ขวดปริศนา ถ้วยกระโดด พันมอเตอร์ คอปเตอร์กระดาษ

วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กมาครับ เด็กประถมต้นได้สังเกตและพยายามอธีบายว่าทำไมเวลาเราเอาก้อนกระดาษทิชชูเล็กๆวางไว้ปากขวดแล้วเป่า กระดาษถึงไม่เข้าไปในขวด หลังจากเด็กอธิบายได้แล้ว ก็ได้สังเกตถ้วยซ้อนกันที่กระเด้งออกมาเมื่อเราเป่าด้านข้างและพยายามอธิบายอีก นอกจากนี้ก็ได้ดูคลิปสถานีอวกาศวิ่งผ่านหน้าสุริยุปราคาด้วยครับ เด็กประถมปลายหัดพันมอเตอร์ด้วยลวดอลูมิเนียมใหญ่ขึ้นมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว คราวนี้ทุกคนทำสำเร็จครับ เด็กๆอนุบาลสามได้หัดทำและเล่นของเล่นคอปเตอร์กระดาษครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “คุยกันเรื่องปลาติดกำแพง ลวดตัดโฟม หัดพันมอเตอร์ เล่นไจโร” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้นผมเอาขวดมาหนึ่งขวด เอากระดาษทิชชู่มาปั้นเป็นก้อนกลมๆเล็กกว่าปากขวด ถือขวดในแนวนอนแล้วเอาก้อนกระดาษไปวางที่ปากขวด ผมให้เด็กๆเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมเป่าลมเข้าไปในปากขวด 

เด็กๆเดากันใหญ่ครับ ส่วนใหญ่จะบอกว่ากระดาษต้องหลุดเข้าไปในขวดแน่เลย ผมเลยเป่าแล้วเราก็เห็นว่ากระดาษกระเด็นออกมาจากปากขวดแทนที่จะหลุดเข้าไปในขวด

เป่าขวดหน้าตาอย่างนี้ครับ
เป่าขวดหน้าตาอย่างนี้ครับ

ผมถามเด็กๆว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เด็กๆเสนอไอเดียกันหลายอย่าง มีการเสนอว่าเพราะขวดมามีคอยาวๆ เพราะก้นขวดมีรอยบุ๋มเลยดันอากาศออกมา ข้างในขวดมืดๆมีกลอะไรบางอย่างอยู่  ลมเข้าไปในขวดแล้วหนีไปไหนไม่ได้เลยวิ่งกลับออกมา 

เด็กๆเข้ามาตรวจสภาพขวดดูว่ามีอะไรแปลกหรือไม่ครับ
เด็กๆเข้ามาตรวจสภาพขวดดูว่ามีอะไรแปลกหรือไม่ครับ
เด็กๆเข้ามาตรวจสภาพขวดดูว่ามีอะไรแปลกหรือไม่ครับ
ตรวจสภาพขวดครับ

ผมถามเด็กๆว่าแล้วเราจะตรวจสอบสิ่งที่เราเดายังไงดีล่ะ เด็กๆบอกว่าลองปั้นกระดาษให้ใหญ่ๆไม่ให้ลมเข้าไปได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น พอลองทำก็พบว่ากระดาษไม่ขยับ เด็กๆบอกว่าหาขวดคอสั้นๆหรือไม่มีก้นบุ๋มๆมาลองดูไหม ผมจึงเอาขวดพลาสติกใสคอสั้น ก้นแบน มาทดลองให้เด็กๆดู ก็พบว่ากระดาษชิ้นเล็กๆนั้นกระเด็นออกมาเหมือนขวดคอยาวก้นบุ๋มครับ

ลองขวดแบบอื่นดูครับ ปรากฎว่ากระดาษก็กระเด็นออกมาเหมือนกัน
ลองขวดแบบอื่นดูครับ ปรากฎว่ากระดาษก็กระเด็นออกมาเหมือนกัน

