กระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก มอเตอร์อีกแบบ เล่นตะเกียบลม

ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูปรากฎการณ์ที่ว่าที่ใดมีกระแสไฟฟ้าไหล ที่นั่นจะมีสนามแม่เหล็ก  เด็กประถมต้นได้พยายามเดาความเกี่ยวข้องของกระแสไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก เด็กประถมปลายได้ประดิษฐ์โฮโมโพลาร์มอเตอร์อีกแบบที่ใช้ถ่านไฟฉาย แม่เหล็ก และลวดทองแดง เด็กอนุบาลสามได้เล่นของเล่นตะเกียบลมครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “แม่เหล็กขยับใกล้ๆขดลวด = กระแสไฟฟ้า เล่นตะเกียบลม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้นผมให้สังเกตการขยับของฟอยล์อลูมิเนียมใกล้ๆแม่เหล็กเมื่อมีไฟฟ้าวิ่งผ่านครับ

ผมตัดฟอยล์อลูมิเนียมเป็นเส้นยาวๆ เอาแม่เหล็กๆมาอยู่ใกล้ๆ มันก็ไม่ดูดกัน จากนั้นผมก็ปล่อยไฟฟ้าผ่านเส้นฟอยล์อลูมิเนียมใกล้ๆแม่เหล็ก ปรากฎว่าฟอยล์ขยับตัวครับ จึงถามเด็กๆว่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้น มีเด็กบอกว่าอลูมิเนียมกลายเป็นเหล็ก ผมจึงหยุดปล่อยไฟฟ้าแล้วเอาแม่เหล็กไปอยู่ใกล้ๆอลูมิเนียมซึ่งมันก็ไม่ดูดกัน แสดงว่ามันไม่ได้กลายเป็นเหล็ก เราสังเกตว่าเส้นอลูมิเนียมมันขยับตัวเมื่อมีไฟฟ้าผ่านมัน และถ้าสลับขั้วไฟฟ้ามันก็ขยับต่างจากเดิมด้วย นอกจากนี้ถ้าเราวางแม่เหล็กให้มันขยับง่ายๆ แม่เหล็กเองก็ขยับตัวด้วยในบางครั้ง หลังจากเล่นไปสักพักผมก็เฉลยให้เด็กๆรู้จักปรากฎการณ์ที่เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตรงไหน แถวๆนั้นก็จะทำตัวเหมือนเป็นแม่เหล็ก แล้วผมก็หยิบตะปูเกลียวที่พันสายไฟไว้ต่อกับถ่านไฟฉายกลายเป็นแม่เหล็กไฟฟ้าดูดตะปูอื่นๆให้เด็กๆดูด้วยครับ

 ผมให้เด็กๆมาทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่ฟอยล์อลูมิเนียมเอง ให้เขาสังเกตการเคลื่อนไหวเมื่อเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กหรือขั้วไฟฟ้าด้วยครับ
 
 
ผมให้เด็กๆเห็นว่าเมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านตัวนำ จะเกิดความร้อน ถ้าร้อนมากก็สามารถละลายโลหะได้ (เป็นฟิวส์จำกัดปริมาณไฟฟ้าแบบหนึ่ง) เช่นในคลิปนี้ครับ:

ถ้าเราเรียงสายไฟดีๆแล้วส่งไฟฟ้าเข้าไป สายไฟก็จะผลักหรือดูดกับแม่เหล็ก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเหมือนมอเตอร์ที่เราเล่นกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และวันนี้เราจะได้ทดลองประกอบมอเตอร์ที่เรียกว่าโฮโมโพล่าร์มอเตอร์ (Homopolar Motor) อีกแบบกัน  ผมอธิบายวิธีประกอบดังในคลิปครับ:

 เด็กประถมต้นได้หัดประกอบมอเตอร์กันเองครับ

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง ผมสอนให้เล่นตะเกียบลมที่ใช้หลักการที่ว่าเมื่อลมวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกบอล กระแสลมจะโอบล้อมลูกบอลและดึงให้ลูกบอลอยู่ในกระแสลมนั้น ทำให้เราสามารถเลี้ยงลูกปิงปองด้วยเครื่องเป่าผมหรือลูกบอลชายหาดด้วยเครื่องเป่าใบไม้ได้ สามารถเอียงกระแสลมไปมาให้ลูกบอลลอยตามก็ได้ครับ

วิธีเล่นผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีเล่น ก็แบ่งเข้าแถวเล่นแบบต่างๆครับ:

One thought on “กระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก มอเตอร์อีกแบบ เล่นตะเกียบลม”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.