คอมขยายสมอง (1): ความน่าจะเป็นของสามเหลี่ยม

ผมอยากบันทึกไว้ให้เด็กๆและผู้สนใจดูว่าเราประยุกต์ใช้วิชาการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์กับปัญหาต่างๆอย่างไรบ้าง และทำไมการใช้คอมพิวเตอร์แบบนี้ทำให้เราเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆดีขึ้น หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นโพสต์แรกในหลายๆโพสต์ที่จะตามมาในอนาคตครับ

มีคำถามใน YouTube ว่าถ้ามีเส้นตรงหนึ่งเส้น แล้วแบ่งเป็นสามส่วนแบบสุ่มๆ จะมีโอกาสเท่าไรที่ทั้งสามส่วนจะประกอบกันเป็นสามเหลี่ยมได้พอดี:

วิธีในวิดีโอใช้ทฤษฎีบทของวิเวียนนี (Viviani’s Theorem) ที่บอกว่าสำหรับสามเหลี่ยมด้านเท่าใดๆและจุดใดๆภายในสามเหลี่ยมนั้น ผลรวมของระยะห่างจากจุดไปยังด้านทั้งสามของสามเหลี่ยม จะเท่ากับความสูงของสามเหลี่ยม ทฤษฎีบทนี้แสดงว่าเมื่อแบ่งเส้นตรงเป็นสามส่วน ความน่าจะเป็นที่ทั้งสามส่วนจะประกอบเป็นสามเหลี่ยมพอดีคือ 1/4

แต่ถ้าเราไม่เคยรู้จักทฤษฎีบทของวิเวียนนี(หรือวิธีอื่นๆ) เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรได้บ้าง? วิธีแบบหนึ่งก็คือทำการทดลองตรงๆครับ โดยเราทดลองแบ่งเส้นตรงเป็นสามส่วนแบบสุ่มๆหลายๆครั้งแล้วดูว่าสามารถสร้างเป็นสามเหลี่ยมได้กี่ครั้ง อัตราส่วนครั้งที่เป็นสามเหลี่ยมต่อจำนวนครั้งที่ทดลองทั้งหมดจะเป็นคำตอบโดยประมาณให้เราได้

ถ้าเราทดลองด้วยมือ เราก็จะทดลองได้ไม่กี่ครั้งก่อนที่จะเหนื่อยหรือหมดเวลา แต่ถ้าเราสั่งคอมพิวเตอร์ให้ทำงานแทนเราได้ คอมพิวเตอร์จะทดลองให้เราได้อย่างรวดเร็วและไม่เหน็ดเหนื่อย วิธีตระกูลนี้(ที่ให้คอมพิวเตอร์ทำการทดลองต่างๆแทนเราแล้วเราไปดูคำตอบ)เรียกว่า computer simulation

ยกตัวอย่างฟังก์ชั่นภาษาไพธอนที่ทำการทดลองให้เราอาจมีหน้าตาประมาณนี้ จริงๆตัวโปรแกรมมีไม่กี่บรรทัดแต่มีคอมเม้นท์อธิบายเยอะหน่อยเผื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียนรู้ครับ:

import random

def prob_triangle(ntrials):
    """
    ประมาณความน่าจะเป็นที่เส้นตรงที่ถูกแบ่งเป็นสามส่วนแบบสุ่มๆ
    จะสามารถประกอบเป็นสามเหลี่ยมได้
    
    ทำการทดลอง ntrials ครั้ง
    """
    
    # ntriangles เก็บจำนวนครั้งที่ประกอบเป็นสามเหลี่ยมได้
    ntriangles = 0 
    
    # ทำการทดลองแบ่งเส้นตรงความยาว 1 หน่วยเป็นสามส่วน
    # ทั้งหมดntrials ครั้ง
    
    for n in range(ntrials):
        
        # x, y คือตำแหน่งที่เราสุ่มตัดเส้นตรงสองตำแหน่ง
        # ทำให้แบ่งเส้นตรงเป็นสามส่วน
        # เราจะเรียงตำแหน่งให้ x <= y
        # ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราจะสลับ x และy
        
        x = random.random()
        y = random.random()
        if x > y:
            x, y = y, x
        
