Category Archives: ภาษาไทย

วิทย์ม.ต้น: แนะนำเว็บ PyMOTW-3, Skillshare.com, และ Brilliant.org

สำหรับวิทย์ม.ต้นวันนี้ ผมแนะนำเว็บที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ 3 เว็บ แล้วให้เขาทำแบบฝึกหัดที่  Repl.it ต่อไป

เว็บแรกคือ Python 3 Module of the Week เป็นเว็บที่มีตัวอย่างการใช้งานโมดูลไพธอนสำหรับงานต่างๆ ให้เด็กๆเข้าไปดูว่าจะใช้งานอะไรได้บ้าง และให้เขาพิมพ์/ก็อปปี้ตัวอย่างมาทดลองและดัดแปลงใน Jupyter Notebook ของเขาเอง

เว็บที่สองคือ Skillshare.com ที่มีคอร์สออนไลน์สอนทักษะต่างๆให้เลือกมากมาย เช่นหัดวาดรูป หัดถ่ายภาพ หัดเขียนหนังสือ ฯลฯ จะต่างจากคอร์สออนไลน์อื่นๆที่เน้นด้านวิชาการเป็นส่วนใหญ่

เว็บที่สามคือ Brilliant.org ที่มีปัญหาย่อยๆให้เราค่อยๆตอบแล้วเราก็จะเรียนรู้เรื่องต่างๆที่เราสนใจ อันนี้จะเน้นพวกวิทย์ คณิต ตรรกะ รวมถึงเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เช่น Neural Network และ Machine Learning

จากนั้นเด็กๆก็ลองดูเว็บที่แนะนำและทำแบบฝึกหัดที่ Repl.it ต่อครับ

ขว้างหลอดกาแฟ, การตกของกรวยกระดาษ, แรงโน้มถ่วงเทียม

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นหัดประดิษฐ์และตกแต่งหลอดกาแฟให้ขว้างได้ไกลและแม่นขึ้น ประถมปลายได้ทำกรวยกระดาษแบบต่างๆและสังเกตการตกของมัน อนุบาลได้เล่นแรงโน้มถ่วงเทียมทำให้น้ำไม่หกกันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เรียนรู้เรื่องการปั่นไฟต่อ การทดรอบด้วยสายพาน” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือเทนมใส่แก้วที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆโดยนมเต็มแก้วทุกครั้งครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

สำหรับเด็กประถมต้น ผมเอาหลอดกาแฟพลาสติกมาพยายามโยนให้ไกลๆให้ตรงกับเป้าครับ หลอดกาแฟมันเบาจึงเปลี่ยนทิศทางง่ายและถูกอากาศต้านทำให้ไปไม่ได้ไกล ผมแจกหลอดกาแฟให้เด็กๆให้ไปดัดแปลงกันเองเพื่อจะได้ขว้างได้ไกลและแม่นขึ้น 

เด็กๆทดลองทำหลายแบบครับ มีทั้งพันเทปพันกระดาษให้หลอดหนักขึ้นจนขว้างได้เหมือนดินสอหรือตะเกียบ มีแบบถ่วงหัวให้เหมือนหอก มีถ่วงหัวและติดหางเหมือนลูกธนู และมีแบบติดปีกให้ร่อนได้ครับ

กิจกรรมนี้เน้นให้เด็กๆสนุกสนานและได้ลองผิดลองถูกเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆกันครับ อยากให้สังเกตและปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของแต่ละคนและเรียนรู้จากเพื่อนๆด้วยครับ

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้หัดทำกรวยกระดาษเพื่อสัปดาห์หน้าจะแข่งกันทำให้กรวยตกช้าๆแต่ตรงเป้ากันครับ ก่อนอื่นผมเอากรวยกระดาษสองอันที่แหลมเท่าๆกัน ทำจากกระดาษชิ้นเดียวกัน แต่อันหนึ่งใหญ่กว่า อีกอันเล็กกว่า มาให้เด็กๆทายว่าถ้าปล่อยให้ตกพร้อมๆกัน อันไหนจะตกถึงพื้นก่อน คนที่ทายว่าอันเล็กตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันต้านอากาศมากกว่าน่าจะตกลงช้ากว่า คนที่ทายว่าอันใหญ่ตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันหนักกว่า มันน่าจะตกลงมาถึงพื้นก่อน ผลเป็นอย่างในคลิปครับ:

เด็กๆแยกย้ายกันทดลองทำกรวยของตัวเอง ดูว่าแบบไหนลอยนานๆและตกลงมาตรงๆครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมสอนให้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขนส่งแก้วน้ำไปที่ต่างๆแบบน้ำหกยากครับ ผมเอาตะกร้าผูกเชือกมาให้เด็กๆดู เอาแก้วใส่น้ำวางลงไป แล้วก็แกว่งตะกร้าไปมา ให้เด็กๆสังเกตผิวน้ำกันครับ

 เด็กๆสังเกตเห็นผิวน้ำอยู่นิ่งๆ ไม่กระเพื่อมหรือกระฉอกไปมา บางคนคิดว่ามันคือเยลลี่ด้วยซ้ำ ต้องเอานิ้วจิ้มดูให้เห็นว่าเป็นน้ำเหลวๆจริงๆ

สำหรับเด็กตัวเล็กๆผมใช้ตะกร้าพลาสติกเล็กๆแทนตะกร้าใหญ่ ให้เขาลองแกว่งกันเองครับ ผมเคยบันทึกวิธีประดิษฐ์ไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

