เริ่มเรื่องวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์ ของเล่นรถไฟเหาะ

DSC07401 อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ สำหรับบันทึกการสอนต่างๆในอดีตเข้าไปดูที่ http://atriumtech.com/sci_kids/ นะครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “จำลอง ‘รถไฟเหาะ’ การเปลี่ยนรูปพลังงานระหว่างศักย์และจลน์” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กประถมได้คุยกันเรื่องการคัดเลือกพันธุ์และวิวัฒนาการ เรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์พืชเช่นข้าว กล้วย มะม่วง องุ่น จนเป็นพืชสำหรับบริโภคอย่างดีทั้งๆทีต้นสายพันธุ์มีผลและเมล็ดที่ไม่ค่อยเหมาะกับการกิน การคัดเลือกพันธุ์สุนัขจนกลายเป็นพันธุ์ต่างๆทั้งๆที่ต้นสายพันธุ์คือสุนัขป่าแบบหนึ่ง เด็กประถมต้นได้ดูวิดีโอการวิวัฒนาการของปลาวาฬและโลมามาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกสมัยหลายสิบล้านปีก่อน เด็กประถมปลายได้ลองคัดเลือกพันธุ์ Biomorphs ให้มีลวดลายต่างๆเช่นค้างคาวหรือหน้าคน เด็กอนุบาลได้เล่นของเล่นจำลองรถไฟเหาะที่ทำจากสายยางและลูกแก้วครับ วันนี้มีทีมงานจากนิตยสาร Modern Mom มาถ่ายรูปกิจกรรมเด็กอนุบาลด้วยครับ

สำหรับเด็กประถม ผมถามเด็กๆว่ารู้ไหมทำไมหมามีหลายพันธุ์ หลายขนาดและรูปร่างหลายแบบ เด็กๆงง ผมเลยเล่าว่าจริงๆแล้วหมาทุกพันธุ์ที่เรามีอยู่ตอนนี้ เกิดจากการคัดเลือกพันธุ์หมาป่าโดยคน โดยใช้เวลาเป็นหมื่นปี เมื่อสักหมื่นปีก่อน มีหมาป่าพันธุ์หนึ่งที่เข้ามาเป็นเพื่อนกับคนสมัยนั้น จากนั้นคนก็คัดเลือกให้หมาที่มีลักษณะถูกใจผสมพันธุ์กันให้มีลูกๆที่บางตัวมีลักษณะที่ถูกใจนั้น แล้วก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆหลายๆรุ่น ในที่สุดก็จะได้หมาที่มีลักษณะถูกใจมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นหมาตัวเล็กๆเพื่ออุ้ม หมาตัวเตี้ยๆเพื่อช่วยดมกลิ่น หมาวิ่งเร็วๆ หมากัดเก่งๆ

นอกจากนี้พืชที่เป็นอาหารส่วนใหญ่ก็ถูกคนคัดเลือกพันธุ์มาเหมือนกัน เช่นข้าวก็คือหญ้าชนิดหนึ่ง (เช่นเดียวกับต้นไผ่) ที่เมล็ดมีเนื้อแป้งกินได้เยอะๆ ในสมัยโบราณคนเลือกหญ้าที่เมล็ดโตมาปลูกและคัดเลือกพันธุ์โดยเลือกต้นที่เมล็ดน่ากินมาปลูกในรุ่นต่อไป จนกระทั่งเรามีพันธุ์ข้าวต่างๆกินกัน

ผมถามเด็กๆว่าเคยกินผลไม้ที่ไม่มีเมล็ดไหม เด็กๆก็ตอบว่าเคย เช่นกล้วย องุ่น ผมถามว่าเคยกินกล้วยหรือองุ่นที่มีเมล็ดเยอะไหม เด็กๆบางคนเคยแต่ส่วนใหญ่ไม่เคย ผมบอกเด็กๆว่าผลไม้ตามธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีเมล็ด พวกผลไม้ที่ไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดน้อยเกิดจากการที่คนเราคัดเลือกให้ไม่มีเมล็ดด้วยวิธีต่างๆ พืชพวกนี้ถ้าขาดคนมาจัดการก็จะสืบพันธุ์ไม่ค่อยมาก พวกผลไม้ที่มีรสอร่อยก็เหมือนกัน คนจัดการคัดเลือกพันธุ์จนอร่อยอย่างนี้

ผมเล่าให้เด็กๆฟังเพิ่มว่าในธรรมชาติก็มีการคัดเลือกพันธุ์กันเองเหมือนกันโดยไม่ต้องมีคนมาคัด เรียกว่าการคัดพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural Selection) คือสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีลูกหลานที่คล้ายๆมัน แต่ไม่เหมือนกันหมดทุกตัว บางตัวก็จะมีโอกาสมีชีวิตและแพร่พันธุ์ได้มากกว่าตัวอื่นๆ เนื่องจากมันเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่กว่าตัวอื่น พอเกิดอย่างนี้หลายๆรุ่นเราก็จะสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตหลายๆแบบที่เกิดจากการแพร่พันธุ์มาอย่างนี้ รายละเอียดจะคุยกันต่อไปในครั้งหน้า

จากนั้นเด็กประถมต้นก็ได้ดูวิดีโอปลาวาฬปัจจุบันที่มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก โดยดูจากอวัยวะต่างๆเปรียบเทียบกัน ดูการเติบโตของตัวอ่อน  ดูหลักฐานฟอสซิล (ความจริงวิดีโอมีหลักฐานอื่นๆอีกแต่มันยากเกินเด็กประถมต้นเราจึงไม่ได้ดูกันครับ) วิดีโอคืออันนี้:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ลองคัดเลือกพันธุ์ Biomorph ซึ่งเป็นลวดลายบนจอทีเกิดจากคำสั่งในการวาดแบบต่างๆ ทุกครั้งที่เรากดให้มันสร้างลูกหลาน มันก็จะสร้างลูกออกมาให้ 8 ตัว โดยแต่ละตัวจะมีคำสั่งการวาดคล้ายๆตัวแม่แต่แตกต่างไปเล็กน้อย แล้วเราก็เลือกลูกตัวที่ลวดลายถูกใจเราที่สุด จากการเริ่มด้วยเส้นลายง่ายๆ เราสามารถคัดเลือกพันธุ์จนได้ลูกหลานหน้าตาประหลาดๆหลายแบบเช่นเหมือนค้างคาวกางปีกหรือหน้าคนเป็นต้นครับ คำอธิบายอยู่ที่หน้านี้และหน้าจอสำหรับเล่นอยู่ที่หน้านี้ครับ

DSC07365
หน้าจอเลือก Biomorph ครับ
DSC07367
เราเลือกลูกหลาน Biomorph กันอย่างนี้ครับ

สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมให้เล่นรถไฟเหาะจำลองเหมือนที่พี่ประถมได้เล่นไปเมื่อเทอมที่แล้วครับ (บันทึกไว้ที่นี่ครับ) ผมปล่อยลูกแก้วในสายยางจากความสูงต่างๆกันให้เด็กสังเกตว่าลูกแก้วมันวิ่งเร็วตอนไหน ตอนสูงหรือต่ำ แล้วเราก็เล่นกันบันไดโดยปล่อยลูกแก้วจากปลายสายยางจากชั้นบน ลงไปสู่อีกปลายที่ต่ำกว่าและขดเป็นวงๆให้เด็กเล่นครับ

DSC07421 DSC07431 DSC07436 DSC07465ต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

 

3 thoughts on “เริ่มเรื่องวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์ ของเล่นรถไฟเหาะ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.