ห้ามดับไฟน้ำมันด้วยน้ำ โค้ก vs. ลาวา “ลูกโป่งจับปีศาจ” พัดลมน้ำระเหย

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ สำหรับบันทึกการสอนต่างๆในอดีตเข้าไปดูที่ http://atriumtech.com/sci_kids/ นะครับ

(คราวที่แล้วเรื่อง “การระเหยทำให้เย็นและกลไฟฟ้าสถิต” ครับ)

วันอังคารที่ผ่านมานี้ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เด็กประถมได้ดูวิดีโอว่าทำไมเราไม่ควรใช้น้ำดับไฟที่ลุกบนน้ำมัน เด็กประถมต้นได้เดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อลาวาไหลทับกระป๋องน้ำอัดลม และได้เล่น(และเดาหลักการทำงาน)ของเล่น “ลูกโป่งจับปีศาจ” ที่ส่งเสียงโหยหวนเมื่อเขย่า เด็กประถมปลายได้ทดลองพัดลมน้ำระเหยแบบต่างๆที่ใช้วัสดุเปียกหลายๆแบบไว้ข้างหน้าหรือข้างหลังใบพัดแล้ววัดอุณหภูมิและเปรียบเทียบแรงลม เด็กอนุบาลสามได้เล่นของเล่นลูกข่างไจโรและลูกโป่งจับปีศาจครับ

ก่อนอื่นผมถามเด็กประถมว่าเวลาทำอาหารในกระทะ มีน้ำมันและไฟลุกขึ้นมา จะดับไฟอย่างไร เด็กๆหลายๆคนบอกว่าใช้น้ำราด ผมจึงบอกว่าห้ามทำอย่างนั้นเด็ดขาด แล้วให้เด็กๆดูวิดีโอนี้ครับ:

จะเห็นว่าเมื่อเทน้ำลงไปในน้ำมันที่ติดไฟอยู่ จะมีลูกไฟขนาดใหญ่เกิดขึ้น ผมถามเด็กๆว่าใครทราบบ้างว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เด็กๆเดากันไปต่างๆนาๆ ผมถามนำว่าเวลาเทน้ำกับน้ำมันใส่ถ้วยเดียวกันมันจะผสมกันไหม เด็กบอกว่าไม่ ผมถามต่อว่าแล้วมันแยกกันอย่างไร เด็กๆบอกว่าน้ำมันจะลอยอยู่เหนือน้ำ ผมจึงถามว่าดังนั้นเวลาเราเทน้ำลงไปในกระทะที่มีน้ำมันน้ำจะไปที่ไหน เด็กตอบว่าลงไปใต้น้ำมัน ผมถามต่อว่าแล้วใต้น้ำมันคืออะไร เด็กๆตอบว่าเจอกระทะ ผมถามว่าแล้วน้ำเจอกระทะร้อนๆและน้ำมันร้อนๆจะเป็นยังไง เด็กๆบอกว่าร้อนและเป็นไอใช่ไหม ผมจึงบอกว่าใช่แล้ว น้ำกลายเป็นไอดันให้น้ำมันกระเด็นออกมาจากกระทะ เป็นเม็ดละอองเล็กๆ มันเลยติดไฟง่าย กลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ถ้ามีของติดไฟได้เช่นไม้ กระดาษ พลาสติกอยู่แถวนั้น ก็จะเกิดไฟไหม้ได้ วิธีดับไฟบนน้ำมันที่ถูกคือต้องป้องกันไม่ให้ออกซิเจนเข้าไป ให้ปิดเตาแล้วใช้ผ้าผืนใหญ่ที่คลุมกระทะหรือหม้อได้มิด ชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วคลุมปิดไปเลยเช่นวิดีโอนี้ครับ:

 ถ้าไม่มีผ้า แต่มีฝาโลหะปิดหม้อหรือกระทะก็ใช้ฝาครอบได้ครับ มันจะกันไม่ให้ออกซิเจนรอบๆเข้าไปช่วยให้ไฟลุกต่อได้

สำหรับเด็กประถมต้น ผมให้ดูวิดีโออันนี้ต่อ แต่ก่อนจะดู ผมให้เด็กๆเดาว่าเมื่อกระป๋องน้ำอัดลมโดนลาวาไหลทับ จะเกิดอะไรขึ้น เด็กๆคิดว่าอาจจะระเบิด อาจจะไฟลุก อาจจะละลาย พอเด็กหัดเดากันแล้ว ผมก็ให้ดูว่าผลการทดลองมันเป็นอย่างไร:

ปรากฎว่ากระป๋องจะรั่วและมีน้ำไหลออกมา ผมจึงถามเด็กๆว่าทำไมน้ำมันถึงไหลออกมาได้ เด็กบางคนเดาว่ามันร้อน เดือดเลยเป็นไอดันน้ำพุ่งออกมา ซึ่งน่าจะเป็นอย่างนั้นครับ

