Category Archives: science class

วิทย์ประถม: แม่แรงหลอดฉีดยา, วิทย์อนุบาล: คอปเตอร์กระดาษ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมและอนุบาลสามมาครับ เด็กประถมหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล และได้รู้จักแม่แรงที่ทำจากหลอดฉีดยาสองขนาด เด็กอนุบาลหัดทำคอปเตอร์กระดาษ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมประถมอยู่ที่นี่ กิจกรรมอนุบาลสามอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลสั้นๆสองอันนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือเสกดอกไม้ออกมาจากถาด และเสกวิทยุให้หายไปครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

สำหรับเด็กประถม ผมอธิบายเรื่องแม่แรงไฮดรอลิคซึ่งเป็นเรื่องเครื่องทุ่นแรงแบบหนึ่งที่อาศัยความจริงของธรรมชาติที่ว่าของเหลวนั้นจะมีขนาดค่อนข้างคงที่เมื่อเราพยายามบีบอัดมัน (ไม่เหมือนกับก๊าซที่เราสามารถบีบอัดให้มีขนาดเล็กลงมากๆได้) ถ้าเราเอากระบอกลูกสูบ (หรือหลอดเข็มฉีดยาพลาสติก) ที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดต่างกันมาสองอัน แล้วใส่น้ำเข้าไปในหลอดหนึ่งหลอดแล้วต่อสายยาง(ที่ใส่น้ำไว้เต็มแล้ว)ระหว่างหลอดทั้งสอง แล้วเรากดหลอดที่มีหน้าตัดเล็กกว่าด้วยแรงขนาดหนึ่ง หลอดที่มีหน้าตัดใหญ่กว่าจะสามารถยกของที่หนักกว่าแรงที่เราที่เรากดได้ ถ้าหลอดใหญ่มีขนาดหน้าตัดใหญ่เป็น A เท่าของหน้าตัดหลอดเล็ก แรงที่เรากดที่หลอดเล็กก็จะถูกขยายเป็น A เท่าที่หลอดใหญ่ด้วย หลักการนี้ถูกนำไปสร้างแม่แรงยกรถ เครื่องเจาะถนน ตัวจับเบรกรถและเบรกรถจักรยาน ฯลฯ (ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ด้วยแล้วในอดีตที่ https://witpoko.com/?p=3502 ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างไปบ้างครับ)

วิดีโอวิธีทำครับ:

จากนั้นเด็กๆก็ทดลองเล่นกันครับ:

ผมเคยบันทึกกิจกรรมนี้ไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร. โก้ด้วยครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมไปสอนวิธีทำของเล่นคอปเตอร์กระดาษครับ วิธีเหมือนในคลิปนี้นะครับ:

ผมเคยอัดคลิปวิธีทำไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีก็แยกย้ายกันประดิษฐ์และเล่นคอปเตอร์กระดาษกันครับ:

วิทย์ม.ต้น: ล็อตเตอรี่, พิธีกรรม(และความงมงาย)ในคนและนกพิราบ, คำนวณและทดลองแม่แรงไฮดรอลิกส์หลอดฉีดยา

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ

1. เมื่อวานล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ออกเลข 999997 ทำให้คนพูดคุยตื่นเต้นกันว่าเลขมันดูสวยผิดปกติ บางคนคิดไปถึงว่ามีการล็อคเลข วันนี้เราเลยคุยกันว่าเราตื่นเต้นเพราะเราเห็นว่าเลขมันดู “สวย” มากกว่า แต่จริงๆแล้วเลขหกหลักแต่ละตัวก็ออกมายากเท่าๆกัน เพียงแต่ว่าเลขอื่นเราคิดว่ามันไม่ “สวย” เท่านั้นเอง

2. มีลิงก์สองอันแนะนำให้เด็กๆไปอ่านดูครับ:

อะไรคือตัวเลข “สุ่ม”? ลองนึกตัวเลขโดยสุ่มขึ้นมาหกหลัก มีใครบ้างที่คิดว่าตัวเลขนั้นจะออก 999997? คงจะไม่มี…

Posted by มติพล ตั้งมติธรรม on Tuesday, September 1, 2020

และที่นี่:

“มีโอกาสเท่าไรที่รางวัลที่ 1 จะออกเลข 999997” . น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจใครหลาย ๆ คนในวันนี้ . ประการแรก…

Posted by คณิตศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น on Tuesday, September 1, 2020

