Category Archives: science

วิทย์ประถม: อากาศร้อน-อากาศเย็น, บี้กระป๋องด้วยความดันอากาศ

วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล แล้วผมก็ทำการทดลองต่างๆให้เด็กๆดูว่าอากาศจะขยายตัวเมื่อร้อนขึ้น จะหดตัวเมื่อเย็นลง และใช้ความดันอากาศบี้กระป๋องอลูมิเนียมโดยการต้มน้ำให้เป็นไอน้ำแล้วทำให้ไอน้ำควบแน่นเป็นหยดน้ำครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ โดยดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย อันนี้เรื่องคนหายไปหลังไพ่ยักษ์:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

จากนั้นผมเอาแก้วน้ำมาใส่น้ำร้อนลงไปเล็กน้อย แล้วเอาฟิล์มพลาสติกถนอมอาหาร​ (plastic wrap) มาปิดปากแก้วไม่ให้อากาศไหลผ่านได้ เด็กๆสังเกตว่าถ้ารอสักพักแผ่นพลาสติกจะบุ๋มเว้าเข้าไป

พลาสติกเว้าเข้าไปเพราะอากาศในขวดเย็นลง จึงหดตัวมีปริมาตรลดลง ถ้าเด็กๆมาเขย่าๆแก้วให้อากาศโดนน้ำร้อนก้นแก้วมากขึ้น อากาศจะร้อนขึ้นแล้วขยายตัว ดันให้พลาสติกโป่งออกมาได้ครับ

ในทางกลับกัน ถ้าเราใส่น้ำเย็นใส่น้ำแข็งเข้าไปในแก้วแล้วปิดด้วยพลาสติก รอสักพักแผ่นพลาสติกจะโป่งออก เพราะอากาศเหนือน้ำเย็นอุ่นมากขึ้นและขยายตัว และถ้าเขย่าๆให้อากาศโดนน้ำเย็นอีกมันก็จะหดตัวทำให้พลาสติกเว้าเข้าไป

ผมเคยทำกิจกรรมตระกูลนี้ที่ ความดันอากาศและสุญญากาศ ครับ เชิญอ่านเพิ่มเติมได้

การทดลองต่อไปคือต้มน้ำเล็กน้อยในกระป๋องอลูมิเนียม เมื่อน้ำเดือดแล้วก็คว่ำไปในน้ำอุณหภูมิห้องครับ:

กระป๋องจะบี้แบนเหมือนโดนเหยียบ ผมพยายามถามนำให้เขาตอบไปทีละขั้นๆ เมื่อต้มน้ำจนเดือดจะเกิดอะไรขึ้น น้ำเหลวๆเปลี่ยนเป็นไอน้ำใช่ไหม ไอน้ำอยู่ที่ไหน อยู่ในกระป๋องใช่ไหม เมื่อคว่ำกระป๋องลงไปในกาละมังใส่น้ำ อุณหภูมิของไอน้ำในกระป๋องจะเป็นอย่างไร มันจะเย็นลง ไอน้ำเมื่อเย็นลงมันจะเป็นอะไร ควบแน่นเป็นหยดน้ำใช่ไหม อยู่ๆไอน้ำเต็มกระป๋องกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆ จะเกิดอะไรขึ้น เกิดสุญญากาศไม่มีความดันสู้กับอากาศภายนอก อากาศภายนอกจึงบีบกระป๋องแบนหมดเลย (มื่อต้มน้ำในกระป๋องเปิดจนน้ำเดือด ภายในกระป๋องจะเต็มไปด้วยไอน้ำร้อนๆ เมื่อเอากระป๋องไปคว่ำในน้ำ ไอน้ำจะเย็นลงและควบแน่นเป็นหยดน้ำ ทำให้ปริมาตรลดลงอย่างมาก ความดันภายในกระป๋องลดลงเกือบเป็นสุญญากาศทำให้อากาศภายนอกบีบกระป๋องให้แบนอย่างรวดเร็ว)

เมื่อเสร็จการทดลอง ผมปิดเตาไฟแล้วถอดกระป๋องแก๊สหุงต้มออกมาให้เด็กๆจับ มันเย็นมากครับ เย็นเพราะเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวในกระป๋องขยายตัวออกมาเป็นก๊าซครับ

วิทย์ม.ต้น: Spurious Correlation และน้ำเดือดในสุญญากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กมัธยมต้นปฐมธรรมครับ เราคุยกันเรื่อง Spurious Correlation ที่เราอาจจะสังเกตปรากฏการณ์ A และ B เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นลดลงด้วยกัน แล้วอาจจะสรุปว่ามันมีความเกี่ยวข้องกัน คือคิดว่า A เป็นสาเหตุของ B หรือ B เป็นสาเหตุของ A แต่จริงๆแล้วเราต้องระมัดระวังเพราะสิ่งที่เราเห็นอาจจะเกิดจากความบังเอิญก็ได้ หรือทั้ง A และ B เป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆที่ควบคุมทั้ง A และ B

