการ “สะกดจิต” ไก่ ฉลาม และสัตว์อื่นๆครับ คือเราสามารถทำให้สัตว์เหล่านี้อยู่นิ่งๆและผ่อนคลายเหมือนถูกสะกด ผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไรครับ แต่มีคนคิดว่าอาจเกี่ยวกับสัญชาติญาณอยู่นิ่งๆเพื่อหลบภัย หรือการผ่อนคลายจนเกือบหลับครับ

หลังจากดูคลิปของแปลกแล้ว เด็กๆประถมต้นได้เล่นน้ำพุโซ่ที่เราเอาโซ่เล็กๆมาใส่ถ้วยแล้วปล่อยให้ปลายข้างหนึ่งตกลง ปลายที่ตกจะตกเร็วขึ้นจากแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อเร็วพอมันจะดึงให้โซ่ที่เหลือในถ้วยวิ่งออกจากถ้วยด้วยความเร็วสูง โซ่ที่วิ่งขึ้นจะพุ่งไปสูงกว่าขอบถ้วยก่อนจะเลี้ยวตกลงสู่พื้น:

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าน้ำพุโซ่ทำงานอย่างไร เปเปอร์อยู่ที่ https://royalsocietypublishing.org/doi/full/10.1098/rspa.2013.0689 พบว่าแต่ละปล้องของโซ่จะต้องบิดและดีดตัวมันขึ้นมาจากพื้นด้วยถึงจะเกิดปรากฎการณ์นี้ได้ เชือกนิ่มๆจะไม่สามารถพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุได้แต่โซ่ที่แต่ละปล้องสามารถประมาณได้ด้วยแท่งตรงๆสั้นๆจะพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุได้:

เด็กประถมปลายได้เลนส์เล่นกลที่เรียกว่า Lubor’s Lens (เลนส์ลูเบอร์) กัน เลนส์นี้เป็นแผ่นพลาสติกบางๆที่จะมีเส้นนูนเล็กๆเรียงกันเป็นแถบเส้นตรง เส้นนูนเหล่านี้จะทำให้แสงในแนวหนึ่งกระจัดกระจายขณะที่ในแนวที่ตั้งฉากจะวิ่งผ่านไปได้ดีกว่ามาก เวลามองผ่านเลนส์นี้เราจะเห็นของที่วางในแนวหนึ่งแต่จะไม่เห็นในอีกแนวหนึ่งดังภาพและคลิปต่อไปนี้:

เห็นเฉพาะแนวตั้ง
เห็นเฉพาะแนวนอน

สำหรับเด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิ ผมก็ให้เล่นและสังเกตของเล่น “เสือไต่ถัง” ที่เราเอาลูกแก้วไปวิ่งเร็วๆในขอบกาละมัง สังเกตว่าเมื่อลูกแก้วกระเด็นหลุดออกจากกาละมังมันจะวิ่งไปในแนวตรงๆไม่เลี้ยวโค้ง แสดงว่าขอบกาละมังดันลูกแก้วเข้าสู่กลางกาละมังบังคับให้ลูกแก้ววิ่งโค้งได้ ผมเคยอัดคลิปวิธีเล่นไว้แล้วดังนี้:

พอเด็กๆรู้จักวิธีเล่นก็เล่นกันเองครับ:

One thought on “เลนส์ลูเบอร์, น้ำพุโซ่, เสือไต่ถัง”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.