Category Archives: ภาษาไทย

เล่นกับคอปเตอร์กระดาษ รูปทรงที่ทำจากกระดาษตกพร้อมกัน

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดอธิบายกลเป็นการฝึกคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ ประถมต้นหัดทำคอปเตอร์กระดาษและสังเกตว่าทำอย่างไรให้หมุนเร็ว ทำอย่างไรให้ลอยในอากาศนานๆ ขนาดมีผลไหม ฯลฯ เด็กประถมปลายทำลูกบอลกระดาษโปร่งๆขนาดต่างๆกันแล้วปล่อยจากที่สูงเท่ากัน พบว่าขนาดไม่มีผล (เพราะแรงต้านอากาศแปรผันตามพื้นที่หน้าตัดซึ่งแปรผันตามมวลในกรณีนี้) อนุบาลสามได้หัดพับและเล่นคอปเตอร์กระดาษกันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ขว้างหลอดกาแฟ (ต่อ) การตกของกรวยกระดาษ (ต่อ) แรงโน้มถ่วงเทียม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนที่เข้าสู้ช่วงสิ่งประดิษฐ์ เด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลเสาแหลมทะลุตัว เด็กๆอธิบายกันได้ใกล้เคียงวิธีทำจริงมากครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ผมสอนเด็กประถมต้นให้ทำคอปเตอร์กระดาษกันเองครับ ให้เขาไปปรับแต่งสัดส่วนและขนาดต่างๆแล้วทดลองว่าแบบไหนหมุนเร็ว แบบไหนหมุนช้า แบบไหนตกเร็ว แบบไหนตกช้า จริงๆสามารถเป็นโปรเจ็กเด็กมหาวิทยาลัยเรื่อง fluid dynamics ได้ครับ

วิธีทำเป็นดังในคลิปครับ:

เด็กๆแยกย้ายกันประดิษฐ์และทดลองครับ:

สำหรับเด็กๆประถมปลาย คราวที่แล้วเด็กๆได้สังเกตโคนกระดาษขนาดใหญ่และเล็กตกสู่พื้นพร้อมๆกัน คราวนี้เราทดลองรูปทรงอื่นๆโดยพับลูกบอลกระดาษและดูลูกบาศก์กระดาษตกผ่านอากาศกันครับ

(ข้อความในวงเล็บคือข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับเด็กมัธยมหรือมหาวิทยาลัยที่เรียนฟิสิกส์นะครับ: ถ้าไม่มีแรงต้านอากาศ ของแถวๆผิวโลกจะตกจากที่สูงระดับเดียวกันถึงพื้นโลกพร้อมๆกันเช่นในตำนานที่กาลิเลโอปล่อยลูกเหล็กใหญ่และเล็กจากหอเอนปิซ่า แรงต้านอากาศน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำหนัก แรงต้านอากาศมีผลน้อยมาก ลูกเหล็กทั้งสองเลยตกถึงพื้นพร้อมกันครับ

สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะแรงทั้งหมดที่กระทำต่อสิ่งของคือแรงโน้มถ่วงซึ่งแปรผันตรงกับมวล ดังนั้นอัตราการเปลี่ยนแปลงความเร็ว (=ความเร่ง) จึงไม่ขึ้นกับมวลของสิ่งของที่ตกด้วยกฏ F = mg = ma ของนิวตัน

ในสถานการณ์ที่แรงต้านอากาศมีผลกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ ถ้าเราสามารถทำให้แรงต้านอากาศแปรผันตรงกับมวลของวัตถุได้ วัตถุเหล่านั้นก็จะตกลงมาถึงพื้นพร้อมๆกันไม่ว่ามันจะใหญ่หรือเล็กตราบใดที่มันมีรูปทรงเดียวกัน (ปกติแรงต้านอากาศไม่แปรผันตรงกับมวลของวัตถุ แต่จะขึ้นกับรูปทรง ความเร็ว และพื้นที่หน้าตัดของวัตถุ)