ต่อไปเด็กประถมต้นได้เห็นของเล่น “ลูกโป่งจับปีศาจ” ที่จะส่งเสียงโหยหวนเมื่อเราแกว่งๆหรือเขย่ามัน ผมถามว่าใครคิดว่ามีวิญญาณในลูกโป่งบ้าง ก็เป็นที่น่ายินดีที่ไม่มีเด็กคนไหนว่าอย่างนั้น ผมจึงให้เด็กๆเดาว่าแล้วมันส่งเสียงได้อย่างไร หลายๆคนบอกว่าผมใส่อะไรเข้าไปแน่ๆเลย หลายๆคนสังเกตเห็นอะไรเล็กๆวิ่งอยู่ข้างในลูกโป่งเวลาผมแกว่ง ผมเลยให้เด็กๆทดลองแกว่งและเล่นดู เด็กๆเห็นในที่สุดว่าผมใส่น็อตหกเหลี่ยมเล็กๆเข้าไปในลูกโป่ง ผมให้เด็กๆเปรียบเทียบเสียงจากลูกโป่งแบบเดียวกันที่เป่าให้ใหญ่กว่าและเล็กกว่าว่าต่างกันอย่างไร เด็กๆก็เปรียบเทียบได้ครับว่าเสียงจากลูกโป่งใหญ่เป็นเสียงสูงกว่า

เด็กๆเขย่าลูกโป่งใส่น็อตกันครับ
เด็กๆเขย่าลูกโป่งใส่น็อตกันครับ
หัวน็อตหกเหลี่ยมที่ใส่ไปในลูกโป่งครับ
หัวน็อตหกเหลี่ยมที่ใส่ไปในลูกโป่งครับ

ผมถามให้เด็กคิดว่าทำไมมันถึงมีเสียงต่างกันอย่างนั้น เด็กๆบางคนเดาว่ามันน่าจะเกิดจากความตึงหรือความบางของผิวลูกโป่งครับ ผมเลยให้การบ้านให้ไปคิดหรือทดลองมาว่าถ้าใส่ลูกแก้วหรือเหรียญเข้าเข้าไปในลูกโป่ง จะเกิดอะไรขึ้น สัปดาห์หน้ามาดูกันครับ

สำหรับเด็กประถมปลาย เด็กๆได้ดูวิดีโอเทน้ำลงไปในน้ำมันติดไฟและรู้วิธีดับไฟด้วยการตัดออกซิเจนครับ จากนั้นเด็กๆก็ช่วยกันลองวัสดุชุบน้ำต่างๆไปวางข้างหน้าหรือข้างหลังพัดลม แล้ววัดอุณหภูมิและเปรียบเทียบความแรงของลมกันครับ ว่าพัดลมแบบนี้ข่วยให้เย็นขึ้นแค่ไหน และฝากให้คิดว่าถ้าเราจะประดิษฐ์ขึ้นมาใช้จริงๆเราควรออกแบบอะไรอย่างไรครับ

สำหรับเด็กๆอนุบาลสาม ผมให้เล่นลูกข่างไจโรครับ มันคือลูกข่างที่หมุนอยู่ในกรอบที่เราจับยกไปมาได้ครับ เด็กๆได้เห็นว่าเวลาลูกข่างหมุนมันจะทรงตัวได้ แต่เวลาไม่หมุนมันจะล้ม หลักการก็คือธรรมชาติที่ว่าสิ่งที่กำลังหมุนอยู่ มันจะหมุนเหมือนเดิมไปเรื่อยๆทั้งความเร็วในการหมุนและทิศทางของแกนหมุนครับ ถ้าจะเปลี่ยนการหมุน ก็ต้องมีแรงอะไรบางอย่างมาบิดมันให้เปลี่ยนแปลง เด็กๆได้เลี้ยงลูกข่างบนโต๊ะ ได้เอาลูกข่างหมุนๆใส่กล่องแล้วเห็นกล่องตั้งอยู่ได้ ได้เอาลูกข่างหมุนๆวางบนเส้นเชือก และเอาเส้นเชือกคล้องลูกข่างให้ลอยอยู๋ในอากาศครับ

 นอกจากนี้ผมยังเอา”ลูกโป่งจับปีศาจ” มาหลอกเด็กด้วยครับ เด็กๆบางคนสงสัยว่าหรือมันมีปีศาจจริงๆ บางคนบอกว่าไม่น่ามีปีศาจหรอก พอผมเขย่าลูกโป่งให้มีเสียงสักพักผมก็เฉลยว่าจริงๆไม่มีปีศาจหรอก เป็นแค่น็อตเล็กๆในลูกโป่งที่กลิ้งและเสียดสียางจนมีเสียงเท่านั้น

เอา "ลูกโป่งจับปีศาจ" เล่นกับเด็กครับ เอา "ลูกโป่งจับปีศาจ" เล่นกับเด็กครับ เอา "ลูกโป่งจับปีศาจ" เล่นกับเด็กครับต่อไปนี้คือบรรยากาศและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กๆครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่นะครับ

One thought on “ห้ามดับไฟน้ำมันด้วยน้ำ โค้ก vs. ลาวา “ลูกโป่งจับปีศาจ” พัดลมน้ำระเหย”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.