แนะนำให้เด็กๆดูลิงก์เหล่านี้ประกอบ:

https://www.investopedia.com/terms/s/spurious_correlation.asp

https://tylervigen.com/spurious-correlations

ได้คุยกันว่าทำไมเราถึงรู้ว่าบุหรี่ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง คือมีหลักฐานว่าสารเคมีในบุหรี่มีผลอย่างไรกับการกลายพันธุ์ของเซลล์

เด็กๆได้ดูคลิปโทรศัพท์มือถือว่าไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็ง:

จากนั้นเด็กๆได้ทดลองทำน้ำให้เดือดที่อุณหภูมิต่ำๆ (ไม่ถึง 100 องศาเซลเซียส) โดยการสร้างสุญญากาศเหนือน้ำด้วยครับ ปกติน้ำจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสถ้าเราต้มน้ำแถวๆผิวโลก แต่ถ้าเราอยู่ในที่ความดันอากาศต่ำๆ น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิน้อยกว่า 100 องศา เช่นบนดอยอินทนนท์น้ำเดือดที่ประมาณ 90 องศากว่าๆ แถวยอดเขาเอเวอเรสต์น้ำเดือดประมาณ70 องศา ถ้าความดันต่ำใกล้ๆสุญญากาศ น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 มาก ในการทดลองนี้เราสร้างความดันต่ำในหลอดฉีดยาแล้วสังเกตน้ำในหลอดฉีดยาเดือดกลายเป็นไอกันครับ เคยอัดวิดีโอไว้ที่ลิงก์เหล่านี้ครับ:

หลักการเดียวกันนี้อธิบายหม้อความดันที่ใช้ตุ๋นของให้เปื่อย (ความดันสูง ทำให้น้ำเดือดที่อุณหภูมิสูง) และวิธีถนอมอาหารด้วยวิธี freeze dry (สุญญากาศทำให้น้ำในอาหารระเหยไปจนแห้งด้วยอุณหภูมิต่ำๆก็ได้) ด้วยครับ

อัลบัมภาพและวิดีโอจากกิจกรรมคราวนี้อยู่ที่นี่ครับ:

วิทย์ม.ต้น: ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าสถิตหรือ Corona Motor

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. ก่อนเวลาเรียนเราเปิดคลิปเรี่องการพยายามวัดอัตราการขยายตัวของจักรวาล มีวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้หลักๆอยู่สองวิธี แต่ได้ตัวเลขไม่ตรงกัน แสดงว่ามีความเข้าใจผิดอะไรบางอย่างอยู่ เป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าใจอะไรได้ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น:

2. ผมเล่าให้นักเรียนฟังว่ามนุษยชาติมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เข้าใจ และประยุกต์กฎเกณฑ์ต่างๆในธรรมชาติ ถ้าเราไม่ทำอะไรผิดพลาดแล้วสูญพันธุ์ไปเสียก่อน คนในอนาคตน่าจะหาทางแก้ปัญหายากๆเช่นการป่วยการตาย หรือการเดินทางไปดาวต่างๆได้ และสิ่งดีๆต่างๆยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอีกมากมาย ขอให้เด็กๆพยายามคิดว่าอนาคตจะดีขึ้นอย่างไรแล้วพยายามทำให้มันเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ

3. เราประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าสถิตหรือ corona motor กัน วิธีทำเป็นดังในคลิปนี้ครับ:

วิธีทำคือเอาถ้วยพลาสติกติดแถบฟอยล์อลูมิเนียมหลายๆแถบที่ไม่เชื่อมต่อกันไปวางให้สมดุลบนปลายดินสอ แล้วเอาเข็มหมุดแหลมต่อกับแหล่งไฟฟ้าแรงดันสูง (หลายพันหรือหมื่นโวลท์) ไปวางข้างๆถ้วยพลาสติก แรงดันไฟฟ้าที่มากพอจะทำให้อากาศระหว่างฟอยล์อลูมิเนียมและปลายเข็มนำไฟฟ้าได้ มีการถ่ายเทประจุจากปลายเข็มไปที่ฟอยล์ ประจุที่เหมือนกันจึงผลักกัน ทำให้แก้วหมุน เมื่อฟอยล์หมุนไปใกล้ๆปลายเข็มอีกขั้ว ฟอยล์ก็จะถ่ายเทประจุที่รับมาให้ขั้วนั้นไปทำให้ตัวฟอยล์เป็นกลางใหม่ เป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้วยพลาสติกจึงหมุนไปได้เรื่อยๆ

เด็กๆทำของตัวเอง หลายๆอันหมุนได้ดีกว่าที่ผมทำอีกครับ:

กิจกรรมวิทย์ม.ต้นวันนี้เราประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าสถิตหรือโคโรนามอเตอร์กันครับ มอเตอร์ไฟฟ้าสถิตหรือโคโรนามอเตอร์ใช้แรงผลักร…

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, March 16, 2021