เราสามารถทำอย่างนั้นได้โดยสร้างรูปทรงจากกระดาษหรือวัสดุบางๆ เพราะถ้ากระดาษมีขนาด L มวลของสิ่งของจะโตตามพื้นที่ซึ่งแปรผันตรงกับ L ยกกำลัง 2 รูปทรงจะมีพื้นที่หน้าตัดตอนตกผ่านอากาศที่แปรผันตรงกับ L ยกกำลัง 2 และแรงต้านอากาศก็จะแปรผันตรงกับ L ยกกำลัง 2 ด้วย ทำให้แรงต้านอากาศแปรผันตรงกับมวล รูปทรงแบบเดียวกันที่ทำจากกระดาษประเภทเดียวกันจึงตกผ่านอากาศเหมือนๆกัน ความเร่งที่เวลาต่างๆเหมือนกัน ความเร็วที่เวลาต่างๆเหมือนกัน มันจึงตกพื้นพร้อมกัน

ในอดีตเราปล่อยกรวยกระดาษ (https://youtu.be/8tuKvSFma-I) คราวนี้เราจะลองลูกบอลกระดาษและลูกบาศก์กระดาษกันดูครับ)

วิธีทำที่สอนเด็กๆอยู่ในคลิปครับ:

เด็กๆแยกย้ายกันประดิษฐ์และทดลองครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามผม ผมและคุณครูช่วยกันตัดกระดาษแล้วสอนให้เด็กๆพับเป็นคอปเตอร์กระดาษเล่นกันครับ:

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอัน, ปล่อยลูกบอลกระดาษผ่านอากาศ

วันนี้สำหรับมัธยมต้นพวกเราคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Contrast Effect, Availability Bias, The It’ll-Get-Worse-Before-It-Gets-Better Fallacy

Contrast effect  คือเราจะเปรียบเทียบสิ่งของต่างๆเทียบกับอย่างอื่นทำให้บางทีตัดสินใจผิด เช่นอาจไม่สนใจซื้อของราคา 100 บาท แต่ถ้ามีป้ายลดว่าราคาเดิม 150 บาท ลดราคาเหลือ 100 เราก็อาจสนใจขึ้น หรือถ้าเราไปเที่ยวกับเพื่อนหน้าตาดีกว่า คนรอบๆอาจจะเห็นเพื่อนของเราหน้าตาดีขึ้นไปอีก (เพราะเทียบกับหน้าตาเรา) หรือเราซื้อของราคาสูงแล้วคนขายเสนอขายของพ่วงที่ราคาต่ำกว่ามาด้วยทำให้เราตัดสินใจซื้อพ่วงไปด้วยทั้งๆที่เราอาจไม่อยากได้ของพ่วงสักเท่าไร

Availability bias คือเรามักจะคิดว่าสิ่งที่เราคิดถึงได้ง่าย จำได้ง่าย เป็นสิ่งที่มีเยอะ (ไปมากกว่าความเป็นจริง) หรือเราจะพิจารณาทางเลือกที่เราเห็นเท่านั้นไม่ค่อยคิดถึงทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ เช่นเราได้ยินข่าวเครื่องบินตกทำให้เราคิดว่าการเดินทางโดยสารการบินไม่ปลอดภัย (ทั้งๆที่ปลอดภัยมาก) หรือเราอ่านข่าวคนถูกรางวัลที่ 1 บ่อยๆ ทำให้เราคิดว่าเราก็น่าจะถูกรางวัลที่ 1 ได้บ้างเหมือนกัน หรือมีคนเสนอข้อเสนอสองสามอย่างมาให้เราตัดสินใจ ทำให้เราเลือกหนึ่งในข้อเสนอนั้นๆทั้งๆที่จริงๆเราอยากได้อย่างอื่นที่ไม่ได้ถูกเสนอมาด้วย

The It’ll-Get-Worse-Before-It-Gets-Better Fallacy คือให้เราระวังคำแนะนำหรือคำทำนายที่คลุมเครือ ตรวจสอบได้ยากว่าถูกต้องหรือผิดพลาด ทำให้เราต้องเสียเวลารอคอยไปเรื่อยๆครับ

