Tag Archives: แรงตึงผิว

คุยกับเด็กเรื่องโมเลกุลน้ำ แรงตึงผิว สบู่และน้ำยาล้างจาน featuring ซูเปอร์คอนดัคเตอร์

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ทำไอศครีม ดูลูกบอลกระเด้ง เล่นเรือป๊อกแป๊ก ปล่อยลูกแก้วใส่เป้า” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เราทำการทดลองเกี่ยวกับแรงตึงผิวครับ โดยเด็กๆได้เข้าใจว่าแรงตึงผิวเกิดจากการดูดกันของโมเลกุลน้ำ สารเคมีบางชนิดเช่นสบู่หรือน้ำยาล้างจานจะเข้าไปจับโมเลกุลของน้ำทำให้โมเลกุลน้ำดูดกันไม่ได้ ทำให้แรงตึงผิวลดลง เราได้ทดลองลอยคลิปหนีบกระดาษบนผิวน้ำ และหยดสีบนผิวนมให้เกิดลวดลายสวยๆเมื่อหยดน้ำสบู่ลงไป เด็กประถมได้ดูวิดีโอสเปรย์เคลือบกันน้ำและน้ำมัน นอกจากนั้นเด็กประถมปลายได้ดูวิดีโอซูเปอร์คอนดัคเตอร์ด้วย (เรื่องมันมาถึงนี่ได้เพราะเด็กๆถามว่าโมเลกุลหยุดสั่นได้ไหมถ้าเย็นมากๆ)

ผมเล่าให้ฟังก่อนว่าน้ำและสารต่างๆจะมีส่วนประกอบต่างๆกัน เจ้าส่วนประกอบเล็กๆที่เป็นสารต่างๆจะเรียกว่าโมเลกุลของสารนั้นๆ เช่นน้ำประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำ แต่ละโมเลกุลของน้ำก็ประกอบด้วยออกซิเจนหนึ่งอะตอมรวมอยู่กับไฮโดรเจนสองอะตอม เราเลยเรียก H2O (เอชทูโอ) ว่าคือน้ำ หน้าตาโมเลกุลของน้ำก็คล้ายๆมิกกี้เมาส์ที่หูเล็กๆสองข้างคืออะตอมไฮโดรเจน โมเลกุลของน้ำเล็กมาก เล็กขนาดที่ว่าในน้ำหนึ่งแก้วมีโมเลกุลน้ำมากกว่าล้านล้านล้านล้านโมเลกุล (มากกว่า 1,000,000,000,000,000,000,000,000 โมเลกุล)

ภาพจำลองโมเลกุลน้ำห้าอันอยู่ใกล้ๆกันและดูดกันจากแรงทางไฟฟ้า สีแดงคืออะตอมออกซิเจน สีขาวคืออะตอมไฮโดรเจน

Continue reading คุยกับเด็กเรื่องโมเลกุลน้ำ แรงตึงผิว สบู่และน้ำยาล้างจาน featuring ซูเปอร์คอนดัคเตอร์

เรียนรู้เรื่องแรงลอยตัวด้วยของเล่นนักดำน้ำ และเล่นกับแรงตึงผิว

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “Spectroscope ทำมือ และเล่นไม้สั่น/หมุน” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนเฟิร์น และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องแรงลอยตัวสำหรับเด็กประถม และเล่นกับแรงตึงผิวสำหรับเด็กอนุบาลครับ

สำหรับเด็กประถม ก่อนจะเข้าเรื่อง ผมให้ดูวิดีโออันนี้ครับ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 1:27 นาที แล้วให้เขาทายกันว่ามันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร (ถ้าดูตั้งแต่เริ่มต้นจะมีคำอธิบายเลยครับ เลยเริ่มดูตอนกลางๆ):

