Category Archives: สอนเด็กๆ

วิทย์ม.ต้น: เล่นแบบจำลองความเสียหายจากระเบิด, รู้จักใช้คำสั่ง Goal Seek ในสเปรดชีต

วันนี้เราคุยเรื่องเหล่านี้กันครับ:

  1. เราดูคลิประเบิดต่างๆ รู้จักการทำงานของดินปืนที่เผาไหม้ (deflagration) ที่ความเร็วการเผาไหม้น้อยกว่าความเร็วเสียง เปรียบเทียบกับการระเบิด (detonation) ที่การเผาไหม้เร็วกว่าความเร็วเสียง และคลิปการระเบิดต่างๆ:

2. เข้าใจการทำงานของลูกกระสุนในปืน, ลูกกระสุนมักจะทำจากโลหะที่หนาแน่นและอ่อนเช่นตะกั่ว, ลำกล้องเรียบไม่แม่นยำเท่าลำกล้องเกลียวเพราะกระสุนในลำกล้องเรียบไม่ได้วิ่งออกไปในทิศทางขนานลำกล้องเป๊ะๆ และลำกล้องเกลียวทำให้กระสุนหมุนทำให้รักษาทิศทางดีขึ้น (เหมือนขว้างลูกอเมริกันฟุตบอลให้หมุนจะได้วิ่งไปตรงๆและไกลๆ ตามกฎอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม), หัวกระสุนตะกั่วมักจะหุ้มทองแดงเพื่อไม่ให้ตะกั่วหลุดติดเกลียวลำกล้องทำให้ลำกล้องภายในเล็กลง เพิ่มความดันในลำกล้อง และอาจทำให้กระสุนค้างในลำกล้องหรือลำกล้องแตกได้

ภาพตัดขวางกระสุนแบบต่างๆ ภาพจาก https://www.wired.com/2013/07/incredible-cross-sections-of-real-ammunition/
ลำกล้องเรียบ (smooth bore) และลำกล้องมีเกลียว (rifle) ภาพจาก http://www.abovetopsecret.com/forum/thread743919/pg1

3. ทดลองดูแบบจำลองความเสียหายจากระเบิดนิวเคลียร์ขนาดต่างๆ โดยสามารถเลือกจุดที่ระเบิด ระเบิดบนเป้าหมายที่พื้นหรือเหนือเป้าหมาย (กดดูลิงก์ใต้ภาพดูนะครับ)

ทดลองเล่นได้ที่เว็บ https://outrider.org/nuclear-weapons/interactive/bomb-blast/
อันนี้ระเบิดแถวบ้านผมด้วยระเบิดขนาดที่ลงที่ฮิโรชิมา
ทดลองเล่นได้ที่ https://nuclearsecrecy.com/nukemap/
อันนี้ผมทดลองระเบิดขนาด 1 กิโลตัน (พลังงานพอๆกับระเบิดที่เบรุตเมื่อวันที 4 สิงหา 2020 ) ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

4. เด็กๆได้รู้จักคุณ Tsutomu Yamaguchi ที่รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์สองลูก ทั้งที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ แล้วมีชีวิตยืนยาวจนถึง 93 ปี เสียชีวิตเมื่อปี 2010

5. เด็กๆได้รู้จักคุณ Stanislav Petrov ผู้ตัดสินใจไม่ยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1983 เมื่อได้รับสัญญาณเตือนภัยจากดาวเทียมว่ามีขีปนาวุธ 1 ตามด้วย 5 ลูกยิงมาจากสหรัฐอเมริกา คุณ Petrov ไม่ยิงตอบโต้เพราะคาดว่าสัญญาณเตือนภัยเป็นสัญญาณผิดพลาด ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พวกเราจึงยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ครับ ไม่งั้นคงมีสงครามโลกครั้งที่ 3 และเราอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

