ทำยังไงให้เห็นอากาศ การเคลื่อนที่เป็นวงกลมต้องมีแรงสู่ศูนย์กลาง

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดเดาวิธีเล่นมายากล และได้ดูวิธีการมองภาพความหนาแน่นของอากาศที่เรียกว่า Schlieren Opticsเด็กอนุบาลสามได้เล่นเลี้ยงลูกแก้วให้วิ่งอยู่ตามขอบกาละมังโดยให้เห็นว่าถ้าไม่มีขอบกาละมังบังคับอยู่ ลูกแก้วจะวิ่งออกไปตรงๆ ไม่เลี้ยวครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ฝึกคิดแบบวิทย์ ทำกล้องจุลทรรศน์เลนส์เดี่ยว การเคลื่อนที่เป็นวงกลม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ก่อนครับ ดูเฉพาะส่วนแรกก่อน ยังไม่ดูเฉลย ให้ฝึกสังเกตและตั้งสมมุติฐานครับ:

การฝึกคิดอย่างนี้สำคัญครับ ฝึกให้คุ้นเคยกับสถานการณ์ใหม่ๆที่ยังไม่รู้จัก ให้รู้จักสังเกตรายละเอียดต่างๆ ฝึกตั้งสมมุติฐาน และดูว่าสมมุติฐานไหนขัดแย้งกับหลักฐาน อันไหนเข้ากับหลักฐาน ทำเรื่อยๆให้เป็นนิสัย จะได้คิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องปกติ

จากนั้นเด็กๆก็ได้สังเกตอากาศกันด้วยวิธี schlieren optics กันครับ 

 ปกติเราจะมองไม่เห็นอากาศแต่ถ้าเราจัดเรียงกระจกเว้า ไฟฉายจาก LED เล็กๆ และแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ให้เหมาะสม เราจะเห็นเงาบนฉากที่แสดงให้เห็นความหนาแน่นที่ต่างๆกันในอากาศได้
ด้วยวิธีง่ายๆติดตั้งไม่เกินห้านาที เราจะสามารถสังเกตอากาศร้อนจากการเผาไหม้ ก๊าซต่างชนิดที่พ่นในอากาศ อากาศเย็นรอบๆก้อนน้ำแข็ง ลมร้อนจากเครื่องเป่าผม ฯลฯ วิธีทำเป็นดังในคลิปครับ:

หลักการก็คือเราปล่อยแสงจาก LED  เล็กๆไปสะท้อนกับกระจกเว้า กระจกเว้าจะรวมโฟกัสแสงกลับมาเป็นจุดเล็กๆ ถ้าขยับจุดรวมแสงให้ถูกแผ่นฟอยล์อลูมิเนียมบังสักครึ่งหนึ่ง แสงที่ผ่านฟอยล์อลูมิเนียมก็จะวิ่งผ่านไปตกที่จอรับภาพให้เราสังเกต เมื่อบริเวณต่างๆในอากาศมีความหนาแน่นต่างๆกัน (เช่นเกิดจากความร้อน จากก๊าซต่างชนิด หรือความดันสูงๆ) แสงที่เดินทางผ่านบริเวณนั้นๆจะมีการหักเหเปลี่ยนทิศทาง ถ้าทิศทางเปลี่ยนพอจนไปชนแผ่นฟอยล์อลูมิเนียม เราก็จะสังเกตบริเวณนั้นว่ามืดลงไป  

ตัวอย่างเงาอากาศร้อนจากการจุดเทียนเป็นแบบนี้ครับ:

ถ้าต้องการภาพที่คุณภาพดีๆกว่านี้ (แต่ก็ทำยากขึ้นและแพงขึ้น) ลองดูคลิปนี้:

คลิปนี้มีถ่ายแบบ slo-motion สวยๆด้วยครับ:

ถ้าต้องการคำอธิบายหลักการแบบฟิสิกส์และภาพสวยมากๆไปดูที่เว็บของมหาวิทยาลัย Harvard นะครับ

สำหรับเด็กอนุบาล 3/1 ผมสอนให้เล่นของเล่นตระกูลเสือไต่ถังครับ เอาลูกแก้วกลมๆไปใส่ใว้ในกาละมังกลมๆ หรือในขวดกลมๆ แล้วเหวี่ยงๆให้ลูกแก้ววิ่งรอบๆภายในภาชนะ เมื่อหยุดแกว่ง ลูกแก้วก็ยังจะวิ่งไปรอบๆอีกสักพักหนึ่งครับ ถ้าเราหมุนเร็วเกินลูกแก้วจะกระเด็นออกจากกาละมังได้ ให้เด็กๆสังเกตว่าเมื่อลูกแก้วหลุดออกมา มันเคลื่อนที่อย่างไร (วิ่งเป็นเส้นตรงหรือวิ่งโค้งๆ? วิ่งไปทิศทางไหน?) เมื่อลูกแก้ววิ่งเร็วขึ้นมันขึ้นมาสูงกว่าหรือต่ำกว่า ให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าไม่มีผนังกาละมังมาบังคับ ลูกแก้วจะวิ่งตรงๆไม่วิ่งโค้งๆครับ ผมเคยบันทึกวิธีเล่นไว้ในอดีตแล้วในคลิปนี้ครับ:

พอเด็กรู้วิธีเล่น ก็เล่นกันเองกับลูกแก้วใหญ่เล็กในกาละมังหรือชามแบบต่างๆครับ:

ถ้าเด็กโตกว่านี้เราจะอธิบายได้มากกว่านี้แบบที่ผมบันทึกไว้ที่ การเคลื่อนที่เป็นวงกลมสำหรับประถม สมดุลสำหรับอนุบาล ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.