ประถมต้นหัดทำสไลม์ ประถมปลายทำมอเตอร์ อนุบาลเล่นระเบิดน้ำส้มสายชู

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ สำหรับบันทึกการสอนต่างๆในอดีตเข้าไปดูที่ http://atriumtech.com/sci_kids/ นะครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “หุ่นยนต์สี่ขากระโดดได้ จมน้ำ/ลอยน้ำด้วยอากาศ แม่แรงไฮดรอลิก” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กประถมต้นได้หัดทำสไลม์จากกาวน้ำใสหรือจากกาวลาเท็กซ์ และสารละลายบอแรกซ์ เด็กประถมปลายได้หัดพันลวดทองแดงทำมอเตอร์ เด็กอนุบาลสามได้ดูผมสาธิตการผสมน้ำส้มสายชูกับเบคกิ้งโซดาเพื่อเป่าลูกโป่ง ทำระเบิดถุงพลาสติก และจรวดจุกคอร์กครับ

สำหรับเด็กประถมต้น เราทำของเล่นสไลม์กันครับ เอากาวลาเท็กซ์หรือกาวน้ำใสมาผสมกับน้ำประมาณ 1:1 ให้เจือจางลง แล้วใส่สีผสมอาหารนิดหน่อย เอาสารละลายบอแรกซ์ (ฺBorax) ที่ผสมน้ำเปล่าครึ่งถ้วยกับบอแรกซ์หนึ่งช้อนชาคนๆให้ละลาย ค่อยๆหยดเข้าไปที่กาวผสมน้ำและคนให้เข้ากัน กาวผสมน้ำจะจับตัวเหนียวขึ้น เป็นเมือกหรือเป็นลูกบอล ขึ้นกับปริมาณสารละลายบอแรกซ์

บอแรกซ์เป็นสารประกอบโซเดียมบอเรท มีโบรอนเป็นส่วนประกอบ เมื่อละลายน้ำและไปเจอกับส่วนประกอบของกาวลาเท็กซ์หรือกาวน้ำที่เป็นโมเลกุลยาวๆเรียกว่าโพลีไวนีล อซีเตต จะทำให้เจ้าโมเลกุลยาวๆติดกันจนเหนียวๆเป็นสไลม์

สไลม์สูตรอื่นๆที่ใช้ผงซักฟอกหรือแป้งฆ่าราทั้งหลายก็ทำงานเหมือนๆกัน เพราะมีส่วนประกอบของบอแรกซ์ หรือสารประกอบที่มีโบรอน เมื่อละลายน้ำก็จะมีโบรอนมาเจอกับโมเลกุลยาวๆแล้วเชื่อมมันติดกันจนเหนียวเป็นสไลม์

เราไม่ควรกินบอแรกซ์นะครับ เมื่อเล่นสไลม์แล้วก็ล้างมือให้สะอาดก่อนทานข้าวด้วย เอาสไลม์เก็บใส่โหลหรือถุงปิดฝาแล้วเก็บในที่เย็นก็จะอยู่ได้หลายวันครับ (ถ้ามันจะเสียก็เพราะราขึ้นครับ)

ทำสไลม์! ทำสไลม์! ทำสไลม์! ทำสไลม์! ทำสไลม์!สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้หัดพันมอเตอร์ไฟฟ้ากันครับ ดูคลิปสำหรับวิธีทำนะครับ

แกนตรงๆสองข้างของขดลวดจะถูกขูดฉนวนออกไม่เหมือนกันนะครับ ข้างหนึ่งจะถูกขูดฉนวนออกจนหมดจนเหลือแต่เนื้อลวดทองแดง อีกข้างจะถูกขูดแค่ครึ่งบน (หรือครึ่งล่าง) เท่านั้น คือถ้ามองจากด้านบน (หรือด้านล่าง) จะเห็นเนื้อลวดทองแดง ถ้ามองจากอีกด้านจะเห็นแต่ฉนวน

การทำงานของมันก็คือตอนที่ขดลวดหมุนอยู่ในตำแหน่งที่แกนตรงๆมีเนื้อลวดทองแดงแตะกับคลิปหนีบกระดาษ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านได้ ทำให้ขดลวดเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า จะเกิดการดูดการผลักกับแม่เหล็กถาวรที่อยู่ใกล้ๆได้ การดูดการผลักนี้จะทำให้ขดลวดบิดตัว เมื่อขดลวดบิดตัวไปครึ่งรอบแกนด้านหนึ่งของมันจะมีฉนวนทำให้กระแสไฟฟ้าหยุดไหล ขดลวดจึงเลิกเป็นแม่เหล็กมันก็หมุนตามอิสระของมันต่อไป จนแกนด้านที่มีทองแดงหมุนมาแตะกับคลิปอีกครั้ง เกิดเป็นวงจรการหมุนต่อๆไปเรื่อยๆ

สำหรับเด็กอนุบาล  3/1 ผมให้ดูการสาธิตที่ใช้เบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชูแบบต่างๆ