6. เด็กๆได้รู้จัก Goal Seek ในสเปรดชีต ที่จะทำหน้าที่ลองเปลี่ยนค่าในเซลล์ของสเปรดชีตไปมา เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ เช่นการบ้านจากสัปดาห์ที่แล้วที่ให้เด็กๆไปทดลองเปลี่ยนอัตราเงินเฟ้อเพื่อหาคำตอบว่าถ้าสินค้าราคาเพิ่มเป็น 2 เท่าในเวลา 1, 2, 3, 6, 10, 36, หรือ 72 ปี อัตราเงินเฟ้อในแต่ละกรณีเท่ากับเท่าไรต่อปี เราสามารถใช้ Goal Seek ให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนเราก็ได้

ตัวอย่างในคลิปข้างล่างนี้คือหาว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละเท่าไรจะทำให้ราคาของเพิ่มเป็นสองเท่าในสิบปี (จริงๆแล้ว(ปัญหาง่ายๆอย่างนี้แก้โดยใช้สูตรยกกำลังตรงๆก็ได้ แต่ Goal Seek ใช้แก้ปัญหาซับซ้อนกว่านี้ได้ เลยให้เด็กๆรู้จักกันไว้)):

ให้เด็กๆได้รู้จัก Goal Seek ในสเปรดชีต ที่จะทำหน้าที่ลองเปลี่ยนค่าในเซลล์ของสเปรดชีตไปมา เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ ตัวอย่างนี้คือหาว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละเท่าไรจะทำให้ราคาของเพิ่มเป็นสองเท่าในสิบปี (ปัญหาง่ายๆอย่างนี้แก้โดยใช้สูตรยกกำลังตรงๆก็ได้ แต่ Goal Seek ใช้แก้ปัญหาซับซ้อนกว่านี้ได้ เลยให้เด็กๆรู้จักกันไว้)

Posted by Pongskorn Saipetch on Friday, August 7, 2020

Goal Seek มีทั้งใน Google Sheets และใน Excel ทดลองเล่นกันดูได้ครับ

ตัวอย่างสเปรดชีตที่เราเล่นกันในชั้นเรียนก็มีอันนี้ที่ใช้ Goal Seek หาอัตราเงินเฟ้อ และอันนี้ใช้ Goal Seek หาว่าต้องขายของกี่ชิ้นถึงจะถึงจุดคุ้มทุน

วิทย์ประถม: สมดุล, คานทุ่นแรง, สะกดจิตไก่

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นได้เรียนรู้เรื่องการทรงตัว และหัดเล่นกลตั้งกระป๋องเอียงๆ ประถมปลายได้เรียนรู้เรื่องการสะกดจิตไก่และเครื่องทุ่นแรงประเภทคานครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเสกวิญญาณออกมาจากพิรามิดครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เราคุยกันเรื่องจุดศูนย์ถ่วงกันต่อจากคราวที่แล้ว (วิทย์ประถม: เรียนรู้เรื่องสมดุลและจุดศูนย์ถ่วง) สำหรับเด็กประถมต้นผมอธิบายให้ฟังว่าเมื่อเรายืนอยู่ เท้าของเราจะอยู่ใต้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย

เราทำการทดลองโดยไปยืนให้ส้นเท้าและหลังติดกับผนัง แล้วพยายามก้มลงเก็บของที่พื้นโดยไม่งอเข่า เราจะล้มเมื่อพยายามทำอย่างนั้น เพราะเมื่อเราก้มโดยที่เราไม่สามารถขยับน้ำหนักไปข้างหลัง (เพราะหลังติดกำแพงอยู่) จุดศูนย์ถ่วงของเราจะล้ำไปข้างหน้า อยู่ข้างหน้าเท้าของเรา แล้วตัวเราก็จะเริ่มเสียสมดุลย์แล้วล้มในที่สุด:

ถ้าเราสังเกตเวลาเราก้มตัวเก็บของ เราจะมีบางส่วนของร่างกายอยู่แนวหลังเท้าและบางส่วนอยู่แนวหน้าเท้าเสมอ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะล้มเนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงอยู่นอกบริเวณรับน้ำหนักที่เท้าครับ

จากนั้นผมก็เล่นกลตั้งกระป๋องให้เด็กๆดู:

วิธีทำก็คือใส่น้ำเข้าไปในกระป๋องบ้าง ประมาณ 1/8 กระป๋อง  แล้วจับกระป๋องเอียงให้ก้นที่ตัดเฉียงๆของมันทาบกับพื้น น้ำจะเป็นตัวถ่วงให้มันตั้งอยู่ได้ครับ พอเฉลยเสร็จผมก็ใส่น้ำเข้าไปทีละนิดให้เด็กๆเห็นว่าถ้าใส่น้ำน้อยไปกระป๋องก็ล้ม ถ้าใส่มากไปกระป๋องก็ล้ม ต้องใส่น้ำอยู่ประมาณพอดีๆแล้วจะตั้งกระป๋องได้

เด็กๆแยกย้ายหัดเล่นกันครับ:

สำหรับเด็กประถมปลาย เนื่องจากเด็กๆมีโปรเจ็กเลี้ยงไก่ ผมจึงให้ดูวิธีสะกดจิตไก่ตามคลิปสองอันนี้ บอกว่าเด็กๆควรไปทดลองทำดู:

จากนั้นผมให้เด็กๆรู้จักเครื่องทุ่นแรงที่เรียกว่าคานกันครับ ตอนแรกผมให้เด็กๆพยายามช่วยกันยกให้ตัวผมสูงขึ้นจากพื้น:

เด็กๆพบว่าขยับตัวผมได้ยากมากๆ แต่พอเอาท่อเหล็กมาทำเป็นคานงัด เด็กแต่ละคนก็สามารถยกให้ตัวผมสูงขึ้นมาจากพื้นได้

ผมเอารูปคานทั้งสามแบบให้เด็กๆดู:

จากนั้นผมให้เด็กๆผลัดกันขึ้นมาทดลองเปรียบเทียบแรงที่จับคานประเภท 1 ให้สังเกตว่าถ้าจะจับให้คานทรงตัวอยู่บนจุดหมุน จะต้องออกแรงด้านที่ใกล้จุดหมุนมากกว่าด้านที่ไกล ให้เด็กๆจำความรู้สึกนี้เอาไว้:

วิทย์ม.ต้น: หัดเป็นนักสืบโคนันจากวิดีโอระเบิดในเบรุต, เปรียบเทียบระเบิดนิวเคลียร์, ทดลองทำให้กระป๋องสมดุล

วันนี้เราคุยเรื่องเหล่านี้กันครับ

  1. เราดูคลิปวิดีโอการระเบิดที่เบรุตเมื่อคืนนี้:

2. เราดูวิดีโอแล้วดูว่าเสียงระเบิดถึงเราหลังจากเห็นแสงไฟระเบิดประมาณ 4 วินาที ดังนั้นเราคาดว่าระเบิดอยู่ห่างจากกล้องประมาณ (4 วินาที)x(ความเร็วเสียง) เนื่องจากเสียงเดินทางได้ประมาณ 1 กิโลเมตรใน 3 วินาที ระยะทางจากระเบิดถึงกล้องควรจะประมาณกิโลเมตรเศษๆ เช่น 1.3 กิโลเมตร

3. เราสงสัยว่าตึกที่เกิดเหตุมีขนาดใหญ่แค่ไหน นักเรียนคนหนึ่งบอกว่าเราดู Google Maps กันดีไหม เราจึงกดเข้าไปดูกัน ได้ขนาดตึกยาว 150 เมตร (จริงๆหน้าตามันเหมือนไซโลทรงกระบอกหลายๆอันอยู่ด้วยกัน)

ขนาดตึกยาว 150 เมตรโดยการวัดจากภาพถ่ายดาวเทียมบน Google Maps

3. เราเอาวิดีโอมาดูทีละเฟรม แต่ละเฟรมห่างกัน 1/30 วินาที พบว่าตอนเริ่มระเบิด ลูกไฟระเบิดขยายตัว 75 เมตรใน 1/30 วินาที หรือเท่ากับ 2,250 เมตรต่อวินาที ความเร็วอันนี้ควรจะอยู่ระดับเดียวกับ detonation velocity ของสารที่ระเบิด (แต่จะน้อยกว่า detonation velocity)