        # เมื่อเราสุ่ม x, y มาตัดเส้นตรงได้แล้ว
        # เราจะมีเส้นตรงสามชิ้นยาว x, y-x, และ 1-y
        # เราจะเรียกชิ้นที่ยาวที่สุดว่า longest
        
        longest = max(x, y-x, 1-y)
        
        # ถ้าชิ้นที่ยาวที่สุดมีความยาวไม่เกิน 1/2 ของ
        # ความยาวเส้นตรงดั้งเดิม เราจะสามารถเอา
        # ทั้งสามชิ้นมาประกอบเป็นสามเหลี่ยมได้
        # และเราก็จะเพิ่มจำนวนครั้งที่ประกอบเป็นสามเหลี่ยมสำเร็จ
        
        if longest < 0.5:
            ntriangles += 1
            
         # ประมาณความน่าจะเป็นที่เป็นสามเหลี่ยมสำเร็จ
         # เท่ากับ (จำนวนสามเหลี่ยม)/(จำนวนครั้งที่ทดลอง)
            
    return ntriangles/ntrials

เมื่อเราบอกให้คอมพิวเตอร์ทดลองให้เราหลายๆครั้ง (เช่นในที่นี้คือ 1 แสนครั้ง) เราก็จะได้คำตอบมาประมาณ 1/4 ดังนี้:

ntrials = 100_000
print(f"ทดลองแบ่งเส้นตรงแบบสุ่มๆเป็นสามชิ้นทั้งหมด {ntrials:,} ครั้ง")
print("แล้วดูว่าทั้งสามชิ้นสามารถประกอบเป็นสามเหลี่ยมได้ไหม\n")
print(f"ความน่าจะเป็นที่ได้สามเหลี่ยม = {prob_triangle(ntrials):.2f}")

ผลที่ได้คือ:

ทดลองแบ่งเส้นตรงแบบสุ่มๆเป็นสามชิ้นทั้งหมด 100,000 ครั้ง
แล้วดูว่าทั้งสามชิ้นสามารถประกอบเป็นสามเหลี่ยมได้ไหม

ความน่าจะเป็นที่ได้สามเหลี่ยม = 0.25

วิธีตระกูล computer simulation นี้เป็นวิธีสำคัญที่มนุษยชาติใช้หาคำตอบต่างๆครับ ในหลายๆกรณีมนุษยชาติยังไม่มีความรู้ที่จะหาคำตอบโดยตรงด้วยทฤษฎีต่างๆ ก็หาคำตอบโดยให้คอมพิวเตอร์คำนวณหรือทำการทดลองให้

หวังว่าผู้อ่านจะได้ไอเดียหรือประโยชน์บ้างนะครับ ถ้ามีคำแนะนำหรือข้อสงสัยส่งข้อความอินบ๊อกซ์ไปที่เพจวิทย์พ่อโก้บนเฟซบุ๊คได้ครับ: https://www.facebook.com/witpokosci/

(ตอนต่อไปอยู่ที่ https://witpoko.com/?p=7499 นะครับ)