ตอนเราคุยกันเรื่อง availability bias ผมเขียนโปรแกรม Python เป็นตัวอย่างให้เด็กๆดูว่าเราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่ามีแบบไหนมากกว่าระหว่างคำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร e หรือคำที่ตัวอักษรตัวที่สามคืออักษร e โดยอ่านรายการคำศัพท์ภาษาอังกฤษแล้วนับแสดงผลให้ดูครับ หน้าตาประมาณนี้ สามารถดูตัวเต็มได้ที่ http://nbviewer.jupyter.org/urls/witpoko.com/wp-content/uploads/2018/11/count-words.ipynb หรือโหลดไปเปิดเองที่ https://witpoko.com/wp-content/uploads/2018/11/count-words.ipynb นะครับ:

ทำไว้เป็น Jupyter Notebook ครับ โหลดได้ที่ https://witpoko.com/wp-content/uploads/2018/11/count-words.ipynb นะครับ
ทำไว้เป็น Jupyter Notebook ครับ โหลดได้ที่ https://witpoko.com/wp-content/uploads/2018/11/count-words.ipynb นะครับ
ตัวฟังก์ชั่นเขียนให้เด็กๆอ่านและเข้าใจง่ายๆตรงไปตรงมาครับ
ตัวฟังก์ชั่นเขียนให้เด็กๆอ่านและเข้าใจง่ายๆตรงไปตรงมาครับ

เด็กๆได้ดูคลิปข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์เรื่องยาน Insight ไปลงดาวอังคารด้วยครับ ผมบอกเด็กๆว่าโหราศาสตร์กับดาราศาสตร์เริ่มจากคนสังเกตจุดดาวในท้องฟ้าหลายพันปีก่อน แต่โหราศาสตร์ไม่พัฒนาเพราะว่าเมื่อทำนายผิดพลาดไม่ได้ค้นหาสาเหตุว่าผิดพลาดอย่างไรและไอเดียหลักตรงกับกฏเกณฑ์ธรรมชาติหรือไม่ มัวแต่แก้ตัวมั่วๆไป เวลาผ่านไป 5,000 ปีก็ยังทำนายอะไรจริงจังไม่ได้ ดาราศาสตร์กลับกันคือมีการตรวจสอบคำทำนายและไอเดียกับธรรมชาติเสมอ ไอเดียไหนผิดก็ทิ้งไป อันไหนถูกก็พัฒนาต่อ ตอนนี้สามารถคำนวณตำแหน่งดาวอังคารและปล่อยจรวดไปจอดได้แล้ว รวมถึงวัดคลื่นโน้มถ่วงจากหลุมดำชนกันได้แล้ว:

เวลาเหลือเราเลยเล่นปล่อยลูกบอลกระดาษขนาดต่างๆกันให้ตกผ่านอากาศลงสู่พื้นครับ ลองดูวิดีโอนะครับ:

ขว้างหลอดกาแฟ (ต่อ) การตกของกรวยกระดาษ (ต่อ) แรงโน้มถ่วงเทียม

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นประดิษฐ์ของเล่นจากหลอดกาแฟโดยพยายามให้ขว้างไปให้ไกลที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงน้ำหนักด้วยเพราะคะแนนจะมาจากระยะทางหารด้วยน้ำหนัก เด็กประถมปลายได้ประดิษฐ์กรวยกระดาษต่อโดยคราวนี้ปล่อยจากที่สูงชั้นสองลงสู่เป้า พยายามประดิษฐ์ให้กรวยตกช้าๆแต่คกลงตรงๆครับ เด็กอนุบาลสามเรียนรู้วิธีประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยขนแก้วน้ำไม่ให้หกด้วยแรงโน้มถ่วงเทียม

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ขว้างหลอดกาแฟ, การตกของกรวยกระดาษ, แรงโน้มถ่วงเทียม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนที่เข้าสู้ช่วงสิ่งประดิษฐ์ เด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลโต๊ะลอยได้ครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เด็กประถมต้นทำกิจกรรมต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่เอาหลอดพลาสติกมาประดิษฐ์ให้ขว้างได้ไกลๆ แต่คราวนี้มีโจทย์เพิ่มเติมคือเราต้องการให้มีน้ำหนักเบาด้วยครับ เราจะเอาระยะทางที่ขว้างได้มาหารด้วยน้ำหนัก ใครได้ระยะทางต่อน้ำหนักสูงสุดก็จะได้คะแนนมากสุดครับ เราไปขว้างบนลานข้างๆห้องเรียน เวลาขว้างต้องตกในแนวที่กำหนดด้วยครับ เราจดผลกันมาได้แบบนี้ครับ:

  มวล (g) ระยะ (cm) ระยะ (cm) ระยะ (cm) ระยะมากสุด (cm) ระยะมากสุด / มวล (cm/g)
ซาช่า 3.3 170 260 260 260                                 79
ต้นน้ำ 3.3 500 780 520 780                               236
อุ่น 1.7 300 310 300 310                               182
ต้นข้าว 2.4 100 150 150 150                                 63
กอหญ้า 1.5 450 500 200 500                               333
ซีน 3.4 450 500 200 500                               147
เจ๋ง 2.1 200 200 520 520                               248
ต้นบุญ 9.2 1030   320 1030                               112
พ่อโก้ 1.7       0                                  –  
เอม 2.4 450 350 450 450                               188
เรเน่ 2.6       0                                  –  
ทิกเกอร์ 3.5 200 200 150 200                                 57
กินเจ 2 200 320 390 390                               195
ขนมผิง 2.8   220   220                                 79
ริว 1.9       0                                  –  

เด็กๆสนุกกับการเล่นและประดิษฐ์ครับ:

เด็กประถมปลายทำกิจกรรมต่อจากสัปดาห์ที่แล้วเหมือนกันครับ คราวนี้เอากรวยกระดาษขนาดต่างๆและความแหลมต่างๆมาปล่อยจากชั้นสอง พยายามให้ตกลงใปที่เป้าที่เป็นตะกร้าที่พื้นชั้นล่างครับ เด็กๆสนุกและเหนื่อยจากการเดินขึ้นลงบันไดครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมสอนให้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขนส่งแก้วน้ำไปที่ต่างๆแบบน้ำหกยากครับ ผมเอาตะกร้าผูกเชือกมาให้เด็กๆดู เอาแก้วใส่น้ำวางลงไป แล้วก็แกว่งตะกร้าไปมา ให้เด็กๆสังเกตผิวน้ำกันครับ

 เด็กๆสังเกตเห็นผิวน้ำอยู่นิ่งๆ ไม่กระเพื่อมหรือกระฉอกไปมา บางคนคิดว่ามันคือเยลลี่ด้วยซ้ำ ต้องเอานิ้วจิ้มดูให้เห็นว่าเป็นน้ำเหลวๆจริงๆ

สำหรับเด็กตัวเล็กๆผมใช้ตะกร้าพลาสติกเล็กๆแทนตะกร้าใหญ่ ให้เขาลองแกว่งกันเองครับ ผมเคยบันทึกวิธีประดิษฐ์ไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

สาเหตุที่น้ำไม่หกลงมาก็เพราะว่าการที่เราแกว่งแก้วไปมาอย่างนั้น ก้นแก้วจะเป็นตัวบังคับไม่ให้น้ำเคลื่อนที่ไปอย่างอิสระออกไปจากวงหมุน (เนื่องจากน้ำมีความเฉื่อย เมื่อมันเคลื่อนที่อย่างไรมันก็จะอยากเคลื่อนที่ไปอย่างเดิมด้วยความเร็วเดิม จนกระทั่งมีแรงมากระทำกับมัน ถ้าไม่มีก้นแก้วมาบังคับ น้ำก็จะกระเด็นไปในแนวเฉียดไปกับวงกลมที่เราแกว่งอยู่) ผลของการที่ก้นแก้วบังคับน้ำให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมก็คือดูเหมือนมีแรงเทียมๆอันหนึ่งดูดน้ำให้ติดกับก้นแก้ว ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแรงโน้มถ่วง เราเลยเรียกมันว่าแรงโน้มถ่วงเทียม 

ต่อไปเราออกไปนอกห้องกัน แล้วผมแกว่งให้แรงขึ้นจนข้ามศีรษะ แต่น้ำก็ยังติดอยู่ในกระป๋องไม่ได้หกลงมา ทำให้เด็กๆตื่นเต้นมากครับ พอทำให้ดูแล้ว เด็กๆก็ลองกันเอง สนุกกันใหญ่: