วิทย์ม.ต้น: COGNITIVE BIASES สามอย่าง, พยายามวัดปริมาตรอากาศจากเครื่องฟอกอากาศทำเอง

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Base-Rate Neglect, Gambler’s Fallacy, The Anchor

Base-rate neglect คือการที่คนเรามักจะไม่ค่อยสนใจหรือลืมไปว่าสิ่งต่างๆมีมากมีน้อยแค่ไหน เวลาได้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจจึงมักให้นำ้หนักกับสิ่งที่ข้อมูลทำให้คิดถึงทันที ไม่ได้ดูว่าจะเป็นสิ่งอื่นได้ไหมทั้งๆที่สิ่งอื่นๆอาจเป็นไปได้มากกว่า เช่นมีอาการปวดหัว เลยไปค้นหาใน Google ค้นไปค้นมาคิดว่าตนเองเป็นโรคร้ายแรงทั้งๆที่อาการปวดหัวแบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคร้ายแรงอาจเป็นส่วนน้อยเท่านั้น เรายังไม่ควรให้น้ำหนักมากเกินไป

อีกตัวอย่างก็เช่นการกรองหาผู้ก่อการร้าย ถ้ามีวิธีถ่ายรูปหน้าแล้วตรวจสอบกับฐานข้อมูล สมมุติว่าใช้วิธีนี้ถ้าเป็นผู้ก่อการร้ายจริงจะตอบถูก 100% แต่บางครั้งคนที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายจะถูกรายงานไปด้วย สมมุติว่าระบบรายงานผิดแบบนั้น 1% คนทั่วไปเมื่อได้ยินว่าระบบนี้ชี้ว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายก็จะให้น้ำหนักมากใกล้ๆ 99-100% ว่าคนนั้นต้องเป็นผู้ก่อการร้ายแน่ๆ แต่เขาลืมไปว่าปกติมีจำนวนผู้ก่อการร้ายเท่าไร มีจำนวนคนปกติเท่าไร วิธีคิดที่ถูกต้องคิดแบบนี้: ถ้ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ 0.01% ในประชากรทั้งหมด (คือมี 1 คนในหมื่นคน) แล้วเราใช้ระบบนี้ตรวจสอบคนล้านคน ระบบจะบอกว่าพบผู้ก่อการร้าย = จำนวนที่เป็นผู้ก่อการร้ายจริงๆและระบบทำงานถูกต้อง + จำนวนที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแต่ระบบทำงานผิดพลาด = 100% x 0.01% x 1,000,000 + 1% x 99.99% x 1,000,000 = 100 + 9,999 = 10,099 คน ในหมื่นกว่าคนนี้มีแค่ 100 คนที่เป็นผู้ก่อการร้ายจริงๆ เพราะจำนวนคนปกติมีมากกว่าผู้ก่อการร้ายมาก และความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของระบบทำให้มีการกล่าวหาคนบริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

Gambler’s fallacy คือการที่เราเล่นพนันโดยคิดว่าผลที่จะออกครั้งต่อไปควรจะออกตรงข้ามกับที่ออกมาเพื่อให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยมากขึ้น เช่นโยนเหรียญแล้วออกหัวมา 3 ครั้ง ครั้งต่อไปเราคิดว่าน่าจะออกก้อยมากกว่าหัว หรือดูว่าเลขท้ายสองตัวตัวไหนที่ยังไม่ออกแล้วเราก็แทงเลขนั้น

The anchor หรือ anchoring คือการที่เรามักใช้ข้อมูลแรกๆในการตัดสินใจ ข้อมูลแรกๆทำหน้าที่เหมือนสมอเรือ (anchor) ทำให้ความคิดเราติดอยู่แถวๆนั้น เช่นการตั้งราคาสินค้าและบริการไว้สูงๆแล้วผู้ซื้อก็จะต่อรองจากราคาเริ่มต้นสูงๆนั้น ไม่ได้พิจารณาว่าราคาที่สมควรน่าจะอยู่แถวๆไหน

ในเวลาที่เหลือ เด็กๆพยายามทดลองวัดปริมาตรอากาศที่ผ่านการฟอกอากาศออกมาด้วยเครื่องฟอกประกอบเอง วันนี้เราใช้เครื่องฟอกที่ทำจากพัดลมเป่าลมใส่ ไส้กรอง HEPA โดยตรง ไม่ใช่แบบที่ใส่กล่องแล้วให้อากาศถูกดูดผ่านไส้กรองแบบครั้งที่แล้ว สาเหตุที่ทำแบบนี้เพราะลมที่เป่าผ่านไส้กรองมาตรงๆจะสะอาดมากแม้ว่ากระแสลมจะต่ำก็ตาม ค่า PM 2.5 เท่ากับประมาณ 0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้คำนวณและประมาณเรื่องต่างๆที่จะทำต่อไปง่ายขึ้นด้วยครับ

เอาพัดลมเป่าใส่ ไส้กรอง HEPA แล้ววัดฝุ่นในอากาศที่ผ่านออกมา ลมจะออกมาด้วยความเร็วต่ำ (ที่เห็นสีดำๆคือชั่นถ่านกัมมันต์สำหรับดูดกลิ่น ตัวไส้กรอง HEPA อยู่ข้างใต้)
อากาศที่พึ่งผ่านไส้กรอง HEPA จะมีฝุ่นน้อยมาก

เด็กๆเอาถุงพลาสติกบางๆมารับอากาศที่ผ่านไส้กรองแล้วจับเวลากันครับ

เด็กจับเวลาและพยายามหาปริมาตรของถุงโดยการประมาณเป็นทรงกระบอกแบบต่างๆ รวมถึงตวงน้ำใส่ด้วย พบว่าอากาศออกมาประมาณ 3 ลิตรต่อวินาทีครับ

ถ้าจะใช้อุปกรณ์แบบนี้ฟองอากาศ ควรเอาไปวางหน้าพัดลมหรือแอร์ที่พ่นลมออกมาแรงๆ อากาศที่ถูกฟอกแล้วจะได้กระเด็นไปไกลๆไปผสมกับอากาศอื่นๆ เพราะถ้าไม่เป่าให้ไปไกลๆอากาศที่พึ่งถูกฟอกอาจถูกดูดกลับเข้าไปฟอกใหม่เพราะความเร็วของลมออกมาไม่เร็ว และอากาศไกลๆที่ยังไม่ได้ฟอกไม่ได้เข้ามาใกล้ๆเครื่องฟอกครับ

หาแหล่งลมอีกอันพัดอากาศสะอาดให้วิ่งไปผสมกับอากาศอื่นๆไกลๆขึ้นครับ

เราใช้อุปกรณ์เหล่านี้กันครับ หาได้ตามร้านขายของตกแต่งบ้านเช่น HomePro หรือสั่งจากเว็บของฮาตาริก็ได้ครับ:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.