เด็กดูๆแล้วสรุปว่าน่าจะเป็นเพราะลมจากการเป่าวิ่งเข้าไปในขวด แล้วไหลย้อนออกมาผลักกระดาษครับ จากนั้นเด็กๆก็ลองเป่ากันครับ:

ผมทำการทดลองอีกอันให้เด็กๆดูครับ เอาถ้วยสองใบมาซ้อนกันโดยที่ถ้วยไม่ได้ซ้อนกันจนสนิทแน่น แค่ซ้อนกันหลวมๆ แล้วเป่าด้านข้างของถ้วยแรงๆ ปรากฎว่าถ้วยอันข้างบนกระเด้งออกมาครับ ผมถามเด็กๆว่าเป็นไปได้อย่างไร เด็กๆคิดๆแล้วก็บอกว่าน่าจะเป็นเรื่องคล้ายๆเป่าขวดที่พึ่งเล่นไป คือลมเข้าไปแล้วผลักถ้วยออกมา ผมให้เด็กๆกลับไปวาดรูปว่ากระแสลมวิ่งแบบไหนถึงผลักถ้วยออกมาได้ครับ ผมเป่าเสร็จแล้วก็ให้เด็กๆลองเป่าดูกันบ้าง:

ผมมีเรื่องทั้งสองอยู่ในคลิปเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ:

เล่นกันเสร็จแล้ว เวลายังเหลืออีกหน่อย ผมเลยให้เด็กๆดูคลิปสถานีอวกาศนานาชาติวิ่งผ่านหน้าดวงอาทิตย์ตอนเกิดสุริยุปราคาสัปดาห์ที่แล้วครับ:

สำหรับเด็กประถมต้น ผมให้ทดลองพันมอเตอร์กันใหม่ สัปดาห์ที่แล้วเราลองทำด้วยลวดทองแดงขนาดเล็ก พันและทำให้สมดุลย์ยาก เด็กๆเลยทำไม่ค่อยสำเร็จ สัปดาห์นี้เราใช้ลวดอลูมิเนียมใหญ่ขึ้นทำให้ดัดและทำให้สมดุลย์ง่ายขึ้น รวมทั้งผมเพิ่มแรงดันไฟให้เป็น 3-5 โวลท์ด้วยครับ วิธีทำก็แบบในคลิปนี้ครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีทำก็แยกย้ายกันไปทำกันเองครับ

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง ผมสอนวิธีทำคอปเตอร์กระดาษ จะได้ไปหัดทำเล่นเองครับ เราเริ่มด้วยกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้าครับ ตัวอย่างขนาดแบบหมุนช้าๆก็เช่นเอากระดาษ A4 มาตัดตามขวาง 8 ชิ้นเท่าๆกันแล้วเอามาใช้ชิ้นหนึ่ง (ขนาดประมาณ 21 ซ.ม. x 3.7 ซ.ม.) ถ้าจะให้หมุนเร็วๆก็ขนาดเล็กลง เช่น 2 ซ.ม. x 5 ซ.ม. แล้วตัดดังในรูปต่อไปนี้ครับ:

ถ้าทำอันใหญ่ๆหรือตัดจากกระดาษแข็ง อาจต้องถ่วงน้ำหนักด้วยคลิปหนีบกระดาษให้มันตกลงตรงๆด้วยครับ

เด็กๆเห็นแล้วบอกว่าเหมือนลูกยางซึ่งเป็นผลของไม้ยางครับ มีปีกสองอันทำให้ลูกยางหมุนๆเวลาตกลงมาจะได้ลอยออกจากต้นไปได้ไกลขึ้นครับ

เปรียบเทียบคอปเตอร์กระดาษกับลูกยางครับ
เปรียบเทียบคอปเตอร์กระดาษกับลูกยางครับ

ผมเคยอัดคลิปวิธีทำไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ:

จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันเล่นครับ:

One thought on “ขวดปริศนา ถ้วยกระโดด พันมอเตอร์ คอปเตอร์กระดาษ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.