สอนเด็กป. 1+2+3 เรื่องปอด และแสดงการทดลองเรื่องความดันอากาศให้เด็กอนุบาล 2+3 ดู


(จดไว้เผื่อพ่อแม่ท่านอื่นได้ใช้เป็นประโยชน์บ้าง ของคราวที่แล้วเรื่องตาและสี และความดันอากาศอยู่ที่นี่)

 
อาทิตย์ที่แล้วโรงเรียนบ้านพลอยภูมิปิด เพราะการไฟฟ้าดับไฟในบริเวณนั้นหลายชั่วโมง ผมจึงไม่ได้เข้าไปสอน อาทิตย์นี้เหตุการณ์ปกติจึงเข้าไปสอนวิทย์วันอังคารตามปกติ
 
วันนี้เด็กประถมกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม ได้ทำการทดลองวัดปริมาณอากาศที่เราหายใจเข้าออกแต่ละครั้ง การทดลองก็ทำง่ายๆโดยเอาขวดใหญ่ๆมาใส่น้ำให้เต็มๆ แล้วก็ไปคว่ำไว้ในกาละมังที่มีน้ำอยู่ ทำให้น้ำในขวดไม่ไหลออกมาเนื่องจากความดันอากาศภายนอกมากพอที่จะดันน้ำให้อยู่ในขวดได้ น้ำที่ใส่เข้าไปในขวดเราก็จดไว้ว่าใส่เข้าไปเท่าไร ด้วยการตวงหรือชั่งน้ำหนัก วันนี้ผมเอาตาชั่งอาหารเล็กๆไปด้วย เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้ว่าน้ำ 1 ซีซี (ซึ่งเป็นหน่วยที่เด็กๆรู้จักกันดีจากเข็มฉีดยา) มีน้ำหนัก 1 กรัม

 
จากนั้นเด็กแต่ละคนก็ได้หลอดดูดน้ำที่งอเป็นรูปตัว J ได้ แล้วก็สอดปลายข้างสั้นเข้าไปในปากขวดที่คว่ำอยู่ แล้วเด็กๆก็หายใจออกผ่านหลอด เป่าอากาศเข้าไปในขวด จนหมดลม แล้วเราก็ปิดปากขวดใต้น้ำและนำขวดมาวัดว่าเหลือน้ำเท่าไร (ด้วยการตวง หรือชั่งน้ำหนัก ซึ่งเราก็ทำกันทั้งสองอย่าง เพราะแบ่งการทดลองเป็นสองวง โดยคุณครูเจนประจำกาละมังเด็กโต และผมประจำกาละมังเด็กเล็ก)
 
 
หลังจากเป่าและจดปริมาณน้ำที่เหลือบนกระดานแล้ว พี่ๆเด็กโต (ป. 2 และ 3) ก็ขึ้นไปหัดลบกับคุณครูจรร ว่าปริมาณอากาศที่ไปแทนที่น้ำเท่ากับเท่าไร
 
จากนั้นผมก็นั่งคุยกับเด็กเรื่องปอด โดยถามว่าปอดมีไว้ทำอะไร ซึ่งเด็กๆก็รู้ว่าใช้หายใจ แล้วผมก็อธิบายเรื่องกระบังลมขยับทำให้อากาศเข้าออกปอด และถามว่าทำไมท่อลมในปอดต้องเป็นฝอยๆเล็กๆเต็มไปหมด เด็กๆก็เดาต่างๆนาๆ แล้วผมก็บอกว่าท่อลมต้องเป็นฝอยเล็กๆเพื่อจะได้ติดต่อจับมือกับเส้นเลือดเล็กๆมากมาย ท่อลมและเส้นเลือดจะได้แลกเปลี่ยนอากาศกัน เพราะร่างกายของเราต้องการอากาศในการย่อยอาหาร จะได้มีพลังมาทำนู่นทำนี่ ถ้าไม่มีอากาศ เราก็ย่อยอาหารไม่ได้ แล้วร่างกายก็หยุดทำงานและตาย ในไม่กี่นาที
 