3. ให้เด็กๆเข้าใจว่าโอกาสหนึ่งในล้านที่จะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 มันยากแค่ไหนโดยให้เด็กๆเข้าใจว่าถ้าเอาแบ็งค์ร้อยหนึ่งล้านใบไปปูสนามฟุตบอลได้พอดีๆ จะมีใบเดียวเท่านั้นที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง อีกอย่างคือให้เคาะโต๊ะวินาทีละครั้ง ถ้าจะเคาะให้ครบล้านครั้งแบบไม่หลับไม่นอนไม่หยุดพักจะต้องเคาะไป 11 วันกว่าๆ (ถ้าเคาะแค่ 8 ชั่วโมงต่อวันก็ต้องเคาะไปเดือนนิดๆ)

4. ล็อตเตอรี่ประเทศไทยจ่ายรางวัลคืนมาประมาณ 60% เท่านั้น แสดงว่าเราไม่ควรหวังว่าเราจะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่เราซื้อล็อตเตอรี่ ไม่ควรหวังรวยจากการนี้ แต่ถ้าซื้อเพราะมีความสุขได้ลุ้นก็ถือว่าเป็นการจ่ายเงินซื้อความสุขไป แต่อย่าลืมตัวคาดว่าจะรวยเพราะซื้อล็อตเตอรี่

5. เราคิดว่าการรวยจากล็อตเตอรี่ง่ายหรือเกิดบ่อยกว่าที่เป็นจริงๆเพราะว่าเราจะได้ยินข่าวคนที่ถูกรางวัลแล้วรวยเท่านั้น เราจะไม่ค่อยคิดถึงคนหลายแสนคนแต่ละงวดที่ไม่ถูกรางวัล

6. เราคุยกันเรื่องพิธีกรรมและความงมงายเกิดขึ้นได้อย่างไร สรุปคือสมองเราพยายามเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ หลายๆครั้งจะทำงานผิดพลาด เชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันหรือที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเข้าด้วยกันได้ เช่นถ้าสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเมื่อเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งสิ่งนั้นๆ เช่นใส่เสื้อตัวหนึ่ง เราก็อาจคิดว่าเสื้อตัวนั้นเป็นเสื้อโชคดีของเรา หรือเราไหว้บูชาอะไรบางอย่างแล้วมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นเราก็อาจคิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธ์ดลบันดาลให้เรา

7. ความสามารถของสมองในการเชื่อมโยงเรื่องต่างๆนี้มีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ การพยายามหารูปแบบเชื่อมโยงมีประโยชน์ในการเรียนรู้ต่างๆ แต่ถ้าทำมากไปและไม่ตรวจสอบก็อาจเกิดโทษได้

8. มีการทดลองเรื่องพิธีกรรมในนกพิราบเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์มีเครื่องให้อาหารนก โดยเครื่องจะให้อาหารที่เวลาสุ่มๆ ไม่แน่นอน ถ้าอาหารออกมาตอนนกทำพฤติกรรมอะไรบางอย่างอยู่ นกตัวนั้นก็มักจะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ซึ่งมันอาจจะคิดว่านำอาหารมาให้มันก็ได้เหมือนเป็นพิธีกรรมหรือความงมงายของมัน (พฤติกรรมที่นกทำมีหลายแบบในแต่ละตัวเช่นหมุนตัวในทิศทางต่างๆ จิกสิ่งต่างๆ ยกหัวขึ้นลง) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่หรือที่นี่นะครับ

9. วันนี้เด็กๆรู้จักและเล่นเครื่องทุ่นแรงไฮดรอลิกส์ทำจากหลอดฉีดยาครับ วิธีทำและบรรยากาศการทดลองอยู่ในคลิปและอัลบั้มด้านล่างครับ:

วันนี้เด็กๆม.ต้นได้รู้จักและเล่นเครื่องทุ่นแรงไฮดรอลิกส์ทำจากหลอดฉีดยาครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, September 1, 2020

10. แนะนำให้เด็กๆดูคลิปเครื่องอัดไฮดรอลิกส์บีบอัดของต่างๆครับ:

วิทย์ม.ต้น: Google-Fu, หัดออกเสียงภาษาอังกฤษ, Microsoft Math Solver, เล่นกับแรงตึงผิว

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ได้รู้จักวิธีค้นหาด้วย Google ที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (มีคนเรียกกันเล่นๆว่า Google-Fu เลียนแบบ Kung-Fu หรือกังฟู) ได้รู้จักเครื่องหมายลบ, เครื่องหมายคำพูด, ตัวเชื่อม (AND และ OR), ค้นหาเฉพาะเว็บ (site:), ค้นหาเฉพาะประเภทไฟล์ (filetype:)