UFO

ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่อง UFO เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. UFO (ยู-เอฟ-โอ) เป็นคำย่อมาจาก Unidentified Flying Object แปลว่าวัตถุบินที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จริงๆควรจะหมายความถึงอะไรก็ตามที่อยู่ในอากาศและผู้สังเกตยังไม่รู้ว่าคืออะไร (ซึ่งอาจจะเป็นมุมมองแปลกๆของเครื่องบิน โดรน บอลลูน ดาวเทียม เมฆ ดาวศุกร์ ฯลฯ) แต่ความหมายที่ประชาชนส่วนใหญ่คิดถึงคือต้องเป็นยานมนุษย์ต่างดาวแน่ๆ ทำให้เกิดความสับสน
  2. กระทรวงกลาโหมสหรัฐพึ่งปล่อยคลิป UFO ที่ถ่ายโดยกล้องในเครื่องบินรบออกมาสามคลิป กลายเป็นข่าวที่หลายๆสำนักข่าวและผู้คนหลากหลายตีความว่าเป็นหลักฐานมนุษย์ต่างดาว
  3. คลิปเหล่านี้ (เรียกกันว่าชื่อ FLIR, GIMBAL, และ GOFAST) ความจริงหลุดออกมาตั้งแต่ปี 2017 โดยที่สื่อต่างๆเช่นหนังสือพิมพ์และทีวี History Channel ก็ทำข่าวให้ตื่นเต้นให้ตีความว่าน่าจะเป็นยานต่างดาวไปแล้ว แต่ก็มีการวิเคราะห์แล้วว่า FLIR น่าจะเป็นวิดีโอความละเอียดต่ำของเครื่องบิน, GIMBAL เป็นวิดีโอความละเอียดต่ำของเครื่องบินและแสง flare ของกล้อง infrared, และ GOFAST เป็นบอลลูนระดับสูงครึ่งทางระหว่างพื้นน้ำกับเครื่องบินที่ถ่าย ยังไม่มีเหตุผลที่ต้องอธิบายว่าเป็นสิ่งมาจากนอกโลก
  4. การพยายามอธิบายเรื่องที่ไม่รู้ (UFO) ด้วยเรื่องที่เรายิ่งไม่รู้และยิ่งเป็นไปได้ยากเพราะข้อจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ธรรมชาติ (มนุษย์ต่างดาวมาจากดาวอื่นหรือมีการนั่งยานเวลา Time Machine มาให้เราเห็น) ทำให้จินตนาการเตลิดและสนุกสนานไปกันใหญ่ แต่คงไม่น่าตรงกับความจริง เหมือนเราพยายามอธิบายความร้อนในโลกและภูเขาไฟว่าใจกลางโลกมีมังกรไฟยักษ์อาศัยอยู่ การพยายามอธิบายสิ่งที่เรายังไม่รู้ใดๆเราควรจะพยายามอธิบายด้วยความรู้และกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่มนุษยชาติสะสมมาก่อน เมื่อลองทุกอย่างแล้วไม่สำเร็จจึงค่อยหาคำอธิบายที่เป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆมาลอง
  5. พื้นที่ 51 หรือ Area 51 เป็นฐานทัพอากาศลับที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา มีคนเห็น UFO แถวนั้นบ่อยๆมาเป็นเวลาหลายสิบปี หลายๆคนจึงเชื่อทฤษฎีสมคมคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาวแถว Area 51 แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า UFO เหล่านั้นน่าจะเป็นเครื่องบินในโครงการลับหลายๆโครงการ เช่น เครื่องบินจารกรรม U-2, เครื่องบินจารกรรม SR-71, เครื่องบินสเตลธ์ F-117, และเครื่องบินทดลองลับอีกหลายๆแบบที่ยังไม่มีชื่อเปิดเผยเป็นสาธารณะ
  6. การผ่าศพมนุษย์ต่างดาวและยานต่างดาวตกที่ Roswell ก็เป็นทฤษฎีสมคบคิดอีกอันหนึ่ง เพราะเมื่อปี 1947 มีบอลลูนพิเศษที่เป็นความลับทางทหารตกแถวนั้น บอลลูนนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นบอลลูนที่ถูกออกแบบให้ลอยสูงระดับหนึ่งในชั้นบรรยากาศเพื่อฟังเสียงการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์จากทั่วโลก เนื่องจากความหนาแน่นที่ต่างกันในชั้นบรรยากาศทำหน้าที่นำเสียงจากทั่วโลกให้แพร่กระจายไปได้ไกลๆ (Project Mogul) ส่วนคลิปผ่าศพมนุษย์ต่างดาวเป็นคลิปหลอกที่ถ่ายทำไม่สมจริงอย่างยิ่ง
  7. ด้วยจำนวนดาวนับล้านล้านดวง (10^24 ดวง) ผมคิดว่าต้องมีสิ่งมีชีวิตต่างดาวอยู่มากมายแน่ๆเพราะโลกไม่น่าจะเป็นที่เดียวในจักรวาลที่มีสิ่งมีชีวิต แต่ความจริงสำคัญอีกอย่างคือระยะทางระหว่างดาวมันไกลมากๆ แสงซึ่งมีความเร็วประมาณพันล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมงต้องใช้เวลาเดินทางเป็นปีๆ ดังนั้นโอกาสที่สิ่งมีชีวิตต่างดาวจะพบกันตัวเป็นๆก็คงไม่มากนัก (ยกเว้นถ้ามีสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็มีแผนสำรวจอยู่) การที่จะพยายามอธิบาย UFO ด้วยยานอวกาศต่างดาวจึงควรเป็นลำดับท้ายๆหลังจากเรา (และมนุษยชาติ) จนปัญญาแล้วเท่านั้น
  8. ที่ผ่านมา UFO มักจะเป็นสิ่งเหล่านี้: เครื่องบิน, โดรน, บอลลูน, เมฆ, ดาวเทียม, ดาวตก, ดาวศุกร์, แสงสะท้อนและภาพลวงตา, ไฟแฟลร์, สัตว์ปีกและแมลง, และภาพปลอมขึ้นมา