สาเหตุที่น้ำไม่หกลงมาก็เพราะว่าการที่เราแกว่งแก้วไปมาอย่างนั้น ก้นแก้วจะเป็นตัวบังคับไม่ให้น้ำเคลื่อนที่ไปอย่างอิสระออกไปจากวงหมุน (เนื่องจากน้ำมีความเฉื่อย เมื่อมันเคลื่อนที่อย่างไรมันก็จะอยากเคลื่อนที่ไปอย่างเดิมด้วยความเร็วเดิม จนกระทั่งมีแรงมากระทำกับมัน ถ้าไม่มีก้นแก้วมาบังคับ น้ำก็จะกระเด็นไปในแนวเฉียดไปกับวงกลมที่เราแกว่งอยู่) ผลของการที่ก้นแก้วบังคับน้ำให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมก็คือดูเหมือนมีแรงเทียมๆอันหนึ่งดูดน้ำให้ติดกับก้นแก้ว ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแรงโน้มถ่วง เราเลยเรียกมันว่าแรงโน้มถ่วงเทียม 

ต่อไปเราออกไปนอกห้องกัน แล้วผมแกว่งให้แรงขึ้นจนข้ามศีรษะ แต่น้ำก็ยังติดอยู่ในกระป๋องไม่ได้หกลงมา ทำให้เด็กๆตื่นเต้นมากครับ พอทำให้ดูแล้ว เด็กๆก็ลองกันเอง สนุกกันใหญ่:

 

 

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอัน, ปล่อยกรวยกระดาษให้ตกสู่พื้น

วันนี้พวกเราคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ มี Social Proof,  Sunk Cost Fallacy, และ Reciprocity

Social Proof (“ใครๆเขาก็ทำกัน”) คือการทำตามๆกัน ทำตามคนส่วนใหญ่ ในหลายๆกรณีก็มีประโยชน์เช่นเมื่อไปต่างเมืองแล้วเราสังเกตว่าคนแถวนั้นกินร้านอาหารใด แต่หลายๆครั้งก็มีโทษเช่นแห่ซื้อหุ้นตอนหุ้นขึ้น หรือเข้าไปในระบบขายตรงแบบพีรามิดเพื่อหวังรวย  นอกจากนี้เราจะสังเกตว่าหลายๆองค์กรจัดการเราโดยอาศัย social proof เช่นรายการตลกมีเสียงหัวเราะแทรกให้เราหัวเราะตาม การชุมนุมหรือประขุมต่างๆที่มีหน้าม้าคอยชักนำให้เราทำตาม

Sunk Cost Fallacy (“เสียดายต้นทุนจม”) คือการที่เราให้ความสำคัญมากเกินไปกับสิ่งที่เราจ่ายไปแล้ว เอาคืนมาไม่ได้ (สิ่งต่างๆอาจเป็นเงิน เวลา ความรัก ฯลฯ) แทนที่จะดูว่าควรจะทำอะไรต่อไปโดยให้ความสำคัญกับอนาคตแทน เช่นเราจ่ายเงินค่าบุฟเฟ่ต์ไปแล้วจึงตะกละกินเยอะมากๆทั้งๆที่กินมากเกินไปก็เป็นทุกข์เพิ่ม แทนที่จะกินพอดีๆให้มีความสุขที่สุด หรือไม่ยอมลุกออกจากโรงหนังที่เราซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังห่วยแล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน หรือซื้อหุ้นราคาแพงแล้วติดดอย แต่ทิ้งไว้ไม่ขายทิ้งเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่าโดยคิดว่าถ้ายังไม่ขายก็ไม่ขาดทุน 

Reciprocity (“บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องชำระ”) คือการที่เราอยากตอบแทนคนที่ทำอะไรให้เรา จริงๆแล้วสิ่งนี้มักจะมีผลดีกับสัตว์สังคมเช่นพวกเรา แต่เราก็อาจถูกจัดการให้ทำสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผลนัก เช่นเมื่อเรารับของแจกฟรีในซูเปอร์มาเก็ตจะทำให้เราอยากซื้อของของผู้แจกมากขึ้น องค์กรบริจาคต่างๆส่งของขวัญมาให้แล้วค่อยขอเงินบริจาคของเราในอนาคต หรือการคิดแก้แค้นเรื่องต่างๆจนเสียเวลาเสียโอกาสที่ดีไป

จากนั้นเราก็ทำการทดลองปล่อยกรวยกระดาษให้ตกสู่พื้นกันครับ ผมเอากรวยกระดาษสองอันที่แหลมเท่าๆกัน ทำจากกระดาษชิ้นเดียวกัน แต่อันหนึ่งใหญ่กว่า อีกอันเล็กกว่า มาให้เด็กๆทายว่าถ้าปล่อยให้ตกพร้อมๆกัน อันไหนจะตกถึงพื้นก่อน คนที่ทายว่าอันเล็กตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันต้านอากาศมากกว่าน่าจะตกลงช้ากว่า คนที่ทายว่าอันใหญ่ตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันหนักกว่า มันน่าจะตกลงมาถึงพื้นก่อน ผลเป็นอย่างในคลิปครับ:

จากนั้นเด็กๆก็ทำกรวยของตัวเอง พบว่าความแหลมมีผลว่าอันไหนตกเร็วกว่า ครับ