จากนั้นเด็กๆก็ถามผมว่าผมเคยเห็นเหงือกปลาไหมเพราะรู้มาว่าปลาใช้เหงือกหายใจเหมือนกัน ผมก็บอกว่าใช่ เหงือกปลาเป็นเส้นเล็กๆให้น้ำไหลผ่าน อากาศที่ละลายในน้ำจะได้เข้าไปในเลือดปลา ปลาจะได้เอาอากาศไปย่อยอาหาร มีพลังที่จะมีชีวิตอยู่ได้
 
จากนั้นผมก็ถามว่ารู้ไหมว่าถ้าน้ำเข้าปอดจะเป็นอย่างไร เด็กๆก็ตอบว่าสำลักหรือตาย ผมก็ถามว่ารู้ไหมว่าทำไมเราสำลัก แล้วก็อธิบายว่าคอเราต่อกับท่ออาหารที่ไปที่กระเพาะ และท่ออากาศที่ไปที่ปอด ถ้าน้ำหรืออาหารจะเข้าไปที่ปอด ร่างกายก็จะพยายามป้องกันตัว โดยการไอและสำลักไม่ให้อาหารหรือน้ำลงปอด เพราะถ้าเข้าไปในปอด อากาศก็เข้าไปในปอดได้ยาก ไม่พอสำหรับร่างกาย แล้วร่างกายก็จะหยุดทำงาน แล้วก็ถือโอกาสบอกเด็กว่าพวกที่ไม่สำลัก มักจะตายไปหมด ไม่เหลือทิ้งลูกหลานไว้ (เราจึงสืบตระกูลมาจากบรรพบุรุษที่สำลักได้พอเพียง)
 
หลังจากชั้นเรียนพี่ประถมแล้ว ผมก็ไปแสดง”กล”ทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กอนุบาล 3 และ 2 ดู วันนี้เรื่องอากาศร้อนพองตัว อากาศเย็นหดตัว วิธีทำก็คือเอาน้ำร้อนใส่ขวดพลาสติกเล็กน้อย ปิดฝา เขย่าๆให้ร้อนทั่วๆ (บอกว่าต้องให้ผู้ใหญ่ทำให้เพราะมีน้ำร้อน อันตรายได้) เทน้ำร้อนออก แล้วปิดฝาให้แน่น แล้ววางทิ้งไว้
 
เมื่อวางขวดทิ้งไว้ ผมก็ถามเด็กๆว่าขวดจะเป็นอย่างไร จะระเบิดไหม พอรอไปสักพัก อากาศในขวดเย็นลง ก็หดตัว ทำให้ขวดบุบหรือแบน ขวดมีลายต่างๆกันจะบุบต่างๆกัน บางอันมีเสียงดังดี บางอันก็แบนลงแบบเงียบๆ
 
 
ระหว่างที่รอให้ให้ขวดบุบเต็มที่ ผมก็เล่าว่าอากาศร้อนจะขยายตัว แล้วหนีออกไปตอนเราเปิดฝาขวดเทน้ำร้อนทิ้ง พอเราปิดฝาขวด อากาศที่เคยร้อนก็จะเย็นขึ้นและหดตัว ทำให้ขวดบุบแบนตาม ถือโอกาสสอดแทรกเรื่องอากาศร้อนจะลอยขึ้นสูง ทำให้ใกล้ๆหลังคาร้อนกว่าใต้ถุน หรือใกล้พื้น
 
จากนั้นเราทุกคนก็จะเงียบสนิท เพื่อคอยฟังเสียงเวลาเปิดฝาขวดอีกครั้ง อากาศจากภายในจะวิ่งเข้าไปทำให้มีเสียง”ฝุด” และเสียงจากขวดพลาสติกเปลี่ยนรูปร่าง จะทำให้เด็กๆตื่นเต้น
 
ตอนจบ ผมลงท้ายด้วยการดูดขวดให้บี้แบน โดยทำหลายๆขวด เร็วๆ จนหน้ามืดทำไม่ไหว เพื่อเสียงหัวเราะของเด็กๆ

One thought on “สอนเด็กป. 1+2+3 เรื่องปอด และแสดงการทดลองเรื่องความดันอากาศให้เด็กอนุบาล 2+3 ดู”

Leave a Reply to 志城志城 Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.