เด็กๆทำความรู้จักกับรอกกัน

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ สำหรับบันทึกการสอนต่างๆในอดีตเข้าไปดูที่ http://atriumtech.com/sci_kids/ นะครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “คาน –> ทำของเล่น Trebuchet รอกจอมพลัง ท่อกระดาษมหัศจรรย์” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมครับ วันนี้เด็กประถมต้นและปลายได้ดูวิดีโอคลิปปลาหมึกยักษ์กระโดดขึ้นบกมาจับปู ได้ดูวิดีโอการลุยไฟทำไมถึงทำได้ไม่ต้องเป็นผู้วิเศษอะไร จากนั้นเด็กๆก็ทดลองยกน้ำหนักสามกิโลกรัมด้วยการยกตรงๆ ผูกเชือกแล้วยกขึ้น และใช้รอกยกเพื่อเปรียบเทียบกันครับ

ก่อนอื่นผมให้เด็กๆดูวิดีโอคลิปนี้ครับ ก่อนดูถามเด็กๆว่าปูกับปลาหมึกยักษ์สู้กันใครจะชนะ ให้เด็กๆเดาแล้วก็ดูวิดีโอครับ:

เด็กๆตื่นเต้นที่เห็นปลาหมึกกระโดดออกมาจากน้ำมาลากปูลงไปกินได้ครับ ผมถามเด็กๆว่าแล้วปลาหมึกกินปูได้ยังไงถ้าปูมีกระดองแข็ง เด็กๆไม่แน่ใจผมเลยบอกว่ามันมีปากแหลมๆแข็งๆเหมือนนกแก้ว สามารถเจาะกระดองหรือเปลือกหอยได้ หน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ:

ปากปลาหมึกต่างๆ แหลมและแข็ง
ปากปลาหมึกต่างๆ แหลมและแข็ง

จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูการเดินลุยไฟที่ผู้วิเศษมักจะบอกว่าต้องใช้เวทย์มนต์ถึงจะทำได้ แต่ปรากฎว่าจริงๆแล้วคนทั่วไปก็ทำได้ถ้าทำถูกวิธี

สาเหตุที่สามารถเดินได้ก็เพราะว่าถ่านร้อนๆนั้นมีถ่านที่ไม่ร้อนและขึ้เถ้าอยู่รอบๆทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อน ถ้าเราเดินผ่านเร็วๆ ความร้อนจะไม่มีเวลาผ่านเข้ามาทำให้เท้าเราร้อนมากๆได้ ถ้าเราเดินบนถ่านที่มีเปลวไฟอยู่เราจะร้อนเร็วกว่ามากเพราะไม่มีฉนวนความร้อนคอยกันไฟให้ หรือถ้าเราเดินบนแผ่นเหล็กร้อนๆเราก็จะร้อนเพราะโลหะถ่ายเทความร้อนใส่เท้าเราได้เร็วมาก

ผมให้เด็กๆเปรียบเทียบกับการทดลองในอดีตที่เราเอาถุงพลาสติกซ้อนกันสองชั้นโดยมีเศษกระดาษหนังสือพิมพ์คั่นอยู่ตรงกลาง แล้วเอามือใส่เป็นถุงมือไปจุ่มในน้ำเย็น แล้วเราไม่รู้สึกเย็น เพราะอากาศระหว่างถุงทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อนไม่ยอมให้ความร้อนจากมือเราวิ่งลงไปในน้ำเย็นได้ง่ายๆ นี่ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการลุยไฟ

อีกตัวอย่างก็คือเวลาเราอบขนมที่กลุ่มบ้านเรียน อุณหภูมิภายในเตาอบคือประมาณ 150-200 องศาเซลเซียส แต่เราสามารถเปิดดูและหน้าเราไม่พอง ก็เพราะอากาศร้อนๆในเตามันส่งความร้อนไม่เก่ง ถ้าเราเอาหน้าหรือมือไปโดนโลหะในเตา เราจะร้อนมากเพราะโลหะนำความร้อนได้ดีกว่าอากาศมาก

พอเราดูวิดีโอจบเราก็ทำความรู้จักับรอกกันครับ ผมเอาดัมบ์เบลล์ ขนาด 3 กิโลกรัมมาให้เด็กๆจับและยก เด็กๆพบว่ามันหนัก จากนั้นผมก็ผูกเชือกกับดัมบ์เบลล์ให้เด็กๆยก เด็กก็พบว่ามันหนักอีก จากนั้นผมก็ร้อยเชือกเข้ากับรอกแบบต่างๆแล้วให้เด็กๆทดลองกันครับ

ยกด้วยมือเปล่าหนักครับ
ยกด้วยมือเปล่าหนักครับ
ใช้รอกตัวเดียวแล้วดึงเชือกก็หนัก
ใช้รอกตัวเดียวแล้วดึงเชือกก็หนัก
พอใช้รอกหลายตัวแล้วไม่หนักแล้ว
พอใช้รอกหลายตัวแล้วไม่หนักแล้ว
ใช้รอกหลายตัวไม่หนัก แต่ต้องดึงเชือกมากขึ้น เพื่อให้ดัมบ์เบลล์ยกตัวสูงขึ้นเท่าเดิม
ใช้รอกหลายตัวไม่หนัก แต่ต้องดึงเชือกมากขึ้น เพื่อให้ดัมบ์เบลล์ยกตัวสูงขึ้นเท่าเดิม
ลองใช้รอกสี่อันเลย แต่ถ้ารอกมากๆความฝืดจากรอกจะเริ่มมีผล
ลองใช้รอกสี่อันเลย แต่ถ้ารอกมากๆความฝืดจากรอกจะเริ่มมีผล
เราลองวัดแรงดึงที่ต้องใช้ด้วยเครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทางแบบแขวนกันครับ
เราลองวัดแรงดึงที่ต้องใช้ด้วยเครื่องชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทางแบบแขวนกันครับ

ผมให้เด็กๆสังเกตว่าเวลาเรามีรอกหลายๆตัว เชือกจะร้อยผ่านรอกกลับไปมา เวลาเราดึงปลายเชือกข้างหนึ่ง ส่วนอื่นๆของเชือกก็ตึงไปด้วย แล้วก็ไปดึงรอก ทำให้มีการคูณแรงดึงของเรามากขึ้น ทำให้เราไม่ต้องออกแรงมากเมื่อเทียบกับการยกของตรงๆครับ

ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

One thought on “เด็กๆทำความรู้จักกับรอกกัน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.