2. ดูตัวอย่างจากที่ภาพเหล่านี้ที่เป็นภาษาไทย:

สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้กูเกิ้ลหาแบบนี้นะครับ ลองดูครับ มีประโยชน์ หรือลองเข้าไปที่นี่ก็ได้ครับ: https://www.google.com/advanced_search via Coco Tan

Posted by Pongskorn Saipetch on Sunday, November 1, 2015

3. ถ้าจำวิธีใช้ต่างๆไม่ได้ให้เข้าไปที่หน้า Google Advanced Search แล้วกรอกฟอร์มค้นหาได้

4. ตัวอย่างเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่ The Beginner’s Guide to Google-Fu? 10 tricks to be a Google-Fu Blackbelt, Improving Your Google-Fu: How To Find Anything You Want, และ dorking (how to find anything on the Internet)

5. รู้จักใช้ https://images.google.com ค้นหาด้วยภาพ เช็คว่าภาพซ้ำหรือมีข่าวปลอมเอาภาพจากที่อื่นมาใช้หรือเปล่า

6. หัดใช้แอพ Google บนโทรศัพท์หัดออกเสียงคำภาษาอังกฤษ:

[ตัวช่วยสอนเด็กออกเสียงภาษาอังกฤษ] ถ้าเราถาม Google บนโทรศัพท์ว่าคำภาษาอังกฤษออกเสียงอย่างไร จะมีปุ่ม Practice…

Posted by Pongskorn Saipetch on Thursday, April 9, 2020

7. ใช้เว็บอ่านออกเสียงให้เราฟังที่ https://ttsdemo.com

8. รู้จักใช้แอพ Microsoft Math Solver ที่มีให้โหลดสำหรับโทรศัพท์ (iOS และ Android) และแบบใช้บนเว็บทั้งแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทย สามารถแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ต่างๆและอธิบายขั้นตอนการแก้ได้ด้วย

แบบโทรศัพท์สามารถถ่ายรูปโจทย์เราแล้วแก้ปัญหาให้ได้ด้วย

9. เด็กๆเล่นลอยคลิปหนีบกระดาษโลหะบนผิวน้ำกัน เล่นกับแรงตึงผิวของน้ำ

ปกติถ้าเราเอาคลิปหนีบกระดาษไปใส่น้ำ มันจะจม แต่ถ้าเราค่อยๆระวังตอนวางให้มันค่อยๆกดผิดน้ำลงไปเบาๆทั่วๆกัน ผิวน้ำจะแข็งแรงพอที่จะยกคลิปให้ลอยอยู่ได้ ผิวของน้ำมีความตึงผิวทำให้มันคล้ายๆฟิล์มบางๆที่รับน้ำหนักได้บ้าง (ปกติเด็กๆก็เห็นแมลงเช่นจิงโจ้น้ำวิ่งบนผิวน้ำอยู่แล้ว เด็กๆจึงเข้าใจเรื่องผิวน้ำรับน้ำหนักของได้เป็นปกติ)

สำหรับวิธีลอยคลิปหนีบกระดาษง่ายๆก็มีอยู่สองวิธี วิธีแรกคือฉีกกระดาษทิชชูให้ขนาดใหญ่กว่าคลิปนิดหน่อย รองคลิปไว้ แล้วค่อยๆลอยทั้งคลิปและกระดาษทิชชูที่รองอยู่ลงบนผิวน้ำ รอสักพักทิชชูก็จะอิ่มน้ำแล้วจมลงไป เหลือแต่คลิปหนีบกระดาษลอยอยู่

เอากระดาษทิชชูรองคลิปแล้วเอาไปลอยครับ
สักพักกระดาษทิชชูจะจม เหลือแต่คลิปลอยอยู่

อีกวิธีหนึ่งก็คือเสียสละคลิปหนีบกระดาษหนึ่งตัว เอามางอให้เป็นรูปตัว L เอามือเราจับด้านบนของตัว L แล้วใช้ด้านล่างของตัว L รองคลิปหนีบกระดาษอีกตัวไว้แล้วก็ค่อยๆเอาคลิปไปวางที่ผิวน้ำ พอวางได้ เราก็ค่อยขยับตัว L ออกเหลือแต่คลิปลอยอยู่

ใช้คลิปที่เรางอเป็นรูปตัว L ขนย้ายคลิปอื่นๆมาวางไว้บนผิวน้ำครับ
พอคลิปลอยน้ำได้ เราก็เอาคลิปตัว L หนีออกไป

แล้วเด็กๆก็หัดทำลอยคลิปกันเองครับ จะเห็นน้ำยุบตัวลงไปชัดเจนเลย