แรงลอยตัว, Chromatography, ลูกปิงปองยกลูกเทนนิส

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดอธิบายมายากล (ฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์) ประถมต้นได้ทำกิจกรรมรู้จักกับแรงลอยตัว ประถมปลายได้เล่นแยกส่วนประกอบสีเมจิกด้วยวิธี Chromatography เด็กอนุบาลสามได้เล่นของเล่นลูกปิงปองยกลูกเทนนิสด้วยการเหวี่ยงเป็นวงกลม

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ทำยังไงให้เห็นอากาศ การเคลื่อนที่เป็นวงกลมต้องมีแรงสู่ศูนย์กลาง” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

เด็กประถมได้ดูมายากลอันนี้ครับ ผู้หญิงเข้าไปในกล่องแล้วดูเหมือนหายไป เด็กๆดูเฉพาะส่วนมายากลก่อน ยังไม่ดูเฉลยครับ:

ให้เด็กๆคิดและเสนอคำอธิบายว่ากลนี้ทำได้อย่างไร ให้หัดสังเกต ตั้งสมมุติฐานและตรวจสอบว่าสมมุติฐานเข้ากันได้กับข้อสังเกตต่างๆไหม สมมุติฐานไหนขัดกับข้อสังเกตและต้องล้มไป เป็นการหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ หลังจากเด็กๆคิดกันสักพักก็ดูเฉลยกันครับ

ต่อจากนั้นเด็กประถมต้นได้ทำกิจกรรมเพื่อเริ่มเข้าใจเรื่องแรงลอยตัว ถามเด็กๆว่าเด็กๆเคยลงไปในน้ำไหม สามารถลอยตัวด้วยท่าปลาดาวหรือแมงกระพรุนไหม 

ตัวอย่างการลอยตัวแบบปลาดาวครับ: 

ถามเด็กๆว่าทำไมคนถึงลอยอยู่ได้ และถ้าจะจมจะต้องเป็นอย่างไร สักพักเด็กๆก็เข้าใจว่าในปอดและกระเพาะมีอากาศช่วยให้ลอย ถ้าน้ำเข้าปอดเข้ากระเพาะก็จะจม เราทดลองแบบจำลองด้วยขวดแก้วปิดและเปิดให้น้ำเข้าไปเพื่อเปรียบเทียบการลอยและจม:

ต่อจากนั้นเด็กๆก็ผลัดกันกดขวดพลาสติกขนาดใหญ่ปิดฝา เปรียบเทียบกับขนาดเล็กปิดฝา ว่าแบบไหนกดให้จมน้ำยากกว่ากัน เด็กๆก็เข้าใจว่าขนาดขวดที่จมในน้ำมีผลว่าจมยากจมง่ายแค่ไหน:

จากนั้นเด็กๆก็ลองเปรียบเทียบขวดขนาดใหญ่เท่ากัน ปิดฝาทั้งคู่ แต่ขวดหนึ่งใส่น้ำไว้ครึ่งขวด อีกขวดมีแต่อากาศ  เด็กๆเดาถูกว่าขวดที่มีแต่อากาศน่าจะกดให้จมได้ยากกว่า แล้วก็ลองทดลองกดจริงๆ:

สำหรับเด็กประถมต้น เราจะทำการทดลองเกี่ยวกับแรงลอยตัวต่อไปอีกในอนาคตครับ วันนี้เป็นการเริ่มเล่นให้คุ้นเคยก่อน

สำหรับเด็กประถมปลาย วันนี้ผมให้เล่น Chromatography (โครมาโตกราฟี) แบบที่เราเล่นกันเรียกว่าโครมาโตกราฟีแบบกระดาษ วิธีก็คือเอากระดาษกรอง (เช่นกระดาษกรองสำหรับชงกาแฟ) มาแต้มด้วยสี แล้วเอาปลายด้านหนึ่งจุ่มน้ำ (อย่าให้ท่วมจุดสีที่แต้ม) แล้วรอให้น้ำซึมขึ้นมาบนกระดาษและพาส่วนประกอบต่างๆของจุดสีวิ่งตามมาด้วย ส่วนประกอบต่างๆวิ่งช้าเร็วไม่เท่ากันเลยเห็นมันแยกออกจากกันครับ ถ้าสีไม่ละลายน้ำมันก็จะไม่ซึมไปตามกระดาษกรอง ต้องหาสารละลายอื่นที่ละลายสีได้มาใช้แทนน้ำ เทคนิคโครมาโตกราฟีนี้ใช้แยกสารที่ผสมกันอยู่ให้รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่วันนี้เด็กๆตื่นเต้นกับการทำให้มีลวดลายสวยๆกันมากกว่า ซึ่งก็ดีแล้วครับ กิจกรรมต้องสนุกก่อนถึงจะมีหวังว่าเด็กๆจะอยากรู้เพิ่มเติม

ตัวอย่างสีที่เด็กๆทำเป็นรุ้งเลยครับ:

สำหรับเด็กอนุบาล 3/1 เด็กๆได้เล่นใช้ของเบายกของหนักด้วยการเคลื่อนที่เป็นวงกลมครับ ถ้าเป็นทฤษฎีก็คือถ้าของจะเคลื่อนที่เป็นวงกลม มันต้องมีแรงสู่ศูนย์กลางดึงมัน ถ้าเราใช้เชือกผูกของที่แกว่งเป็นวงกลม แรงตึงในเชือกก็สามารถเอาไปยกของได้ครับ แต่สำหรับเด็กๆเราไม่ได้คุยกันเรื่องทฤษฎีอะไร แค่บอกวิธีประดิษฐ์ของเล่นเพื่อให้ไปลองทำและเล่นดูดันนี้ครับ:

ผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้โดยใช้ยางลบและลูกเทนนิสด้วยครับ:

เด็กๆสนุกสนานกับการเหวี่ยงและหมุนกันใหญ่ครับ:

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.