เด็กๆป.1-2 เดาว่ามีแม่เหล็กแต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมมันไม่ดูดติดกันเลย เด็กๆป.3-5 มีบางคนบอกว่ามันต้องมีแม่เหล็กสองแบบคือแบบตรงกลางจะดูดกับแม่เหล็กข้างนอก และแบบเล็กๆรอบๆในวงแหวนสีดำจะผลักแม่เหล็กข้างนอก ผมจึงบอกว่าใช่แล้ว แม่เหล็กตรงกลางจะดูดให้แม่เหล็กข้างนอกเข้ามาใกล้ๆ แต่พอใกล้ถึงระยะน้อยๆแรงผลักจากแม่เหล็กเล็กๆในวงแหวนสีดำก็จะมากพอที่จะกันไม่ให้เข้ามาใกล้กว่านั้น

สำหรับเด็กป.3-5 ผมให้ดูรูปเครื่องยิงระเบิดรูปนี้ด้วย โดยให้สังเกตบริเวณศูนย์ที่ใช้เล็ง:

เวลาเล็งก็คือมองผ่านศูนย์หลังในช่องที่ความสูงเหมาะสม ให้ทาบกับศูนย์หน้าและเป้า ช่องที่ศูนย์หลังแต่ละช่องถูกปรับมาสำหรับระยะทางต่างๆ พอทาบกันแล้วตัวลำกล้องก็จะอยู่ในแนวที่ทำมุมกับพื้นราบ ทำให้ลูกระเบิดที่ออกไปวิ่งขึ้นไปสูง แล้วค่อยโค้งตกลงมาสู่พื้นอีกครั้ง คล้ายๆกับในเกม Angry Birds แต่ต่างจากในเกมตรงที่ในโลกมีอากาศ เมื่อลูกระเบิดวิ่งออกไปก็จะถูกแรงต้านอากาศทำให้วิ่งช้าลง ทำให้วิถีตอนตกลงมามีระดับความชันมากกว่าตอนวิ่งขึ้นไป ผมเสริมอีกด้วยว่าคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคำนวณวิถีกระสุนปืนใหญ่ว่ายิงที่มุมแบบนี้ ความเร็วแบบนี้ จะไปตกลงที่ไหน โดยรวมผลจากแรงต้านอากาศและอื่นๆเข้าไปด้วย (เด็กๆเข้าใจการเล็งจากการยิงปืนของเล่นพวก Nerf มาบ้างแล้ว) Continue reading เรียนรู้เรื่องแรงลอยตัวด้วยของเล่นนักดำน้ำ และเล่นกับแรงตึงผิว

ทำการทดลองเรื่องแรงตึงผิวกัน

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “ทดลองความยืดหยุ่น เล่นของเล่นแบบ Angry Birds และเล่นแป้งข้าวโพด” ครับ)

เมื่อวานนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิ วันนี้เรื่องแรงตึงผิวครับ เราทำการทดลองกันสองสามอย่าง

ผมเริ่มด้วยกลจุกคอร์กลอยน้ำครับ เอาแก้วน้ำมาสองใบ เติมน้ำให้เต็ม แล้วเอาจุกคอร์กเล็กๆไปลอยในแก้วทั้งสอง ปรากฏว่าจุกคอร์กจะลอยกลางๆแก้วใบหนึ่งแต่จะลอยริมๆแก้วอีกใบ แม้ว่าเราจะไปเขี่ยๆให้จุกคอร์กลอยไปที่อื่น แต่ในแก้วใบหนึ่งจุกคอร์กจะลอยไปตรงกลางเสมอ ขณะที่อีกใบหนึ่งจุกคอร์กจะลอยไปริมๆแก้วเสมอ

ลอยแบบนี้ครับ แก้วหนึ่งจะลอยริมๆ อีกแก้วจะลอยกลางๆ    

ผมเคยถ่ายวิดีโอเรื่องนี้แล้วไว้ไปใน YouTube ฝรั่งเข้ามาด่ากันมากมายเพราะฟังไม่รู้เรื่องครับ (ทั้งๆที่ผมก็ใส่คำอธิบายภาษาอังกฤษไว้ใต้วิดีโอแล้วครับ 🙂 )

Continue reading ทำการทดลองเรื่องแรงตึงผิวกัน