ก่อนอื่นผมก็เอาน้ำส้มสายชูมาให้เด็กๆดู ให้ดมว่ากลิ่นเป็นอย่างไร และบอกว่าอยู่ในเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว แล้วผมก็ให้เด็กๆดูเบคกิ้งโซดาที่เป็นผงขาวๆ เป็นส่วนประกอบของผงฟู ใช้ขัดทำความสะอาด และดูดกลิ่นได้ครับ เบคกิ้งโซดาหาซื้อได้ตามที่ขายอุปกรณ์ทำขนมครับ

ดมน้ำส้มสายชูครับ
ดมน้ำส้มสายชูครับ

จากนั้นผมก็ตักเบคกิ้งโซดาใส่กาละมัง แล้วเหยาะๆน้ำส้มสายชูลงไป เด็กๆเห็นฟองปุดๆขึ้นมาครับ

เหยาะน้ำส้มสายชูใส่เบคกิ้งโซดา
เหยาะน้ำส้มสายชูใส่เบคกิ้งโซดา

ผมถามเด็กๆว่าฟองปุดๆคืออะไรรู้ไหม เด็กๆไม่แน่ใจ ผมบอกว่ามันเป็นแก๊สอย่างหนึ่ง เรียกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นประเภทเดียวกับที่เราหายใจออกมา แล้วถามเด็กๆต่อว่าเรามาหาทางเก็บแก๊สนี้กันไหม เด็กๆเห็นลูกโป่งที่ผมนำไปด้วยเลยบอกว่าใส่ลูกโป่ง

ผมจึงเทน้ำส้มสายชูใส่ขวด ตัดเบคกิ้งโซดาใส่ห่อกระดาษทิชชู่ ค่อยๆสอดห่อกระดาษทิชชู่ให้ค้างอยู่ที่คอขวด (เพื่อไม่ให้เบคกิ้งโซดาผสมกับน้ำส้มสายชูตอนนี้) แล้วเอาลูกโป่งไปปิดปากขวด พอติดลูกโป่งเรียบร้อย ผมก็เอานิ้วดันห่อกระดาษทิชชู่ที่มีเบคกิ้งโซดาอยู่ข้างในให้ตกลงไปผสมกับน้ำส้มสายชูครับ ลูกโป่งก็โป่งขึ้นมาจากแก๊สที่เกิดขึ้นจากการผสม

ลูกโป่งเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผสมกันของเบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชู
ลูกโป่งเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผสมกันของเบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชู

จากนั้นผมก็มัดลูกโป่ง แล้วมาถือในมือ ให้เด็กๆทายว่าลูกโป่งจะลอยหรือตกลงพื้น เด็กๆก็ทายกันใหญ่ ปรากฎว่าตกลงพื้นครับ เพราะคาร์บอนไดออกไซด์หนักกว่าอากาศ

ต่อจากนั้นผมบอกเด็กๆว่าแทนที่จะใช้ลูกโป่ง เรามาใช้ถุงซิปล็อคกัน พอถุงมันบวมมากๆมันก็จะระเบิด วิธีทำก็คือใส่น้ำส้มสายชูสัก 30 ซีซีในถุง ตักเบคกิ้งโซดาประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะใส่ห่อกระดาษทิชชู่ เอาห่อกระดาษทิชชู่ใส่ในถุงแต่จับไว้ข้างบนไม่ให้ตกลงไปผสมกับน้ำส้มสายชู ปิดถุงให้แน่น แล้วเขย่าครับ อีกไม่กี่วินาทีถุงก็จะระเบิด เนื่องจากสัปดาห์นี้คลิปที่ถ่ายสั่นมาก ดูยาก จึงขอเอาคลิปในอดีตมาให้ดูแทนครับ:

 

การแสดงอันสุดท้ายคือจรวดจุกคอร์ก คือเอาขวดที่มีจุกคอร์กอุดได้สนิทมา ใส่น้ำส้มสายชูสัก 30 ซีซี  ตักเบคกิ้งโซดาประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะใส่ห่อกระดาษทิชชู่ เอาห่อกระดาษทิชชู่ใส่ในปากขวด ระวังไม่ให้ตกลงไปผสมกับน้ำส้มสายชูข้างล่าง เอาจุกคอร์กอุดขวด ให้เด็กๆไปอยู่ด้านหลังและป้องตาเอาไว้  แล้วปล่อยให้ห่อกระดาษทิชชู่ตกลงไปในน้ำส้มสายชู แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะมีมากขึ้นเรื่อยๆทำให้ความดันในขวดสูงขึ้นๆ จนจุกคอร์กกระเด็นออกไปพร้อมกับเสียงดังครับ

ปล่อยจรวดจุกคอร์ก
ปล่อยจรวดจุกคอร์ก

คลิปการทำจรวดจุกคอร์กในอดีตครับ:

ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

One thought on “ประถมต้นหัดทำสไลม์ ประถมปลายทำมอเตอร์ อนุบาลเล่นระเบิดน้ำส้มสายชู”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.