4. เราหาดูว่าสารระเบิดแบบไหนมี detonation velocity ประมาณ 2,000-3,000 เมตรต่อวินาทีในตารางนี้ดูกัน พบว่า Ammonium Nitrate (2,700 m/s) หรือ Tenerit Simply (2,750 m/s) ใกล้เคียงที่สุด ถ้าเป็นระเบิดประเภทอื่นๆเช่น TNT ลูกไฟจะขยายตัวเร็วกว่านั้น

ภาพสองเฟรมต่อกัน เวลาห่างกัน 1/30 วินาที รัศมีการระเบิดเพิ่มประมาณ 75 เมตร

5. รัฐบาลเลบานอนบอกว่าการระเบิดเกิดจาก Ammonium Nitrate กว่า 2,700 ตันที่เก็บไว้แถวท่าเรือ ดังนั้นข้อมูลจากวิดีโอไม่ได้ขัดแย้งข้อมูลจากรัฐบาลว่าสารระเบิดคือสารอะไร

6. เราพยายามหาตำแหน่งกล้องบน Google Maps ด้วยว่าน่าจะอยู่แถวไหนตอนระเบิด พบว่าห่างไปประมาณ 1.25 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับการประมาณข้อ 2 ด้านบน

7. ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่า “ควัน” ขาวๆกลมๆรอบๆระเบิดนั้นคือเมฆ เป็นไอน้ำในอากาศที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆเหมือนในเมฆเพราะคลื่นช็อค (shock wave) จากแรงระเบิดวิ่งผ่าน

เมฆขาวๆรอบๆระเบิด เกิดจากไอน้ำที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำเมื่อคลื่นช็อควิ่งผ่าน

8. ถ้าเราหาวิดีโอที่มีของที่เรารู้จักว่ากระเด็นอย่างไร และอยู่ห่างจากระเบิดเท่าไร เราจะสามารถประมาณพลังงานของระเบิดได้ว่าระเบิดมีกี่ตัน วิธีนี้นักฟิสิกส์ชื่อ Enrico Fermi (คนเดียวกับที่ถาม Fermi Paradox เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว) เคยใช้ประมาณพลังงานระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกมาแล้ว

9. ถ้าเราใช้สมมุติฐานที่ว่าระเบิดคือ Ammonium Nitrate 2,700 ตัน เราสามารถเทียบพลังงานกับ TNT ว่าเป็น 0.42 x 2,700 ตัน = 1,134 ตัน TNT หรือประมาณ 1 กิโลตัน TNT
(ตัวเลข 0.42 คือ Relative Effectiveness สำหรับเทียบสารระเบิด Ammonium Nitrate กับ TNT)

10. พลังงานระเบิดครั้งนี้เท่ากับประมาณ 1/15 ของพลังงานระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ระเบิดเหนือเมืองฮิโรชิมาในสงครามโลกครั้งที่สอง (หรือเท่ากับ 1/20 ของลูกที่ลงเมืองนางาซากิ) ถ้าเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ปัจจุบัน ระเบิดครั้งนี้ปล่อยพลังงานประมาณ 1/100 – 1/10,000 เท่าของระเบิดนิวเคลียร์ปัจจุบัน

11. เด็กๆได้ดูคลิปประมาณว่าถ้าเอาระเบิดนิวเคลียร์ทุกลูกมาระเบิดจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์:

12. เด็กๆทำกิจกรรมหาปริมาณน้ำที่ทำให้กระป๋องอลูมิเนียมตั้งอยู่เอียงๆได้ ให้หัดให้เคยชินกับการทดลองหาความรู้ใหม่ๆด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก วิธีทำดังในคลิปครับ:

บรรยากาศการทดลองวันนี้ครับ:

เด็กๆทำกิจกรรมหาปริมาณน้ำที่ทำให้กระป๋องอลูมิเนียมตั้งอยู่เอียงๆได้ ให้หัดให้เคยชินกับการทดลองหาความรู้ใหม่ๆด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก วิธีทำดังในคลิปครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, August 4, 2020