ลิงก์น่าสนใจ:

Pentagon releases UFO videos for the record

That Navy UFO Footage Has an Optical Explanation

The Real Story Behind the Myth of Area 51

Exclusive Area 51 Pictures: Secret Plane Crash Revealed

The Area 51 File: Secret Aircraft and Soviet MiGs

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นจะกำหนดขั้นตอนเมื่อสังเกตเห็น UFO

เว็บไซต์ตรวจสอบปรากฎการณ์ประหลาดๆ Metabunk

การนอน

ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการนอน เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. การนอนมีความสำคัญมากสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะสัตว์ส่วนมากต่างก็นอนกันทั้งนั้น มีการทดลองกับสัตว์พบว่าถ้าบังคับไม่ให้นอนเป็นเวลานานๆสัตว์จะตายได้ ยังไม่มีการทดลองจนถึงตายกับคนแต่พบว่าคนที่อดนอนหลายๆวันจะมีสุขภาพทางกายและทางจิตแย่มาก
  2. จากการวัดคลื่นสมองขณะที่คนหลับ พบว่าสมองมีการทำงานเป็นวงจรหลับตื้น หลับลึก หลับแบบตาเคลื่อนไหว (REM sleep) อย่างนี้ต่อกันไปหลายๆรอบในการหลับแต่ละครั้ง ช่วงหลับลึกน่าจะเป็นช่วงทำความสะอาดสมองด้วยการชะล้าง ซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ สร้างเนื้อเยื่อ กระดูก และระบบภูมิคุ้มกัน สร้างความจำจากประสบการณ์ตอนตื่น ช่วงหลับตาเคลื่อนไหวน่าจะเกี่ยวกับการเรียนรู้เชื่อมโยงประสบการณ์ แก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์
  3. คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันน่าจะนอนน้อยเกินไปอย่างเรื้อรัง เวลานอนปกติของมนุษย์อาจจะเป็นประมาณ 7-8 ชั่วโมงในเวลากลางคืน รวมกับนอนกลางวันช่วงบ่ายอ่อนๆอีก 1/2 – 1 ชั่วโมง
  4. ถ้ามีอาการหลงลืม มึนๆ ไม่มีสมาธิ ง่วง เครียด ป่วยง่าย ไม่มีกำลัง เรียนรู้ช้า ทักษะการเคลื่อนไหวไม่ดี หิวและอยากกินบ่อยๆ อาจเป็นผลมาจากการนอนไม่พอก็ได้
  5. การนอนน้อยหลายๆวันแล้วไปนอนชดเชยวันอื่นๆจะไม่ได้ผลดีเท่าที่เราอยากให้เป็น ควรพยายามนอนให้เพียงพอทุกวันจะดีกว่ามาก
  6. ปรับปรุงการนอนได้โดย นอนและตื่นให้เป็นเวลาทุกวัน พยายามนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกาย (แต่เว้นเวลาไว้อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน) หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลก่อนนอน หลีกเลี่ยงอาหารเย็นปริมาณมากๆ อย่านอนกลางวันนานๆ กันเวลาไว้ประมาณ 15-30 นาทีก่อนนอนเพื่อกิจกรรมผ่อนคลายเช่นอ่านหนังสือ ห้องนอนควรจะมืดไม่ร้อน ไม่เปิดจอต่างๆ (ทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ) ก่อนนอน
  7. ถ้ามีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังควรพบแพทย์ แต่อย่าพึ่งยานอนหลับเป็นระยะเวลานานๆเพราะสมองจะไม่ได้ทำงานที่ควรทำตอนเราหลับ ถ้ามีอาการหยุดหายใจขณะนอน (sleep apnea) ก็หาทางแก้ไขเสีย

ลิงก์น่าสนใจ:

What is the real reason we sleep?

What Are REM and Non-REM Sleep?

หนังสือ Why We Sleep: Unlocking the Power of Sleep and Dreams โดย Matthew Walker

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)